สำนึกดี อนาคตดี

         ข้อความเพียงไม่กี่ประโยค ที่เขียนไปตามอารมณ์ความรู้สึกขณะนั้น …อาจดับอนาคตเราได้!!
         ภาพเซลฟี เพียงภาพเดียว ที่ถ่ายสนุก ๆ …อาจเป็นภาพ ‘สิ้นคิด’ ที่ทำให้ตกงานได้อย่างไม่คาดคิด!!

         ในโลกปัจจุบันที่ถูกเรียกว่าเป็น “สังคมก้มหน้า” การสื่อสารตัวตน – ฉันทำอะไร คิดอะไร อยู่ที่ไหน เป็นอย่างไร ฯลฯ มักจะถูกส่งผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้รับรู้แลกเปลี่ยนกัน จนสิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนส่วนใหญ่ในสังคม ซึ่งรวมถึงคนวัยทำงานด้วย 

         สิ่งที่เผยแพร่ออกไปแล้ว จะกลายเป็น “หลักฐาน” มัดตัวเรา และสามารถนำมาใช้ในการประเมินตัดสินว่า ข้อความ รูปภาพ ที่เราสื่อออกไปนั้น – ถูก ผิด ดี เลว อย่างไร? 
         ในช่วงที่ผ่านมา มีคนทำงานจำนวนไม่น้อยที่ติดกับดักอารมณ์ของตนเอง ก่อนโพสต์ไม่ได้คิดถึงผลกระทบอย่างรอบคอบ อาจไม่คิดหรือคิดไม่ถึง เมื่อสิ่งที่ทำถูกเผยแพร่ไป กลายเป็นสร้างกระแสต่อต้าน ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ..เมื่อคิดได้ก็สายเกินไป หลายคนต้องหมดอนาคต..ถูกไล่ออกจากงานมาแล้ว
         การโพสต์ข้อความหรือรูปภาพแบบไหนที่สามารถ ‘ดับอนาคต’ การทำงานของเราได้?
         ส่งผล ‘ทำลาย’ เกียรติศักดิ์ศรีผู้อื่น ด้วยการใช้คำพูดดูถูก ดูหมิ่นเหยียดหยาม หรือล้อเลียนผู้อื่นอย่างไม่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น เมื่อไม่นานมานี้ มีชายไทยคนหนึ่งที่ทำงานในฟิลิปปินส์ ได้ถูกสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (Bureau of Immigration) ของฟิลิปปินส์ สั่งให้ออกนอกประเทศ หลังจากที่เขาได้โพสต์ข้อความดูถูกเหยียดหยามชาวฟิลิปปินส์ ในเฟซบุ๊ก จนทำให้ถูกขึ้นบัญชีดำไม่ให้เขากลับเข้าประเทศฟิลิปปินส์อีก แม้ว่าเขาจะได้โพสต์ข้อความขอโทษผ่านหน้าเพจประชาคมอาเซียน โดยอ้างเหตุผลว่า เข้าเพียงต้องการร่วมโต้เถียง แต่ไม่ได้ต้องการทำร้ายจิตใจชาวฟิลิปปินส์  
         เราต้องตระหนักว่า การอยู่ร่วมกันในสังคม จำเป็นต้องเห็นคุณค่า เคารพให้เกียรติ ไม่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ใด ซึ่งหากเราทำเช่นนั้น ไม่ว่ากับใครก็ตาม ย่อมส่งผลตามมาคือ ความไม่พอใจ ไม่เห็นด้วย และอาจลุกลามสร้างปัญหาให้กับเราได้ 
         ส่งผล ‘ทำลาย’ ภาพลักษณ์องค์กร  ด้วยการใช้ข้อความที่ไม่เหมาะสม เช่น ระบายอารมณ์ต่อว่าหัวหน้างาน ต่อว่าองค์กร ในเรื่องที่ตนเองเสียประโยชน์ หรือนำข้อมูลขององค์กรที่ควรเป็นความลับออกมาเปิดเผย โดยไม่คิดว่า จะส่งผลกระทบตามมาอย่างไร หรืออาจจะนำเสนอภาพถ่ายในกลุ่มเพื่อน ๆ ที่ไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องใหญ่ แต่ตรงกันข้าม เมื่อคนภายนอกเห็นแล้วกลับคิดอีกแบบหนึ่ง ส่งผลให้เราถูกจัดการในพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนั้น 
         ยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งที่คนทำไม่คิดว่าจะเกิดเรื่องใหญ่โตได้ แพทย์และพยาบาลบางคน ของคลินิกเสริมความงามแห่งหนึ่งในกรุงโซล ได้จัดงานปาร์ตี้ และถ่ายรูปเซลฟีกันในห้องผ่าตัด ซึ่งมีคนไข้นอนสลบอยู่ด้านหลังภาพ เมื่อภาพถ่ายเซลฟีได้ถูกแชร์ผ่านอินสตาแกรม ได้ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่า ไม่ใส่ใจเรื่องสุขอนามัยและความปลอดภัยของคนไข้  ทั้งยังเป็นการบ่อนทำลายชื่อเสียงผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมรายอื่น ๆ ด้วย จนผู้บริการคลินิกแห่งนี้ ต้องออกมาประกาศขออภัยต่อพฤติกรรมที่ไร้จิตสำนึกดังกล่าว
         ..ไม่ได้ตั้งใจ …ไม่คิดว่าจะส่งผลร้ายแรง …เสียใจในสิ่งที่ทำลงไป ฯลฯ คำกล่าวที่แสดงความสำนึกผิดในสิ่งที่ทำลงไป มักตามมาภายหลัง สิ่งหนึ่งที่คนเหล่านี้มีเหมือนกันคือ ไม่ได้ตั้งใจ และไม่คิดว่า สิ่งที่ตนทำลงไปจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อผู้อื่น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่คิดว่า จะส่งผลกระทบ ‘ร้ายแรง’ ต่อตนเอง ซึ่งย่อมต้องได้รับ ‘บทลงโทษ’ ทั้งจากสังคมและองค์กรที่ทำงานตามมา
         ดังนั้น ทางที่ดีในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ เราจำเป็นต้องเตือนตัวเองเสมอว่า “อย่าดับอนาคตด้วย ‘มือ’ เรา” การโพสต์ข้อความหรือรูปภาพเพียงครั้งเดียว อาจทำให้เราต้องเสียใจไปตลอดชีวิต อนาคตที่งดงามอาจต้องดับวูบไป และที่สำคัญ แม้สำนึกเสียใจ..ก็สายเกินไป
         เราควรฝึกนิสัย ‘คิดทบทวน’ ทุกเรื่องก่อนตัดสินใจ เรื่องเล็ก ๆ ที่เราอาจคิดว่า ไม่มีอะไร เป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ในมุมมองของบุคคลอื่นอาจไม่คิดเช่นนั้น เขาอาจคิดตรงข้ามก็เป็นได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะทำอะไร ควรคิดถึงใจเขาใจเรา ตั้งคำถามและคิดทบทวนก่อนตัดสินใจเสมอว่า สิ่งที่เราทำลงไปนั้น สังคมรับได้หรือไม่ ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นหรือไม่ ทำลายภาพลักษณ์และชื่อเสียงขององค์กรหรือไม่ จะส่งผลกระทบทางบวกทางลบอย่างไร และคุ้มค่ากับที่เราจะทำลงหรือไม่? 
         ทุกเรื่องที่เราตัดสินใจทำลงไปแล้ว ย่อมไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบจากผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นได้ ทุกข้อความและทุกรูปภาพที่ได้เผยแพร่ออกไปแล้วนั้น คือ หลักฐานชิ้นสำคัญ ที่สามารถกำหนดอนาคตของเราให้ ‘สดใส’ หรือ ‘ดับมืด’ ลงได้  ขึ้นอยู่กับสามัญสำนึกของเรา ณ เวลานั้นจะเลือกแบบใด!!

 

ที่มา: งานวันนี้
ปีที่ 17 ฉบับที่ 741 วันที่ 8-22 ก.ค. 2558

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

แหล่งที่มาของภาพ :  http://84d1f3.medialib.glogster.com/media/47/47de58f15f69ff6d4874293f05db599482b445a7751947f153485e2e1a75c9a3/golden-rule.jpg