ในวาระครบรอบ 175 ปีของการก่อตั้ง นิตยสาร ‘ดิ อีโคโนมิสต์’ ในฐานะที่เป็นกระบอกเสียงของสำนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยม (Liberalism) ได้จัดทำและเผยแพร่บทความพิเศษที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์เสรีนิยม 2 ชิ้น
บทความแรก คือ “Liberalism’s greatest thinkers” เป็นการสรุปปรัชญาความคิดของนักคิดที่ยิ่งใหญ่ในสำนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยม
ส่วนบทความที่สอง คือ “A manifesto for renewing liberalism” เป็นแถลงการณ์ที่นำเสนอความพยายามในการฟื้นฟูแนวคิดเสรีนิยมให้เป็น “เสรีนิยมเพื่อประชาชน”
แรงจูงใจสำคัญการเผยแพร่บทความดังกล่าว เกิดจากความถดถอยของลัทธิเสรีนิยมใหม่ เพราะนับตั้งแต่วิกฤตซับไพร์มปี 2008 ลัทธิเสรีนิยมใหม่ถูกตั้งคำถาม และถูกต่อต้านว่าเป็นระบบเศรษฐกิจที่รับใช้คนรวยแต่ละเลยคนส่วนใหญ่ ในขณะที่ประชาธิปไตยทั่วโลกเสื่อมถอยลง โดยเฉพาะการที่เศรษฐกิจจีนผงาดขึ้นมา ทำให้เกิดการยอมรับความคิดที่ว่า ระบอบเผด็จการก็สามารถทำให้เศรษฐกิจดีได้
ทั้งนี้ นับตั้งแต่คริสตทศวรรษ 1980 ลัทธิเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ (Neo-liberalism) เป็นแนวคิดที่เป็นกระแสหลักของโลก ซึ่งเน้นการเปิดเสรีทางการค้า การลดบทบาทของรัฐในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และการผ่อนคลายกฎระเบียบและข้อจำกัดต่างๆ เพื่อให้ภาคธุรกิจเล่นบทบาทหลักในระบบเศรษฐกิจแบบตลาด หรือเป็นโมเดลที่มีลักษณะผมขอเสนอว่าเป็น “Big Business, Small Government and Small Civil Society”
ถึงแม้ว่า แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ประสบความสำเร็จ ในการสร้างความ มั่งคั่งของเศรษฐกิจโลก และลดความยากจน แต่กลับทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ความ มั่งคั่งกระจุกตัวกับคนรวยที่เป็นคนส่วนน้อยของสังคม ดังที่ผมได้เคยนำเสนอในบทความเรื่อง “กฎ 99-1 กับความเหลื่อมล้ำ” ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจในปีที่ผ่านมา
ความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้น ประกอบกับวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งมีต้นเหตุส่วนหนึ่งมาจากความโลภและการดำเนินงานที่สุ่มเสี่ยงของธุรกิจขนาดใหญ่ จนสร้างความเดือดร้อนแก่คนส่วนใหญ่ ในขณะที่นักการเมืองไม่ให้ความใส่ใจกับปัญหานี้ ทำให้เกิดกระแสต่อต้านและเกิดการตีกลับเชิงแนวคิดทางเศรษฐกิจและการเมือง
ในสถานการณ์ดังกล่าว บทความของ ดิ อีโคโนมิสต์ จึงพยายามอธิบายว่า ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม รัฐสามารถทำงานหนักมากขึ้นเพื่อพลเมืองได้ โดยการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการจัดเก็บภาษี ระบบสวัสดิการ การศึกษา และการย้ายถิ่นฐาน ระบบเศรษฐกิจต้องปราศจากอำนาจผูกขาดของ ภาคธุรกิจที่ขยายตัวขึ้น และการปิดกั้นการเคลื่อนย้ายของผู้คนไปสู่เมืองที่มั่งคั่ง รวมทั้งสนับสนุนการใช้กำลังทหารในการสนับสนุนโลกเสรี และเสริมกำลังประเทศพันธมิตร
ประเด็นหนึ่งในบทความที่ผมให้ความสนใจเช่นกันและโดยบรรยายนำหน้ามานานคือ เรื่อง “new social contract” แต่ผมเรียกชื่อมาก่อนว่า Neo-Social Contract ซึ่งแสดงพัฒนาการของระบบสวัสดิการสังคม ตั้งแต่การเกิดขึ้นของรัฐสวัสดิการในศตวรรษที่ 19 และได้รับการพัฒนาต่อมาในศตวรรษที่ 20 โดยนักการเมืองสายเสรีนิยม
แต่เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะสัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้ภาระงบประมาณรัฐเพิ่มขึ้น ประกอบกับระบบรัฐสวัสดิการไม่ได้นำไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจไว้ คือการช่วยคนให้ช่วยเหลือตนเองได้ จึงทำให้เกิดการพัฒนาแนวคิดและแนวทางใหม่ๆ เช่น การจัดสรรรายได้พื้นฐานแก่ประชาชนทุกคน (Universal Basic Income) การจัดการศึกษาตลอดชีวิตแก่ประชาชน (จากเดิมที่จัดให้เฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐาน) Negative income tax หรือการสมทบเงินให้กับคนยากจนที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ เป็นต้น
