ผมเคยนำเสนอความคิดเอาไว้เกี่ยวกับบทบาทของการวิจัยในฐานะเป็นเครื่องมือการแก้ปัญหาระดับชาติ โดยเสนอให้คณาจารย์และนักศึกษาเน้นทำวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ของประเทศ เร่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีสมรรถนะทางด้านการวิจัยสร้างนวัตกรรม ผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมการวิจัยทุกระดับสำหรับเตรียมกำลังคนทางด้านการวิจัยของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยในฐานะองค์กรวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงควรให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวนี้อย่างจริงจัง พร้อมทั้งควรผลักดันให้มีการเชื่อมต่อการวิจัยกับภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมให้เกิดบริบทต่อยอดสู่การใช้งานจริงหรือเชิงพาณิชย์
การทำวิจัยทุกระดับของมหาวิทยาลัยควรมีเป้าหมายมุ่งสู่การพัฒนาและแก้ปัญหาของประเทศ เริ่มตั้งแต่การกำหนดโจทย์วิจัยที่เป็นประโยชน์ทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติ เป็นการวิจัยที่มุ่งหวังสร้างให้เกิดผลกระทบต่อประเทศชาติและสังคมอย่างแท้จริง
วิทยาลัยสาธารณสุขฮาร์วาร์ดหรือที่รู้จักกันในชื่อของ Harvard T.H. Chan School of Public Health เช่นเดียวกัน เป็นวิทยาลัยที่มีบทบาทสำคัญทางด้านการทำวิจัยแก้ปัญหาสุขภาพทั้งระดับประเทศและระดับโลก ล่าสุดที่ผ่านมาวิทยาลัยดังกล่าวนี้มีการทำวิจัยค้นพบข้อมูลทางด้านสุขภาพที่สำคัญของประเทศอินเดียคือ การค้นพบว่าอัตราการเกิดโรคเบาหวาน (diabetes) และความดันโลหิตสูง (hypertension) ของประชากรวัยกลางคนและวัยผู้สูงอายุในประเทศอินเดียอยู่ในระดับสูง โครงการนี้เป็นโครงการวิจัยชิ้นแรกที่ศึกษาสภาวะเหล่านี้ในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนประชากรระดับประเทศ ไม่เพียงเท่านั้น การวิจัยดังกล่าวนี้ยังค้นพบอีกด้วยว่า อัตราการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงของประชากรวัยหนุ่มสาวในประเทศอินเดียอยู่ในระดับสูงอย่างไม่คาดคิดด้วยเช่นเดียวกัน
การศึกษาวิจัยครั้งนี้นำโดยนักวิจัยของวิทยาลัยสาธารณสุขฮาร์วาร์ด มีการใช้ข้อมูลทางด้านสุขภาพที่เก็บจากประชากรวัยผู้ใหญ่จำนวน 1,320,555 คนทั่วประเทศอินเดียในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2012 – 2014 ผลการศึกษาถูกเผยแพร่ในวารสารสมาคมแพทย์สหรัฐ (JAMA Internal Medicine) แบบออนไลน์ในช่วงเดือนมกราคม ค.ศ. 2018 ที่ผ่านมา[1] ทั้งนี้ผลการศึกษาคาดว่าจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อการตัดสินใจในระดับนโยบายและการปฏิบัติทางด้านการดูแลสุขภาพของประชากรในประเทศอินเดียต่อไป
การวิจัยค้นพบข้อมูลทางด้านสุขภาพที่สำคัญของประเทศอินเดียดังกล่าวนี้เป็นตัวอย่างประการหนึ่งของการวิจัยแก้ปัญหาประเทศตามความคิดของผม อันเป็นการวิจัยที่ส่งผลสร้างให้เกิดนวัตกรรมผลกระทบ (Impact innovation)[2] ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านสุขภาพในระดับประเทศ เป็นแนวทางการทำวิจัยสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่ไหลสู่สังคมอย่างแท้จริง
ผมคิดว่า มหาวิทยาลัยจะไม่สามารถเป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์ได้หากปราศจากการวิจัย และมหาวิทยาลัยการสอนและมหาวิทยาลัยวิจัยไม่สามารถแยกออกจากกันได้ มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องสามารถบูรณาการทั้งสองภารกิจดังกล่าวนี้ให้เอื้อต่อการพัฒนานักศึกษาและเสริมสร้างความเข้มแข็งหรือความแข็งแกร่งให้แก่ประเทศชาติสังคมด้วยเช่นเดียวกัน
สุดท้ายนี้ ผมอยากจะทิ้งท้ายด้วยคำพูดของผมที่ว่า “ถ้าไม่ต้องการให้ประเทศฟกช้ำดำเขียวด้วยการลองเล่นทางความคิด ต้องมีงานวิจัยรองรับที่น่าเชื่อถือ เพื่อทำให้เราเองนั้นบอกว่าเรากำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศไปทางใด”[3] การวิจัยที่ดีจะเป็นประตูไขสู่การพัฒนาความเจริญก้าวหน้าของประเทศ หากเราจริงใจไม่ต้องการให้ประเทศชาติฟกช้ำดำเขียว เราจำเป็นต้องทำวิจัยที่ดีเป็นพื้นฐานการพัฒนาขับเคลื่อนประเทศ
[1] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://news.harvard.edu/gazette/story/newsplus/high-rates-of-diabetes-hypertension-found-in-india/
[2] ผมเคยนำเสนอความคิด นวัตกรรม 3 ระดับ อันประกอบด้วย นวัตกรรมความคิด (Ideation innovation) นวัตกรรมสิ่งปฏิบัติ (Implementation innovation) (Impact innovation) และนวัตกรรมผลกระทบ ในการปาฐกถานำเรื่อง “การศึกษาคือนวัตกรรม” ในการประชุมงานวิจัยมหาวิทยาลัย จัดโดย ฝ่ายวิชาการ สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยรังสิต ณ ห้อง Auditorium ชั้น 2 อาคาร 15วันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2556.
[3] ผมนำเสนอในการบรรยายหัวข้อ “นวัตกรรมการวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฎ : การพัฒนาศักยภาพการแข่งขันและสนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” การประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ราชภัฏวิจัย ครั้งที่ 4 ภายใต้ชื่อ การสร้างสรรค์นวัตกรรมและงานวิจัย มาตรฐานการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา คลังปัญญาในการบริการวิชาการสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืนของชุมชน 4th Rajabhat University National and International Research and Academic Conference theme of “Creative Innovation and Research, Production and Development of Educational Personnel with High Standards, and Brain Bank via Academic Services for Community’s Strength and Sustainability” จัดโดย สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ร่วมกับ เครือข่ายราชภัฏ และ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 เวลา 10.00 – 12.00 น..
ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 24 วันศุกร์ 23 กุมภาพันธ์ – พฤหัสบดี 1 มีนาคม 2561
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com