วิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคนเนดี้ เชื่อมต่อผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อพัฒนางานประชาธิปไตย

การพัฒนาองค์ความรู้ให้เจริญก้าวหน้าอย่างเป็นพลวัตเป็นภารกิจสำคัญประการหนึ่งของสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัย ในฐานะองค์กรแห่งความรู้และองค์กรวิจัยมหาวิทยาลัยควรสร้างสรรค์แนวทางการพัฒนาองค์ความรู้ดังกล่าวนี้อย่างเป็นพลวัต โดยให้มีความเชื่อมโยงกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของสังคม

ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกที่มีการพัฒนาองค์ความรู้สนับสนุนการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าของประเทศและสังคมโลก โดยการพัฒนาองค์ความรู้ดังกล่าวนี้มีการเชื่อมโยงกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างเป็นพลวัต เช่น การเปลี่ยนแปลงทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมือง การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น

วิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคนเนดี้เป็นอีกหนึ่งวิทยาลัยที่มีการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าขององค์ความรู้ดังกล่าวนี้ผ่านหลากหลายช่องทาง โดยช่องทางสำคัญช่องทางหนึ่งคือ การเชื่อมโยงเกาะเกี่ยวนำเทคโนโลยีร่วมสมัยมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเรียนรู้ทางด้านประชาธิปไตยให้แก่นักศึกษา

ตัวอย่างล่าสุดที่ผ่านมาศูนย์ที่ผมเคยร่วมสังกัดแห่งหนึ่งชื่อ ศูนย์แอชเพื่อนวัตกรรมและการปกครองแบบประชาธิปไตย (Ash Center for Democratic Governance and Innovation) ณ วิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคนเนดี้ (Harvard Kennedy School) ออกมาประกาศรายนามเฟลโลทางด้านเทคโนโลยีและประชาธิปไตยชุดใหม่ล่าสุด (newest cohort of Technology and Democracy Fellows) สำหรับครั้งนี้ประกอบด้วยผู้นำทางด้านเทคโนโลยีและดิจิตอล  จำนวนทั้งหมด 6 ท่านจากทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา เช่น ผู้อำนวยการความเป็นหุ้นส่วนกับชุมชน บริษัทเฟสบุ๊ก หัวหน้างานนโยบาย ลินคอล์น เน็ตเวิร์ค (Lincoln Network) ผู้นำทางด้านผลกระทบทางสังคมและนโยบายสาธารณะของสื่อสังคมออนไลน์ทัมเบลอร์ (Tumblr) เป็นต้น

เฟลโลดังกล่าวเหล่านี้จะถูกแสดงให้เห็นถึงความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างความเข้มแข็งของประชาธิปไตยผ่านทางการมีส่วนร่วมของพลเมือง การเสริมสร้างพลังทางสังคม และรัฐบาลที่มีความโปร่งใสและเข้าถึงได้ง่าย ออกแบบให้เป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างนักศึกษาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคนเนดี้และโลกเทคโนโลยี นโยบาย และรัฐบาล ที่สำคัญ ซึ่งในระหว่างปีการศึกษา เฟลโลดังกล่าวเหล่านี้จะมีส่วนร่วมทำโปรเจ็คเช่นเดียวกับครั้งที่ผ่านมาที่ทำโปรเจ็คหลายโปรเจ็คด้วยกัน เช่น การทำวิจัยเกี่ยวกับบทบาทของปัญญาประดิษฐ์ในรัฐบาล (the role of artificial intelligence in government)[1] อนาคตคาดว่าปัญญาประดิษฐ์หรือ AI จะเข้ามามีบทบาทในแวดวงต่าง ๆ มากขึ้น รวมถึงการทำงานของรัฐบาลด้วยเช่นเดียวกัน เป็นต้น อีกทั้งยังจะมีบทบาทในการนำชุดการประชุมเชิงปฏิบัติการภาคปฏิบัติให้กับนักศึกษาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคนเนดี้เกี่ยวกับแนวคิดและทักษะทางด้านเทคโนยีอีกด้วย[2]

เฟลโลทางด้านเทคโนโลยีและประชาธิปไตยของศูนย์แอชเพื่อนวัตกรรมและการปกครองแบบประชาธิปไตยดังกล่าวเป็นช่องทางสำคัญที่จะทำให้นักศึกษาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคนเนดี้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้และได้รับการพัฒนาความรู้และทักษะทางด้านเทคโนโลยีและดิจิตอลจากผู้นำทางด้านนี้โดยตรง ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนและการทำงานของนักศึกษาแล้ว ยังเป็นประโยชน์การพัฒนาประชาธิปไตยด้วยอีกทางหนึ่ง

กรณีมหาวิทยาลัยไทย โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัต มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องปรับตัวสร้างสะพานเชื่อมต่อให้แก่นักศึกษาและประชาคมมหาวิทยาลัยในการพัฒนาองค์ความรู้ให้กว้างขวางและกว้างไกลมากยิ่งขึ้น โดยการเชื่อมโยงเทคโนโลยีร่วมสมัยมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์ความรู้ เชื่อมต่อโลกวิชาการและโลกจริงเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อมากที่สุด เพื่อเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษา ประชาคมมหาวิทยาลัย และการสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ให้แก่ประเทศชาติและสร้างคุณูปการต่อโลก อีกทั้งยังจะเป็นโอกาสหรือช่องทางให้ผู้นำทางด้านเทคโนโลยีมีส่วนนำความรู้ความสามารถของตนเองมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประชาธิปไตยด้วย

 

[1] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://news.harvard.edu/gazette/story/newsplus/ash-center-introduces-2018-19-technology-and-democracy-fellows/

[2] เรื่องเดียวกัน.

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 50 วันศุกร์ 24 – พฤหัสบดี 30 สิงหาคม 2561

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *