รู้อะไรไม่สู้…รู้จักตัวเอง

สมัยนี้จบปริญญาตรีไม่พอ ต้องต่อปริญญาโท ปริญญาเอก เพราะถ้ามีความรู้สูง เราย่อมมีโอกาสก้าวหน้ามากกว่า…
สมัยนี้เรียนรู้จากสถานศึกษาไม่พอ ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต ต้องขวนขวานหาความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มเติม ทั้งการเข้าร่วมอบรมสัมมนา เข้าร่วมหลักสูตรต่าง ๆ เรียนรู้เครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพื่อให้ทันโลก มิเช่นนั้นจะตกยุค ไม่สามารถแข่งขันได้…
ในปัจจุบันคนจำนวนมากต่างพยายามมุ่งขวนขวายในการพัฒนาตนเอง ทั้งในด้านทักษะความรู้ความสามารถทั้งในและนอกระบบ การเรียนรู้เป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งหนึ่งที่คนส่วนใหญ่กลับหลงลืมและละเลยไปอย่างน่าเสียดาย นั่นคือ ?การเรียนรู้จักตนเอง?

การรู้จักตนเอง คือ การรู้ว่าตนเองเป็นใคร มีความถนัด ความชอบ ความสามารถอะไร มีข้อดีข้อด้อยตรงไหน มีแผนการและเป้าหมายชีวิตอย่างไร

การรู้จักตนเองนับเป็นพื้นฐานสำคัญที่เราควรเรียนรู้เป็นอันดับแรกสุดในชีวิต เพราะจะนำไปสู่ความสุขและความสำเร็จในการดำเนินชีวิต เนื่องจากการรู้จักตนเองทำให้เรา ใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมาย เพราะรู้ว่าตนมีความถนัดความชอบและความสามารถในด้านใด ดังนั้น จึงรู้ว่าตนควรจะเรียนอะไร ประกอบอาชีพอะไร ควรแสวงหาความรู้อะไรเพิ่มเติม และสามารถ พัฒนาตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะรู้ข้อดีข้อด้อยของตน จึงรู้ว่าควรแก้ไขปรับปรุงตรงจุดใด เช่น เมื่อเรารู้ตัวว่าเป็นคนใจร้อน เมื่อมีเหตุการณ์ที่เรารู้ว่าหากอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้อาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงได้ ดังนั้น เราจึงเลือกที่จะแยกตัวออกมามานั่งสงบสติอารมณ์เพื่อคิดหาวิธีการแก้ไขที่ดีที่สุด เป็นต้น

ที่สำคัญ การรู้จักตนเองช่วยให้เรา ค้นพบความสุขที่แท้จริงในสิ่งที่ตนเลือกทำ เนื่องจากรู้ว่าอะไรที่ทำแล้วจะทำให้คนเองมีความสุขได้ และนำไปสู่การเรียนรู้จักและเข้าใจผู้อื่นได้มากยิ่งขึ้น อันเป็นการลดปัญหาความขัดแย้งและนำไปสู่มิตรภาพที่ดีตามมา
ตรงกันข้ามกับผู้ที่ไม่รู้จักตนเอง ซึ่งมักใช้ชีวิตโดยปล่อยไปตามกระแสสังคม เลียนแบบทำตามคนรอบข้างโดยขาดจุดยืนที่ชัดเจน เช่น เลือกคณะที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยตามค่านิยมขณะนั้นหรือเลือกตามเพื่อน เลือกแต่งงานกับคนที่มีฐานะดีมากกว่าคนที่รักเราจริง ๆ เลือกงานที่เงินเดือนสูงมากกว่างานที่ใจรักหรือชอบจริง ๆ เลือกใช้สินค้าฟุ่มเฟือยตามแฟชั่นแทนสินค้าราคาประหยัดที่มีคุณภาพในระดับเดียวกัน ฯลฯ สุดท้ายเขาจึงไม่สามารถพบกับความสุขที่แท้จริงในชีวิตได้และนำไปสู่ปัญหามากมายตามมา
ทักษะการรู้จักตนเองจึงเป็นทักษะสำคัญที่เราทุกคนต้องเรียนรู้และฝึกฝน อาทิ

