หลักสูตรความยั่งยืนกำลังเติบโตที่ฮาร์วาร์ด

ปัจจุบันเราจะเห็นประเด็นสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนกำลังทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของโลกที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ เช่น การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีความรุนแรงและสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในลักษณะหลากหลาย เป็นต้น มหาวิทยาลัยในฐานะองค์กรแห่งความรู้และองค์กรวิจัยและเป็นผู้ชี้ทิศนำทางสังคมจึงเริ่มมีการปรับตัวจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมมากขึ้น

การจัดการศึกษาของฮาร์วาร์ดสะท้อนความเป็นจริงดังกล่าวนี้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้จากข้อมูลของ  ฮาร์วาร์ดระบุ ปัจจุบันมีนักศึกษาที่ฮาร์วาร์ดรับเข้าเรียน มากกว่า 350 คน และผู้ที่เข้าอบรมในหลักสูตรสำหรับบุคคลทั่วไป ประมาณ 1,800 คน ที่กำลังศึกษาในหลักสูตรความยั่งยืน (Sustainability Program) ของวิทยาลัยศึกษาต่อเนื่องของฮาร์วาร์ด อันเป็นวิทยาลัยสำหรับนักศึกษาที่เป็นผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18-89 ปี โดยจำนวนนักศึกษาในหลักสูตรดังกล่าวนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่าตลอดช่วงเวลามากกว่า 10 ปีที่ผ่านมา อันสะท้อนให้เห็นถึงความสนใจของนักศึกษาที่เพิ่มขึ้นในหลักสูตรดังกล่าว[1]

ปัจจุบันวิทยาลัยศึกษาต่อเนื่องของฮาร์วาร์ด ได้เปิดสอนหลักสูตรปริญญาโททางด้านความยั่งยืน เพื่อให้นักศึกษาเกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งถึงปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่ออากาศ น้ำ ภูมิอากาศ และระบบนิเวศ รวมถึงเรียนรู้เกี่ยวกับการประเมิน การออกแบบ เทคโนโลยี และระบบ ที่นำสู่ทางออกอย่างยั่งยืนสู่ชุมชนและองค์กร เช่น การพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบาย เทคโนโลยี และรูปแบบทางการเงิน ที่สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน การเรียนรู้ที่จะออกแบบทางออกอย่างยั่งยืนในการลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและการเพิ่มผลดีสู่สังคมและระบบนิเวศ การสร้างสมรรถนะในความหลากหลายของชุดทักษะเชิงปริมาณและเชิงการวิเคราะห์ เป็นต้น

การจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัย ควรมีความสมดุลระหว่างวิชาการระยะยาวและการสนองความต้องการของตลาดและสังคมระยะสั้น[2] ด้วยว่ามหาวิทยาลัยจำเป็นต้องปรับตัวตามบริบทของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัตและจัดการศึกษาให้สอดคล้องเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ความน่าสนใจของหลักสูตรปริญญาโททางด้านความยั่งยืนดังกล่าวนี้คือ เป็นโอกาสให้นักศึกษาที่มีความแตกต่างหลากหลายทางพื้นภูมิหลังจากทั่วโลกมาร่วมเรียนรู้แลกเปลี่ยนกัน อันเป็นการช่วยเปิดโลกทัศน์มุมมองในประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมของนักศึกษาให้มีความกว้างขวาง ลงลึก และรอบด้าน มากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับความคิดของผมที่เคยนำเสนอเอาไว้ในหนังสือ สยามอารยะแมนนิเฟสโต : แถลงการณ์สยามอารยะ[3] เกี่ยวกับ “อารยโลกทัศน์” ว่า เราควรมองแผ่นดินนี้ มองผืนน้ำ มองอากาศ มองสัตว์ มองพืช ด้วยทัศนะต่อโลกในแบบที่เรียกว่า “อารักขาโลก” โดยการมองโลกแบบผู้อารักขาดังกล่าวนี้มีองค์ประกอบ 3 ประการคือ การใช้ประโยชน์จากโลก (Utilizing the world) การสงวนรักษาโลก (Preserving the world) และการพัฒนาโลก (Technologising the world) ทำให้โลกดีขึ้นกว่าเดิม จึงต้องเป็นการพัฒนาแบบยั่งยืน  เพื่อให้โลกและสิ่งต่าง ๆ ในโลกสามารถอยู่รอดได้ในระยะยาวครับ

 

 

รายการอ้างอิง

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. สยามอารยะ แมนนิเฟสโต : แถลงการณ์สยามอารยะ. กรุงเทพฯ: ซัคเซส มีเดีย, 2555.

[1] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://news.harvard.edu/gazette/story/2018/04/extension-schools-sustainability-program-is-in-step-with-the-times/

[2] ผมเคยนำเสนอความคิดเอาไว้ในการบรรยายหัวข้อ Thailand 4.0 กับมิติทางสังคมศาสตร์ งานครบรอบคล้ายวันสถาปนาคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดโดย คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ ห้องประชุมชั้น 9 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน วันอังคารที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2560.

[3] เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, สยามอารยะ แมนนิเฟสโต : แถลงการณ์สยามอารยะ (กรุงเทพฯ: ซัคเซส มีเดีย, 2555),  หน้า 187-188.

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 36 วันศุกร์ 18 – พฤหัสบดี 24 พฤษภาคม 2561

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *