ประเทศไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางรายได้ การศึกษา การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน สวัสดิภาพและสวัสดิการทางสังคม รวมไปถึง “ความเหลื่อมล้ำทางปัญญา”
ผมคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องพัฒนาและสร้างสังคมปัญญานิยมให้เกิดขึ้นให้ได้ โดยเริ่มต้นจากเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร เพราะประเทศต่างๆ ทั่วโลกเกิดการพัฒนาอย่างก้าวไกลในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม หากประเทศไทยยังนิ่งเฉย จะยิ่งทำให้เกิดช่องว่างความแตกต่างด้านสังคมแห่งปัญญาระหว่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ
ผมได้เสนอแนวคิด “เมือง 10 ส” เพื่อสร้างกรุงเทพฯ ในช่วงที่ผมหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ปี 2551 เพื่อสร้างกรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ใน 10 มิติ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ เป็นเมืองสมองสร้างสรรค์ กล่าวคือ เป็นเมืองที่ผู้คนมีโอกาสได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพในทุกช่วงชั้น มีโอกาสได้เรียนรู้ตลอดชีวิตตามความถนัดและสนใจ โดยมีโรงเรียนที่มีคุณภาพ มีแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับคนทุกช่วงวัยที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้สะดวกและรวดเร็ว และประชาชนมีส่วนร่วมใช้ความรู้และความสามารถในการพัฒนาและปรับปรุงเมืองในด้านต่าง ๆ
ทั้งนี้ ผมมองว่า การสร้างสังคมที่ดำเนินด้วยปัญญา ควรเริ่มตั้งแต่พัฒนาให้ทุกคนมีปรัชญาการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง พัฒนาให้ทุกคนมีเป้าหมายในการดำเนินชีวิต พัฒนาให้ทุกคนค้นพบเอกลักษณ์และเห็นคุณค่าในความเป็นมนุษย์ พัฒนาให้ทุกคนได้ใช้ส่วนดีในตัวได้เต็มศักยภาพ โดยผมขอนำเสนอนโยบายที่คิดว่า สามารถนำมาปรับใช้ได้ในระดับประเทศ ได้แก่
1. สร้าง Brain Bank Park – สวนสาธารณะเพื่อการเรียนรู้
หนึ่งในนโยบายหาเสียงที่ผมเคยเสนอไว้ คือ การสร้าง “สวนสมองคนเมือง” หรือแหล่งเรียนรู้ของคนในเมือง โดยผมมองว่า ในการขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ จำเป็นต้องพัฒนาคนให้เป็นคนแห่งการเรียนรู้ เพื่อเผชิญหน้ารับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างเท่าทัน สามารถปรับตัว อยู่รอด และแข่งขันได้
คนจำนวนมากมักใช้เวลาว่างดูโทรทัศน์ ฟังเพลง เล่นอินเทอร์เน็ต เดินเที่ยวห้างสรรพสินค้า ฯลฯ เนื่องจากขาดความหลากหลายของทางเลือกของแหล่งเรียนรู้และกิจกรรมสำหรับคนเมือง ดังนั้น แหล่งเรียนรู้และกิจกรรมที่หลากหลายและน่าสนใจ จึงควรจัดให้มีขึ้นมาอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ผู้คนได้รับการพัฒนาความรู้ตามที่ตนเองถนัดและสนใจได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต อันเป็นการส่งเสริม กระตุ้นค่านิยมรักการเรียนรู้ ลดปัญหาและป้องกันไม่ให้ใช้เวลาว่างไปในทางที่ไม่เกิดประโยชน์
2. มีแหล่งเรียนรู้ทุกตารางกิโลเมตร
ผมเสนอให้ทุก 1 ตารางกิโลเมตรในพื้นที่ กทม. มีแหล่งเรียนรู้อย่างน้อย 1 แห่ง โดยพื้นที่ กทม. มี 1,562.2 ตารางกิโลเมตร ดังนั้น แหล่งเรียนรู้ใน กทม. ต้องมีอย่างน้อย 1,562 แห่ง ทุกๆ ที่สามารถทำเป็นแหล่งเรียนรู้ได้ ไม่ว่าจะเป็นป้ายรถเมล์ ต้นไม้ทุกต้น ถนนทุกสาย
พื้นที่ใดที่เก่าแก่หรือมีประวัติและเรื่องเล่าที่น่าสนใจ ควรทำให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เช่น รื้อฟื้นตลาดเก่า แหล่งวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิม เพื่อจัดทำเป็นถนนสายวัฒนธรรม ถนนคนเดิน เพื่อให้คนในพื้นที่มีต้นทุนในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ต่ำที่สุด สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้สะดวก และรวดเร็ว
3. แหล่งเรียนรู้ทุกประเภทสำหรับทุกวัย
