รู้ทันพวก ‘หลงตัวเอง เก่งสร้างภาพ’

?คนทำงานเก่ง แต่นำเสนอไม่เก่ง = ไม่เก่ง
คนทำงานไม่เก่ง แต่นำเสนอเก่ง = เก่ง?

คำกล่าวเหน็บแนมที่หลายคนคงยอมรับว่า เป็นความจริง…ในแวดวงการทำงาน
คนส่วนใหญ่มักจะตัดสินคนจากภายนอก …ถ้าพูดเก่ง นำเสนอตนเอง นำเสนองานเก่ง ก็มักจะได้รับการประเมินว่า เก่ง ทั้ง ๆ ที่อาจจะทำงานไม่เก่ง ทำงานไม่เป็น ขาดความรับผิดชอบ ขณะที่คนทำงานได้ดีกว่า มีความรับผิดชอบมากกว่า แต่กลับพูดไม่เป็น นำเสนอไม่เก่ง มักจะถูกประเมินว่า ไม่เก่ง …

เป็นความจริงที่ว่า เรามีโอกาสถูกหลอกด้วยคนที่ ?ดูดี? แต่ ?ทำไม่ได้จริง?
บาร์โบรา เนวิคกา (Barbora Nevicka) นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม ได้ทำการทดลองพบว่า พนักงานจะให้คะแนนผู้นำที่ดูน่าเลื่อมใส (charismatic leaders) แม้ว่าผู้นำคนนั้น จะไม่สามารถทำงานได้ดีก็ตาม ซึ่งเป็นการประเมินค่าความสามารถของผู้นำที่เชื่อมั่นในตัวเองสูงเกินจริง

นักวิจัยได้นำคน 150 คนเข้าร่วมการทดลอง โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม โดยคนหนึ่งในแต่ละกลุ่ม จะถูกสุ่มเลือกให้เป็นผู้นำกลุ่ม และทั้งสามคนจะต้องคัดเลือกผู้สมัครชิงตำแหน่งงาน ข่าวสารเกี่ยวกับผู้สมัครชิงตำแหน่งจะถูกแจกจ่าย ส่วนหนึ่งให้สมาชิกบางคน ส่วนหนึ่งให้ทั้งกลุ่ม ซึ่งสมาชิกของแต่ละกลุ่มสามารถแสดงความคิดเห็น ให้คำแนะนำต่าง ๆ กับผู้นำของตนได้ แต่ผู้นำกลุ่มจะรับผิดชอบต่อทุกการตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียว

จากการทดลองพบว่า พนักงานมีแนวโน้มมองว่า ผู้นำที่หลงตัวเองเป็นคนที่มีประสิทธิภาพที่สุด เพราะผู้นำที่หลงตัวเองจะพยายามทำให้ผู้อื่นเชื่อว่า ตนเองสามารถเป็นผู้นำได้ แสดงออกภายนอก ได้อย่างน่าเชื่อถือ ทำให้ได้รับการยอมรับ ถูกทำให้คล้อยตามได้ง่าย และจะปิดบังข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับผู้สมัคร เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางและใช้อำนาจโน้มน้าวคนอื่นให้ต้องคล้อยตาม ทำให้เลือกผู้สมัครที่ผิดเข้าทำงาน

ที่สำคัญ ขณะที่ผู้นำที่หลงตัวเองพยายามทำให้ผู้อื่นเชื่อว่า ตนเองสามารถเป็นผู้นำได้ เขาก็ ?หลอกตัวเอง? ไปด้วย เกิดการตอกย้ำความคิดความเชื่อว่า ตัวเองเก่งจริง ฉลาดจริง ความหลงตัวเองเช่นนี้จะ ?ลดทอน? ความคิดสร้างสรรค์ การใช้เหตุผล การประเมินสถานการณ์อย่างสมจริง คนเหล่านี้มักปฏิเสธข้อมูล ความคิดเห็นต่าง ๆ จากเพื่อนร่วมงาน ไม่ฟังใคร และมักจะหมกมุ่นอยู่กับตนเอง เพื่อให้ตนเองโดดเด่นในที่ทำงาน หวังให้คนเห็นสิ่งที่ทำ และชื่นชมเท่านั้น จึงมักเป็นเหตุให้ตัดสินใจผิดพลาดได้โดยง่าย

หลายองค์กรกว่าจะรู้ตัวว่า เลือกคน ?หลงตัวเอง? เป็นผู้นำ ….ความเสียหายก็ได้เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น จึงจำเป็นต้องรู้ทันคนเหล่านี้ เพื่อประเมินและบริหารจัดการอย่างเหมาะสม