ในอีกด้านหนึ่ง บทความได้กล่าวถึงพัฒนาการของระบบภาษี ที่มีแนวโน้มเปลี่ยนจากการเก็บภาษีรายได้และภาษีการบริโภคในอัตราสูง และเก็บภาษีจากทุนและภาษีมรดกในอัตราต่ำ ไปสู่การเก็บภาษีจากแรงงานไร้ฝีมือลดลง และเก็บภาษีจากทุน ภาษีมรดก ภาษีคาร์บอนและภาษีสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
จากบทความดังกล่าว ดูเหมือนว่า ดิ อีโนมิสต์ พยายามกล่าวปกป้องลัทธิเสรีนิยม โดยไม่พยายามทัดทานต่อกระแสตีกลับมากจนเกินไป บทความนี้จึงให้น้ำหนักค่อนข้างมากกับบทบาทของรัฐในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นโมเดลที่มีลักษณะค่อนไปในทางฝ่ายซ้ายโดยผมขอเรียกใหม่ กล่าวคือ “Big Government, Small Business and Small Civil Society”
แท้ที่จริงแล้ว ข้อถกเถียงว่าใครควรมีบทบาทใหญ่ในสังคม ระหว่างรัฐ (big government) หรือธุรกิจ (big business) มีมานานแล้ว ซึ่งแต่ละโมเดลมีข้อดีและข้อด้อยแตกต่างกัน และแนวคิดการบริหารเศรษฐกิจมักจะเปลี่ยนไปมาระหว่างสองโมเดลนี้
ในความคิดของผมเป็นความคิดผิด ที่สนใจเพียง 2 ภาคกิจ ภาคกิจที่มีส่วนขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไม่ได้มีเพียงภาครัฐกิจและภาคธุรกิจเท่านั้น แต่มีภาคกิจที่สามคือภาคประชากิจด้วย และผมได้สร้างทฤษฎีใหม่ที่ชื่อว่า “สัญญาประชาคมใหม่ (Neo-Social Contract)” ซึ่งอธิบายว่า ภาคกิจต่างๆ ต้องร่วมมือกันอย่างบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ
เหตุที่ทั้งสามภาคกิจต้องร่วมมือกัน เพราะต่างก็มีจุดอ่อนและจุดแข็งแตกต่างกัน โดยภาครัฐกิจมีงบประมาณ มีอำนาจ และมีข้าราชการจำนวนมาก แต่ขาดประสิทธิภาพ ภาคธุรกิจมีเงินและได้คนเก่ง แต่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ส่วนภาคประชากิจมีอุดมการณ์และใกล้ชิดประชาชน แต่ขาดเงินและไม่ได้คนเก่ง ดังนั้นหากทั้งสามภาคกิจร่วมมือกัน จะทำให้เกิดพลังในการสร้างชาติให้เจริญรุ่งเรือง
ต่อคำถามที่ว่า ใครควรมีบทบาทใหญ่ในสังคม ผมขอเสนอโมเดลใหม่ ว่าคือ “อารยตรีกิจ” มีลักษณะ “Small Government, Small Business but Big Civil Society” ซึ่งหมายถึง การที่ภาคประชาชนควรจะขึ้นมารับผิดชอบอย่างเต็มที่และอย่างใหญ่โตมโหฬาร เพราะผมเชื่อว่า ความเป็นพลเมืองที่ยิ่งใหญ่และแข็งแรง จะเป็นเหตุทำให้ประเทศชาติเจริญได้ โดยการประสานร่วมกับภาครัฐกิจและธุรกิจตามบทบาทที่เหมาะสม
ปัจจุบัน โลกมีความซับซ้อนมากขึ้น ปัญหาต่างๆ ยังมีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น การจัดการปัญหาต่างๆ ไม่สามารถแก้ไขเพียงลำพังโดยภาครัฐที่ขาดความใกล้ชิดประชาชนและขาดความเข้าใจปัญหา และไม่สามารถแก้ไขโดยภาคธุรกิจที่ขาดความเชี่ยวชาญในการแก้ปัญหาสังคม ดังนั้นบทบาทใหญ่จึงควรเป็นของภาคประชาชนที่มีความเข้าใจปัญหา โดยต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคกิจอื่นๆ
ผมมีความฝันว่า ประเทศไทยจะมีองค์กรภาคประชากิจเกิดขึ้นจำนวนมากเป็นแสนๆ แห่ง โดยมีการออกแบบในระดับประเทศให้องค์กรแต่ละแห่งรับผิดชอบเรื่องเล็กๆ คนละเรื่อง แล้วนำมาต่อบูรณาการเป็นภาพใหญ่ เพื่อให้แน่ใจว่า ทุกเรื่อง ทุกปัญหา ในทุกพื้นที่ในประเทศจะได้รับการแก้ไข ผมเชื่อว่าประเทศของเราจะดีขึ้นในทุกจังหวัด ทุกอำเภอ ทุกตำบล และทุกหมู่บ้าน
เพราะนี่คือ สัญญาประชาคมใหม่ เป็นสัญญาแห่งความร่วมมือและรวมพลังกัน โดยปรารถนาที่จะเห็นชาติบ้านเมืองของเราเจริญก้าวหน้าอย่างที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com