การจัดให้มีแหล่งเรียนรู้ตั้งแต่ ปฐมวัย ถึง ผู้สูงวัย กระจายแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่ต่าง ๆ ให้กลุ่มคนต่าง ๆ สามารถเข้าถึงได้ มีการจัดกิจกรรมที่น่าสนใจ พัฒนาให้เป็น ”แหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิตอย่างครบวงจร” อาจเป็นห้องสมุดที่มีชีวิต สวนสาธารณะที่มีชีวิต พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ฯลฯ
ผมเคยนำเสนอ “ศูนย์เรียนรู้ 4 มุมเมือง” มีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อกระจายแหล่งเรียนรู้สำหรับทุกเพศทุกวัย ให้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพในด้านที่ตนสนใจ โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นในศูนย์ฯ ต้องเป็นสิ่งที่คนเมืองสนใจ มีความหลากหลาย มีความทันสมัย และเปิดโอกาสให้คิดสร้างสรรค์
นอกจากนี้ ผมยังได้นำเสนอ “ห้องสมุดอัจฉริยะ 50 เขต” โดยแต่ละเขตต้องมีห้องสมุดทันสมัย 1 แห่ง ที่ใช้ไอทีนำเสนอความรู้ ปฏิรูปห้องสมุดให้น่าเข้าใช้บริการ มีระบบให้บริการทางอินเทอร์เน็ต มีการจัดกิจกรรมตลอดปี จัดหาหนังสือ และ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย หรือพัฒนาเป็น “ห้องสมุดเฉพาะทาง” เช่น ห้องสมุดเกษตร ห้องสมุดดนตรี ห้องสมุดการแสดง ห้องสมุดกีฬา ห้องสมุดรีไซเคิล ห้องสมุดนักการเมือง ฯลฯ
4. พัฒนาแหล่งเรียนรู้บนพื้นฐาน “จุดแกร่ง” ของชุมชน ให้มีชื่อเสียงที่สุดในโลก
ผมเคยนำเสนอว่า ในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ควรผสานจุดเด่นของเรา ให้กลายเป็นจุดดึงดูด ให้คนทั้งโลกอยากมาเรียนรู้ด้วย เช่น การพัฒนาสวนหลวง ร.9 ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ดอกไม้เขตร้อนที่ใหญ่ที่สุด หลากหลายและสวยที่สุดในโลก
การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ว่าวที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก โดยเชื่อมโยงกับแหล่งผลิตว่าว เช่น ชุมชนสามัคคี ที่เขตมีนบุรี มีการจัดแข่งขัน ประกวดและพัฒนานวัตกรรมการผลิตและเล่นว่าว
การมีศูนย์หัตถกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก แสดงกิจกรรมผลิตและพัฒนานวัตกรรมด้านหัตถกรรม หรือศูนย์อาหารแห่งชาติที่อร่อยและใหญ่ที่สุดในโลก มีกิจกรรมประจำทั้งปีในการจัดแสดง แข่งขัน จำหน่าย และสอน ทำอาหารและขนมไทยที่อร่อยและใหญ่ที่สุดในโลก เป็นต้น
5. จัดตั้งศูนย์รับผิดชอบแหล่งเรียนรู้และจัดกิจกรรม
แหล่งเรียนรู้จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องได้ จำเป็นต้องมีการจัดการอย่างเป็นระบบ โดยมีศูนย์รับผิดชอบแหล่งเรียนรู้และจัดกิจกรรม เพื่อทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานแหล่งเรียนรู้ พัฒนาฐานข้อมูลและการให้บริการ มีระบบชักชวนหรือจูงใจให้ประชาชนเข้าสู่แหล่งเรียนรู้ พัฒนาระบบระดมทุนเพื่อให้อยู่ได้ด้วยตนเอง มีระบบวัดประเมินผล และ พัฒนาแหล่งเรียนรู้และกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง
มากกว่านั้น ศูนย์นี้มีหน้าที่ที่สำคัญ คือ กระจายความรับผิดชอบในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ โดยให้ภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมเป็น “เจ้าภาพ” เจาะจงในการรับผิดชอบแต่ละแหล่งเรียนรู้ โดยแบ่งตามความเชี่ยวชาญ เช่น ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน รัฐวิสาหกิจ หน่วยราชการ ชุมชน โรงเรียน หรืออาจเป็นสถานประกอบการเพื่อสังคมต่าง ๆ และรัฐควรสร้างแรงจูงใจ เช่น มาตรการด้านภาษี การให้สิทธิประโยชน์อื่น ๆ รวมถึงการอุดหนุนการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ตามความเชี่ยวชาญ ฯลฯ
จากข้อเสนอข้างต้น จะเห็นว่ามีหลายนโยบายที่ผมเคยนำเสนอไปแล้ว ในช่วงเวลาและวาระที่แตกต่างกัน ทว่าปัจจุบัน ยังไม่เห็นความเป็นสังคมปัญญานิยมเกิดขึ้นให้เห็นอย่างชัดเจน ผมมองว่า คนจำเป็นต้องถูกสร้าง โดยเฉพาะคนที่อุดมไปด้วยปัญญาเพื่อให้เกิดเป็นสังคมปัญญานิยม มิฉะนั้นสังคมไทยจะกลายเป็นสังคมปัญหานิยมแทนครับ
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com