ตั้งคำถามและตอบตัวเอง ในเรื่องสำคัญ ๆ ที่เราได้ตัดสินเลือก เช่น เลือกเรียน เลือกงาน เลือกใช้ชีวิต ฯลฯ เราทำสิ่งนั้นเพราะอะไร เราต้องการให้ชีวิตเป็นเช่นไร สิ่งที่เราเลือกสอดคล้องกับความต้องการและเป้าหมายชีวิตของเราหรือไม่ เราต้องการสิ่งนั้นจริงหรือไม่ เราทำเพราะเห็นคุณค่า เห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น หรือทำเพราะอะไร และคุ้มค่าที่จะใช้ชีวิตเพื่อทำสิ่งนั้นหรือไม่ เพื่อค้นหาคำตอบว่า เราต้องการอะไร สิ่งใดที่เหมาะสมกับเรา เมื่อทำแล้วจะไม่เสียใจภายหลัง

สังเกตการตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อวิเคราะห์ตนเองว่า มีนิสัยอย่างไร ดีหรือไม่อย่างไร ควรปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาให้ดีขึ้นตรงไหน เช่น เราตอบสนองเมื่อมีคนมาบอกว่าเราทำผิดอย่างไร ? เราพูดแก้ตัว โยนความผิด ปฏิเสธไว้ก่อน หรือนำมาพิจารณา ถ้าผิดจริงก็ยอมรับและพร้อมแก้ไข เป็นต้น เราควรวิเคราะห์ตนเองอย่างเป็นธรรม และหากรู้ว่าเป็นสิ่งไม่ดี ไม่เหมาะสม ก็ควรเปลี่ยนมุมมองความคิดใหม่ เปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ หาแนวทางแก้ไข พร้อมหาทางแก้ไขปรับปรุง พัฒนาตนเองให้ดีขึ้น
ฉวยโอกาสทำงานที่หลากหลาย ไม่เลือกงานแต่พยายามเรียนรู้และทดลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน อย่าเพิ่งบอกปัด หรือปฏิเสธไปในทันที แม้ดูเหมือนงานนั้นจะเป็นงานที่ยากเกินความสามารถก็ตาม โดยระหว่างทางที่เราได้ทำงานใหม่ ๆ นั้นจะทำให้เราได้เรียนรู้จักตัวเองมากยิ่งขึ้นทั้งจุดอ่อน จุดแข็ง สิ่งใดที่ชอบ หรือไม่ชอบ ผ่านงานที่ทำ อาทิ ทำงานอื่นนอกเหนือไปจากงานประจำที่ทำอยู่ เช่น งานอาสาสมัครต่าง ๆ ซึ่งนอกจากทำให้เราได้รับประสบการณ์แปลกใหม่ในการเรียนรู้จักตนเองและผู้อื่นเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นการเปิดโลกกว้างให้เราได้เห็นมุมมองใหม่ของผู้ที่ด้อยโอกาส ยากจน ยากลำบากกว่าเรา ซึ่งอาจทำให้เราได้ค้นพบตัวเองในมุมที่แตกต่างออกไปอย่างคาดไม่ถึง

รับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ ในการที่เราจะรู้จักตนเองมากยิ่งขึ้นนั้น จำเป็นต้องอาศัยคนรอบข้างให้มาช่วยเหลือในการเป็นกระจกเงาคอยสะท้อนชีวิตของเราในบางด้านบางมุมที่เราไม่เคยรู้มาก่อน หรืออาจคิดเข้าข้างตัวเองว่าเราไม่ได้เป็นเช่นนั้น ดังนั้น จึงต้องพร้อมฟังคำแนะนำ คำตักเตือน น้อมรับคำวิพากษ์วิจารณ์นำมาพิจารณาและหาทางปรับปรุงในส่วนที่เป็นจุดอ่อนให้กลายเป็นจุดแข็งในอนาคต

การเรียนรู้จักตนเองอย่างถ่องแท้นับเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญมากยิ่งกว่าการเรียนรู้ใด ๆ การเรียนรู้จักตนเองเป็นกระบวนการเรียนรู้ระยะยาวตลอดทั้งชีวิต โดยหัวใจสำคัญคือฉวยโอกาสเรียนรู้จากงานต่าง ๆ กล้าที่จะฟังคำวิพากษ์ ฝึกฝนในการวิเคราะห์ตัวเองผ่านสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งแม้เราอาจต้องพบกับความจริงที่เจ็บปวดบ้างเกี่ยวกับตัวตนที่แท้จริงของเรา แต่ในระยะยาวนั้นการรู้จักตนเองจะนำมาซึ่งความสุขและเป็นรากฐานของความสำเร็จในชีวิตอย่างแน่นอน

 

ที่มา:?งานวันนี้
ปีที่ 17 ฉบับที่ 734 วันที่ 28 เม.ย.-5 พ.ค. 2558

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com,?http://www.kriengsak.com

แหล่งที่มาของภาพ :?http://www.bloggang.com/data/deeplove/picture/1207241313.jpg