จากมุมมองนโยบายด้านการศึกษาของพรรคการเมือง ซึ่ง ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันการสร้างชาติ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้วิเคราะห์สภาพปัญหาในปัจจุบัน พร้อมหยิบยกนโยบายบางพรรคการเมือง มาสะท้อนมุมมองเป็นตัวอย่าง เพื่อชี้ให้เห็นทิศทางนโยบายเหล่านั้น
.
“ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” วันนี้ นำเสนอต่อเนื่องในส่วนข้อเสนอแนะ หากสามารถผลักดันแนวทางการศึกษาของประเทศไทยให้ดีขึ้นได้ผ่านการเลือกตั้ง พรรคการเมืองควรทำสิ่งใด
.
ขาดวิธีการสู่ผลลัพธ์ อาจไม่ได้ดีดังนโยบายวาดฝัน
.
หากถามว่า การศึกษาจะดีขึ้นได้อย่างไร ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เผยส่วนตัวมองว่า ต้องจัดแจงตั้งแต่ครูผู้สอน จนถึงสังคมภายนอก รวมถึงตัวเด็ก และระบบงบประมาณแผ่นดิน จะจัดระเบียบเงินที่มีน้อยอย่างไรให้ดี จากที่เห็นปัจจุบัน ทุกพรรคการเมืองจะพูดไม่ครบประเด็น พูดแค่บางส่วน และอีกส่วนก็ไม่อธิบายให้เข้าใจว่าหากทำตามที่เสนอแล้ว การศึกษาจะดีขึ้นได้อย่างไร ผลลัพธ์ในตัวเด็กจะเกิดได้อย่างไร
.
ยกตัวอย่าง หากบอกว่าผลลัพธ์จะเกิดขึ้นได้ ด้วยการพัฒนาครูให้มีคุณภาพ แต่วิธีการจะทำอย่างไร ให้ครูมีคุณภาพกลับไม่มีการถูกพูดถึง มันจึงเป็นปัญหาที่จะเห็นได้ว่า ตอนนี้หากทำตามนโยบายไม่แน่ใจว่าการศึกษาจะเปลี่ยนไปในแนวทางที่ดีขึ้นได้ อาจดีขึ้นบ้างในบางเรื่อง แต่ส่วนตัวไม่แน่ใจว่าผลลัพธ์ในตัวเด็กจะแบบไหน หรือมีคุณภาพแบบที่อยากได้
.
“ตอนนี้จึงหนักใจว่า นโยบายที่นำเสนอ เป็นนโยบายหาเสียงเพื่อได้คะแนน เริ่มมีผลดีต่อการศึกษาบ้าง แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะทำให้การศึกษาเป็นผลดีอย่างที่เราฝัน”
.
เส้นทางพัฒนาต้องจัดแจง-เข้าใจทั้งระบบ สอดคล้องทั้งสายพาน
.
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ ระบุ หากสามารถเสนอนโยบายแก่พรรคการเมืองได้ ตนขอตอบในภาพรวม เพื่อยกตัวอย่างบางประเด็น เริ่มจากต้องเข้าใจการศึกษาทั้งระบบ ตั้งแต่เนอร์สเซอรี่ (เตรียมก่อนอนุบาล) ชั้นอนุบาล ชั้นประถม ชั้นมัธยม ไปจนถึงอาชีวะ และมหาวิทยาลัย ซึ่งในระดับมหาวิทยาลัยคือ ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก “สายพาน” การศึกษาในระบบเหล่านี้ ต้องจัดแจงให้สอดรับตลอดเส้นทาง เพื่อให้เกิดคุณภาพส่งต่อกันได้อย่างดี และเป็นเรื่องที่ต้องดูจุดเด่นในแต่ละจุด แต่ละช่วงวัย
.
“ส่วนตัวไม่เชื่อว่า ตอนเด็กต้องไปเน้นเรื่องวิชาการมาก แต่ควรเน้นเรื่องลักษณะชีวิต บุคลิก นิสัย เมื่อโตขึ้นอีกระดับ ก็เน้นเรื่องทักษะต่างๆ เน้นเรื่องความรู้ตามมา”
.
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการศึกษาของประเทศไทย บังคับให้เด็กอนุบาลต้องบวกลบเลข 4 หลักได้ คูณได้ ซึ่งมองว่ามากไป เหมือนเด็กเรียนผิดที่ ควรฝึกเด็กให้มีคุณภาพชีวิต มีนิสัยที่เข้ากับคนได้ ทำงานเป็นทีม มีความรับผิดชอบ มีความอุตสาหะพากเพียร โดยเฉพาะเรื่องนิสัยใจคอเป็นเรื่องใหญ่ ต้องร่วมกับพ่อแม่
.
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องของแนวคิดว่ากระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานด้านการศึกษาจะโยงกับหน่วยงานภายนอกกระทรวงอย่างไร มีการศึกษาในระบบการศึกษา นอกระบบการศึกษาตามอัธยาศัยต้องทำอย่างไร ต้องจัดผังความคิดการศึกษาทั้งหมดให้ดีว่า จะปรับสภาพอย่างไร เพื่อให้การศึกษาสามารถก้าวได้เป็นขั้นๆ จนไปถึง “ดวงดาว” ในสถานการณ์ที่บุคลากรและงบประมาณยังมีน้อย ไม่เพียงพอ
.
“มันต้องมียุทธศาสตร์และแผนพิมพ์เขียวการศึกษาชาติ ตนอยากเห็นพรรคการเมืองต่างๆ คลี่แผนเหล่านี้ออกให้ดูและบอกว่าใน 4 ปีข้างหน้า บนแผนนี้ระยะยาว จะทำแค่นี้เพราะอะไรในข้อจำกัด อยากฟังนักการศึกษาของพรรคการเมืองออกมาพูดให้มันชัดเจน ตอนนี้ตนไม่ได้ยินอะไรและก็ยังไม่เห็นเลยว่ามันมีแนวทางอะไรที่มันเห็นแสงในถ้ำปลายอุโมงค์ ก็มีความหนักใจว่า การบ้านพรรคการเมืองทำงานน้อย “สุกเอาเผากิน” ตอนใกล้เลือกตั้ง ไม่มีคนประจำพรรคที่เชี่ยวชาญทำเรื่องนี้จริงๆ”
.
“โฟกัส” สร้าง “แม่พิมพ์” ดี ติดอาวุธเด็กไปตลอดชีวิต
.
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ ยังมอง “แก่นหลัก” ที่จะทำให้การศึกษามีคุณภาพ ว่าต้องมีแนวทางคัดเลือกครูที่เป็นคนดี คนเก่ง และมีการเรียนรู้ที่ดีในการทำให้เด็กคิดเป็น คิดบวก คิดครบ คิดดี ความคิดเหล่านี้ จะสร้างในตัวเด็กและถือเป็นอาวุธที่เด็กสามารถนำไปใช้กับทุกสิ่งในชีวิต จุดนี้เป็นพื้นฐานสำหรับเด็กแต่ยังไม่เห็นพรรคการเมืองพูดว่าจะทำอย่างไร
.
อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ ยอมรับ หากให้เรียงลำดับการแก้ไขด้านการศึกษาคงทำได้ยาก เพราะมีข้อจำกัดจากอดีตที่แก้กันไม่ค่อนได้ แต่หากต้องการทำให้ดีขึ้น มีข้อเสนอ 2 แนวทาง ได้แก่ 1.ทำให้โรงเรียนบางโรงเรียนเป็นโรงเรียน “ดีเลิศ” เพื่อช่วยสร้างบุคลากรที่ดีเลิศ และ2.ทำให้โรงเรียนทุกโรงเรียนมีมาตรฐานที่ดีโดยเฉลี่ย ต้องมีทั้งสองแบบ โดยคัดเลือกว่าโรงเรียนใดเข้าเกณฑ์มีคุณภาพเป็นเลิศรายโรงเรียน ต้องมียุทธศาสตร์ทำสิ่งนี้
.
พร้อมยกตัวอย่าง โรงเรียนขนาดเล็ก ครูน้อยคน สอนทุกวิชา ทุกชั้น ไม่มีทางเป็นเลิศได้ ต้องแก้ปัญหาโครงสร้างนี้ให้ได้ด้วย และต้องแก้ปัญหาครูในเรื่องจิตวิญญาณความเป็นครู ตนคิดว่าต้องทำให้ในการปฏิรูปให้ครูมีจิตวิญญาณความเป็นครู ตั้งใจสอน ต้องแก้ปัญหาครูที่ไม่ใส่ใจอยากจะเป็นครูจริงๆ นำออกจากระบบ แล้วเอาครูที่ดีมาให้ได้
.
นี่จะเป็นวิธีแก้ในระยะยาว และอีกเรื่องที่อยากให้ดำเนินการคือทรัพยากรที่ไม่เพียงพอจากภาครัฐ ต้องคิดว่าจะระดมทรัพยากรจากภาคประชาชนอย่างไรมาเสริม เพื่อทำให้โรงเรียนมีทรัพยากรเพียงพอ ทำให้เกิดคุณภาพโรงเรียน
.
“โลกในวันนี้เป็นโลกแห่งดิจิทัลไลเซชั่น (Digitalization) เป็นโลกที่ต้องใช้ดิจิทัลเป็นปกติ โดยต้องทำให้ออนไลน์มีประสิทธิภาพจริง เด็กใช้จริง เด็กเรียนรู้จริง สำหรับออนไลน์และออนไซต์ มีข้อดีข้อเสียอยู่ ครูต้องดูให้ออกว่า แต่ละอย่างมีข้อดี ข้อเสียอะไร แล้วนำไปใช้ผสมผสานแบบถูกต้อง เพื่อให้สามารถใช้ออนไลน์ให้คุ้มค่าอย่างแท้จริง และเมื่อวัดผลแล้วได้ผลลัพธ์ที่ดี” ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ ทิ้งท้ายฝากถึงการศึกษาไทยในอนาคต