ผมเคยนำเสนอความคิด “ความดี” เอาไว้ในหนังสือ สยามอารยะ แมนนิเฟสโต : แถลงการณ์สยามอารยะ ว่าประกอบด้วย 2 มิติ ได้แก่ ความดีมิติคุณธรรมจริยธรรม เช่น ความกตัญญู ความซื่อสัตย์ ความเมตตา ความยุติธรรม เป็นต้น และความดีมิติกายภาพหรือความอยู่ดีกินดี ส่วนหนึ่งเกิดจากการดูแลตนเองอย่างดี เช่น การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เป็นต้น[1] การพัฒนาความดีควรครบถ้วนสมบูรณ์ทั้ง 2 มิติดังกล่าวนี้
สถาบันการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยในฐานะองค์กรแห่งความรู้และองค์กรวิจัยที่ทำหน้าที่ชี้ทิศนำทางสังคมควรเป็นต้นแบบหรือเป็นแบบอย่างแห่งการพัฒนาความดีที่มีความสมบูรณ์ครบถ้วน นอกจากการให้ความสำคัญกับการพัฒนามิติคุณธรรมจริยธรรมเป็นพื้นฐานแล้ว ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนามิติกายภาพหรือความอยู่ดีกินดีของนักศึกษาร่วมด้วย เช่น การดูแลสุขภาพอนามัยส่วนบุคคล การดูแลสภาพแวดล้อมของมหาวิทยาลัยให้เอื้อต่อการพัฒนามิติกายภาพหรือความอยู่ดีกินดีของนักศึกษา เป็นต้น
ฮาร์วาร์ดเป็นกรณีศึกษาที่ดี (Best Practice) ของการพัฒนาความดีที่ครบถ้วนดังกล่าวนี้ นอกจากเป้าหมายการพัฒนานักศึกษาให้เป็นคนดีมิติคุณธรรมจริยธรรม เช่น การมีจิตสาธารณะ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม มีความซื่อสัตย์ เป็นต้น แล้ว ฮาร์วาร์ดยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาบริบทสภาพแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัยให้เอื้อต่อการพัฒนามิติกายภาพหรือความอยู่ดีกินดีของนักศึกษาด้วยเช่นเดียวกัน เช่น การพัฒนาสภาพแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัยให้มีความร่มรื่น ปลอดภัย สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นต้น
ตัวอย่างล่าสุดที่ผ่านมาเป็นที่น่ายินดีที่ Harvard University Dining Service หรือ HUDS ชนะเลิศ 1 เหรียญทองและ 2 เหรียญเงินจาก National Association of College and University Food Service หรือ NACUFS ทางด้านการลดอาหารเหลือทิ้ง (waste reduction) และการออกแบบเมนูอาหาร (overall menu design)[2]
ทั้งนี้โดยเหรียญทองมาจากเมนูอาหารสำหรับที่พักอาศัย (residential dining menu) ของนักศึกษาระดับปริญญาตรี ของ HUDS ขณะที่เหรียญเงินมาจากกิจกรรมการฟื้นฟูและการบริจาคอาหาร (food recovery and donation program) ในหมวดความยั่งยืน ของ HUDS และเมนูร้านกาแฟ (retail café menu) ของ Harvard Kennedy School โดยรางวัลของ NACUFS ดังกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการแข่งขันเกี่ยวกับทางด้านอาหารระหว่างวิทยาลัยที่จัดให้มีขึ้นเป็นประจำทุกปี (annual inter-collegiate competition recognizing excellence in college dining) ทั้งนี้โดย HUDS เป็นปฏิบัติการบริการอาหารของวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา ให้บริการอาหารประมาณ 25,000 มื้อต่อวัน ปฏิบัติการในห้องรับประทานอาหารสำหรับที่พักอาศัย 13 ห้อง ร้านกาแฟ 15 ร้าน ครัวโคเชอร์ และบริการจัดเลี้ยง
ตัวอย่างกิจกรรมสะท้อนความดีมิติกายภาพหรือความอยู่ดีกินดีของฮาร์วาร์ดดังกล่าวนี้ เช่น เมนูร้านกาแฟของ Harvard Kennedy School ที่เปิดในพื้นที่ใหม่บริเวณถนนอีลีออท มีจุดเน้นสำคัญอย่างหนึ่งคือ ลีนโปรตีน (lean proteins) ผักและธัญพืชเต็มเมล็ด (vegetables and whole grains) และอาหารสุขใจทางวัฒนธรรม (cultural comfort foods) อันสะท้อนถึงความห่วงใยใส่ใจต่อสุขภาพ เป็นต้น
เหรียญรางวัลทั้ง 3 เหรียญที่หน่วยงานของฮาร์วาร์ดได้รับในครั้งนี้นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนแล้ว ยังสะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับความดีมิติกายภาพหรือความอยู่ดีกินดีของนักศึกษา อันเป็นมิติความดีที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความดีมิติคุณธรรมจริยธรรม สมควรที่มหาวิทยาลัยควรให้ความสำคัญอย่างแท้จริง
รายการอ้างอิง
เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, สยามอารยะ แมนนิเฟสโต : แถลงการณ์สยามอารยะ. กรุงเทพฯ : ซัคเซส มีเดีย,
2555.
[1] เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, สยามอารยะ แมนนิเฟสโต : แถลงการณ์สยามอารยะ (กรุงเทพฯ : ซัคเซส มีเดีย, 2555), หน้า 83.
[2] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://news.harvard.edu/gazette/story/newsplus/three-medals-for-harvard-university-dining-services/
ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 38 วันศุกร์ 1 – พฤหัสบดี 7 มิถุนายน 2561
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com