กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
วิสัยทัศน์การพัฒนาคนเป็นกุญแจหลักสำคัญที่ขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสิงคโปร์ จากประเทศเล็ก ยากจน ที่มีประชากรและทรัพยากรจำกัด
ให้เกิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดดเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและเป็นผู้เล่นในเวทีระดับโลก (Global Player) ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยของ
สิงคโปร์ 2 แห่งที่ถูกจัดอันดับให้มีคุณภาพติดอันดับ 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกจากการจัดอันดับของนิตยสารไทม์ส ไฮเออร์ เอดูเคชัน (The Times Higher Education) ปี ค.ศ. 2012 – 2013 ได้แก่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) อยู่ในอันดับที่ 29 และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (Nanyang Technological University) อันดับที่ 86
ตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา สิงคโปร์จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการศึกษามาโดยตลอด ส่งผลทำให้การศึกษาของสิงคโปร์มีอัตราการขยายตัวสูง สามารถดึงดูดกลุ่มผู้เรียนระดับสติปัญญาดีเลิศ ทั้งจากภายในภูมิภาคและทั่วโลกเข้าเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาระดับอุดมศึกษา (Tertiary Education) ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยของสิงคโปร์ 2 แห่งที่ถูกจัดอันดับให้มีคุณภาพติดอันดับ 100 มหาวิทยาลัยโลก ได้แก่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (Nanyang Technological University)
การศึกษาของสิงคโปร์มีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวในอนาคต เพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ตามวิสัยทัศน์ของ นาย ลี เซียน ลุง (Lee Hsien Loong) นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ที่ออกมาประกาศอย่างชัดเจนว่า ภายในปี ค.ศ. 2020 สัดส่วนของคนหนุ่มสาวสิงคโปร์ที่เข้าสู่การศึกษาระดับอุดมศึกษาจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 เทียบกับปัจจุบันที่มีอยู่ร้อยละ 27 ในจำนวนนี้ไม่นับรวมถึงนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาศึกษาต่อ ซึ่งสิงคโปร์มีแผนที่จะยกระดับ Singapore Institute of Technology (SIT) และ Singapore Institute of Management University (UniSIM) ให้เป็นมหาวิทยาลัย ทำให้สิงคโปร์มีมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่งทำให้สิงคโปร์จะมีมหาวิทยาลัย 6 แห่งเพื่อรองรับการขยายตัวทางด้านการศึกษาในอนาคต
ผมวิเคราะห์ว่า กลยุทธ์การสร้างชาติด้วยการศึกษาของสิงคโปร์ (Education for Nation Building) ที่เป็นกุญแจสำคัญทำให้สิงคโปร์สามารถพัฒนาประเทศให้เกิดความเจริญก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดภายในระยะเวลาไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาก็คือ การสนับสนุนทุนการศึกษาต่อต่างประเทศให้กับนักศึกษาที่มีสติปัญญาดีเลิศ เพื่อให้นักศึกษาเหล่านี้นำวิทยาการความรู้กลับมาพัฒนาประเทศชาติบ้านเมืองให้เกิดความเจริญก้าวหน้า รวมถึงการสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับกลุ่มนักศึกษาต่างชาติที่มีสติปัญญาดีเลิศ เพื่อดึงดูดนักศึกษากลุ่มนี้จากทั่วทุกมุมโลกเข้าเรียน
ความเป็นจริงดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นตลอดประวัติศาสตร์ของประเทศสิงคโปร์ที่มีการสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับผู้เรียนเก่ง เพื่อเป็นฐานการสร้างชาติมาโดยตลอด