ชะลอความประทับใจ …เปลือกสวย เนื้อในต้องสวยด้วย คนหลงตัวเองอาจจะ ?หลอก? ทั้งตัวเองและคนอื่น ๆ ด้วย คนเหล่านี้จะเก่งในการสร้างภาพลักษณ์แห่งความประทับใจให้กับคนรอบข้าง ภายนอกจะดูดี แต่งตัวดี บุคลิกดี มนุษยสัมพันธ์ดี พูดจาฉะฉาน เต็มไปด้วยความเชื่อมั่นในตัวเอง ใช้คำพูดที่ดูดีน่าเชื่อถือ ชอบแสดงทัศนะ เสนอแนะทางแก้ปัญหา แสดงตนช่วยเหลือ จัดการสิ่งต่าง ๆ ชอบให้การยืนยันหรือรับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าทำได้ ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือว่า จะทำได้จริง

คนจำนวนไม่น้อยจึงถูกหลอกด้วยภาพลักษณ์และการแสดงออกภายนอก ทำให้คิดไปว่า คนนั้นเก่ง ต้องทำงานได้อย่างแน่นอน หลายองค์กรเลือกคนที่จะมาเป็นหัวหน้า เป็นผู้บังคับบัญชา จากภาพที่ปรากฎภายนอก และไว้วางใจให้บุคคลนั้นก้าวสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น แต่เมื่อได้รับตำแหน่งสูง มีอำนาจ มีคนภายใต้การบังคับบัญชา ความหลงตัวเองจะแสดงตัวตนชัดเจนขึ้น และหลังจากนั้นไม่นาน องค์กรจะพบว่า ?เลือกคนผิด? มีแต่ราคาคุย แต่ไม่สามารถทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมายได้

ดังนั้น ก่อนที่จะเลือกใครขึ้นทำหน้าที่บริหารจำเป็นต้องประเมินที่ ?ผลลัพธ์? ของงานที่วัดได้เป็นรูปธรรม ให้มั่นใจว่า ?เลือกคนที่ถูกต้องเหมาะสม? แม้อาจนำเสนอไม่เก่ง แต่สามารถทำงานได้จริง

จัดการพวกหลงตัวเอง…อย่าให้ขี่หลังเสือ จะเหลิงอำนาจ ผู้นำที่หลงตนเอง จะเชื่อมั่นในตัวเองอย่างเกินจริง มองปัญหาต่าง ๆ ที่อยู่ตรงหน้า เล็กน้อยกว่าความเป็นจริง และมักตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ ตามใจตนเอง โดยคิดว่าตัวเอง ?ทำได้? ?ตัดสินใจถูกต้อง? ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้วิเคราะห์สถานการณ์ หรือประเมินความเป็นไปได้อย่างแท้จริง แม้ว่าตนเองไม่มีความรู้ประสบการณ์ ทักษะความชำนาญในเรื่องนั้น

?ความเชื่อ? ว่าตนเองทำได้ มักเป็นเพียงความ ?หลงเชื่อในตัวเอง? อย่างเลื่อนลอย ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อเขาพยายามสร้างความเชื่อมั่นให้คนอื่น ๆ เชื่อใจ เชื่อมั่นในตัวเขา ใช้อำนาจบังคับโน้มน้าวผู้อื่นให้ต้องเชื่อฟังและกระทำตาม ไม่ชอบฟังเสียงคำทักท้วง ไม่ขอคำแนะนำ ดึงดันว่าตนเองคิดถูกและควรทำเช่นนั้น คนเหล่านี้มักมีคำพูดว่า ?เชื่อผมทำแบบนี้แหละ ถูกต้องแล้ว พวกคุณแค่ทำตามที่สั่งก็พอ?… ?มั่นใจได้ว่า ไอเดียอันล้ำเลิศของผม ต้องเหนือกว่าคนอื่น ๆ แน่นอน?… ?ผมไม่เคยตัดสินใจพลาด ไม่ต้องมาแนะนำหรอก เอาตามนี้แหละ?… ฯลฯ ในที่สุด เมื่อความผิดพลาดเกิดขึ้น ย่อมทำให้งานภาพรวมและองค์กรไปสู่ความล้มเหลวในที่สุด

ดังนั้น ก่อนที่คนเหล่านี้จะพาทั้งองค์กรสู่หายนะ จำเป็นต้องหยุดการกระทำของเขาเสียก่อน ด้วยการเข้าแทรกแซงการตัดสินใจ และใช้อำนาจบังคับบัญชาที่เหนือกว่าเข้าจัดการ โดยควบคุมให้คนเหล่านี้มีอำนาจตัดสินใจในขอบเขตที่จำกัด เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่สามารถสร้างความเสียหายได้ในอนาคต

ความเชื่อมั่นในตัวเองเป็นสิ่งที่ดี การนำเสนอตนเองไม่ใช่สิ่งผิด หากการแสดงออกนั้นเป็น ?ความจริง? ไม่ได้เกิดจากการหลงตัวเอง จนหลอกทั้งตัวเองและผู้อื่นได้อย่างแนบเนียน

ที่มา: งานวันนี้

ปีที่ 16 ฉบับที่ 723 วันที่ 3-10 ก.พ. 2558

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com,
http:// www.kriengsak.com

แหล่งที่มาของภาพ :?http://www.ejobeasy.com/images/23HRtip1.jpg