ยุคอาณานิคม (ก่อนปี 1950) – สิงคโปร์รับทุนสนับสนุนจากอังกฤษส่งผู้เรียนเก่งศึกษาต่อมหาวิทยาลัย การเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษทำให้สิงคโปร์ขณะนั้นที่ยังมิได้แยกออกจากสหพันธรัฐมาเลเซียได้รับสิทธิประโยชน์ในการขอรับทุนสนับสนุนการศึกษาจากองค์กรผู้ให้ทุนประเทศอังกฤษ นักเรียนทุนเหล่านี้เป็นบุคคลที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศสิงคโปร์ในเวลาต่อมา อาทิเช่น อดีตนักการเมืองและนักกฎหมาย นายเอ็ดมันด์ วิลเลี่ยม บาร์คเกอร์ (Edmund William Barker) นางกวา ค็อก ชู (Kwa Geok Choo) ภริยานาย ลี กวน ยู (Lee Kuan Yew) เป็นต้น
ยุคประกาศอิสรภาพ (ค.ศ. 1950-1979) – รัฐบาลสิงคโปร์สนับสนุนทุนการศึกษาส่งผู้เรียนเก่งศึกษาต่อมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างประเทศ โดยในช่วงเริ่มต้นสิงคโปร์ยังคงส่งผู้เรียนเก่งขอรับทุนสนับสนุนการศึกษาจากองค์กรผู้ให้ทุนต่างประเทศ เพื่อศึกษาวิทยาการความรู้ด้านต่างๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ อาทิเช่น อดีตนายกรัฐมนตรี โก๊ะ จ๊ก ตง (Goh Chok Tong) นาย เชียง ชี ฟู (Chiang Chie Foo) ต่อมาภายหลังประกาศอิสรภาพจากสหพันธ์รัฐมาเลเซียแล้ว สิงคโปร์จึงจัดสรรทุนรัฐบาลเพื่อส่งผู้เรียนเก่งเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างประเทศด้วยตนเอง พร้อมกับยังรับทุนสนับสนุนการศึกษาจากองค์กรผู้ให้ทุนต่างประเทศอยู่ อาทิเช่น การให้ทุนการศึกษาส่งผู้เรียนเก่งเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในประเทศอังกฤษ ภายหลังสำเร็จการศึกษานักเรียนทุนเหล่านี้ได้กลับมารับตำแหน่งสำคัญเป็นผู้นำองค์กร/หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศสิงคโปร์ไปสู่ความเจริญก้าวหน้าในเวลาต่อมา อาทิเช่น นายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง (Lee Hsien Loong) รองนายกรัฐมนตรี เตียว ชี เฮียน (Teo Chee Hean) เป็นต้น
ยุคการพัฒนา (ค.ศ. 1980 – 1980) – รัฐบาลสิงคโปร์สนับสนุนทุนการศึกษาส่งผู้เรียนเก่งศึกษาต่อมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก ยุคนี้รัฐบาลสิงคโปร์ขยายขอบเขตการให้ทุนการศึกษาส่งผู้เรียนเก่งเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งสนับสนุนทุนการศึกษาต่อต่างประเทศในระดับปริญญาโทแบบเต็มจำนวนให้กับผู้เรียน เพื่อเป็นฐานกำลังคนในการพัฒนาประเทศอีกด้วย
ยุคก้าวกระโดด (ค.ศ. 2000 – ปัจจุบัน) – รัฐบาลสิงคโปร์สนับสนุนทุนการศึกษาให้กับผู้เรียนเก่งเพื่อเตรียมผู้นำด้านต่างๆ ไม่เฉพาะเพียง ผู้เรียนเก่งของสิงคโปร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลุ่มนักศึกษาต่างชาติที่มีสติปัญญาดีเลิศด้วย โดยการสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาเหล่านี้ พร้อมเงื่อนไขต้องทำงานกับหน่วยงาน/องค์กรของสิงคโปร์ภายหลังสำเร็จการศึกษาตามระยะเวลาที่กำหนด 3 ปี เพื่อดึงดูดและจัดหากำลังคนที่มีคุณภาพเข้าสู่หน่วยงาน/องค์กร
ปัจจุบันหน่วยงาน/องค์กรต่างๆ ของสิงคโปร์จึงมิขาดกำลังคนที่มีคุณภาพและสติปัญญาดีเลิศ นั่งอยู่ในตำแหน่งสำคัญๆ กลุ่มคนเหล่านี้เป็นกลไกหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสิงคโปร์ให้เจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดด เป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและเป็นผู้เล่นในเวทีระดับโลก (Global Player)
ประเทศไทยจะเรียนรู้บทเรียน และนำสิ่งเหล่านี้มาปรับใช้น่าจะเป็นประโยชน์ แต่ต้องเริ่มต้นด้วยการมีวิสัยทัศน์ของผู้บริหารประเทศก่อน และไม่ว่าจะเปลี่ยนกี่รัฐบาล ก็ยังสานต่อนโยบายนี้เพื่อผลดีต่อประเทศในระยะยาว
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://blog.eduzones.com/images/blog/jipatar/20100128210052.jpg