เหตุการณ์วินาศกรรมในพื้นที่ภาคใต้เมื่อวันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา ผมขอแสดงความเสียใจต่อญาติของผู้เสียชีวิตและผู้ได้บาดเจ็บในครั้งนี้ ซึ่งเบื้องต้นเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และขณะนี้ทุกฝ่ายก็กำลังทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่เพื่อให้สถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติ
ส่วนตัวผม นอกจากเคยใกล้ชิดกับเหตุการณ์ลักษณะนี้ในด้านงานวิชาการมากที่สุดแล้ว ผมยังเคยมีโอกาสได้เดินทางไปที่จังหวัดยะลาหลายครั้งมาก ซึ่งนอกจากจำนวนการตรวจตราที่เข้มงวดแล้ว สิ่งที่ผมสังเกต คือ การจอดรถที่นั่นจะจอดชิดเกาะกลางถนน เพราะหากเกิดการวางระเบิดในรถ จะลดการสูญเสียชีวิตทรัพย์สินได้ นับเป็นความฉลาดและรอบคอบมากทีเดียว
ขณะเดียวกันเมื่อผมอยู่กรุงเทพฯ และมีโอกาสได้เดินทางโดยรถไฟฟ้า ผมกลับเห็นการตรวจค้นวัตถุต้องสงสัยซึ่งทำได้อย่างจำกัดมาก
จนผมเกิดคำถามว่า หากทั้ง 2 แห่งเกิดเหตุระเบิดขึ้น ความปลอดภัยของผู้คนอยู่ที่ตรงไหน?
แม้เหตุการณ์ครั้งนี้จะเปรียบเทียบกับตัวอย่างที่ผมยกมาไม่ได้ทั้งหมด แต่หากคิดดูก็จะเห็นว่า หากประชาชนอย่างเรา ยังรับมือกับโอกาสในการเกิดความรุนแรงเช่นนี้ใน “แนวเดิม” ก็ไม่สามารถมั่นใจได้ว่าเราจะปลอดภัย เพราะเหตุการณ์วินาศกรรมเมื่อวันที่ 12 ที่ผ่านมา ผู้ก่อเหตุได้เปลี่ยนไปใช้รูปแบบ “ใหม่”
– ใช้ “ช่วงเวลาใหม่” ใช้วันสัญลักษณ์ใหม่ และช่วงเวลาก่อเหตุเป็นช่วงหลังผลประชามติไม่ถึงสัปดาห์
– ใช้ “พื้นที่ใหม่” ใช้พื้นที่ทางความมั่นคงใหม่ (สถานที่ท่องเที่ยว) ซึ่งย่อมจะรับมือกับเหตุการณ์นี้ได้ไม่สมบูรณ์
– ใช้ “วัตถุพยานใหม่” โทรศัพท์ที่ใช้ก่อเหตุทุกจุดสันนิษฐานว่าซื้อมาจากประเทศมาเลเซียทั้งหมด
ดังนั้นหากเรายังจัดการกับเรื่องนี้ใน “แบบเดิม”
– “หลายคน” ใช้ทัศนคติ “แบบเดิม” ไม่ระมัดระวัง โดยอาจชะล่าใจว่า “ไม่มีใครกล้าก่อเหตุในวันหรือพื้นที่นี้”
– “หลายกลุ่ม” ใช้การแสดงออก “แบบเดิม” กล่าวหาอีกฝั่งว่า “แกทำ” โดยมองความเป็นธรรมจากมุมของตัวเอง
– “หลายทางออก” ใช้วิธีการรับมือ “แบบเดิม” แม้อาจเห็นผลในระยะหนึ่ง แต่ขณะนี้ “หลายอย่างได้เปลี่ยนไปแล้ว”
คง “ไม่เพียงพอ” ที่จะเชื่อว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย และความสูญเสียจะเป็นครั้งท้ายสุด
ดังนั้น ผมจึงอยากเสนอแนวทางใหม่ๆ ซึ่งผมมองว่าสิ่งที่คนในสังคมไทยต้องยกระดับ คือ “ความสมดุล”
ซึ่งจำเป็นต้องเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม ตั้งแต่รากฐาน คือ ระดับบุคคลไปจนถึงระดับประเทศ ดังนี้
“ทุกคน” ควรมีทัศนคติที่ “สมดุล”
เมื่อการก่อวินาศกรรมหรือก่อการร้ายในปัจจุบันมีโอกาสเกิดขึ้นทุกที่ การเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไกลตัว อาจนำไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ดังนั้น ควรคำนึงถึงความปลอดภัยไว้ก่อน คิดเผื่อเสมอว่าหากสถานที่นี้มีระเบิด หรือมีคนร้าย เราจะทำอย่างไร “แม้ไม่วิตก ก็ต้องมีสติ” พร้อมรับมือเสมอ
“ทุกกลุ่ม” ควรมีการแสดงออกที่ “สมดุล”
เมื่อสถานการณ์ใหม่ หากเรายึดติดกับกลุ่มบุคคลที่มักก่อเหตุกลุ่มเดิมๆ อาจผิดพลาดได้ง่าย ดังนั้น ก่อนกล่าวหาฝ่ายใดให้ฟังทุกฝ่าย “ใช้เวลาในการรับข้อมูล ให้เวลาเจ้าหน้าที่ได้ทำงาน” ทุกการวิเคราะห์ควรมีหลักฐาน และไม่ควรกดดันการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้การตัดสินใจเกิดการผิดพลาด หรืออาจจับคนร้ายผิดคนได้
“ทุกทางออก” ควรใช้วิธีการรับมือที่ “สมดุล”
ความรุนแรงครั้งนี้ยืนยันได้ว่า รากของปัญหายังไม่ถูกแก้ไขทั้งหมด แม้สถิติอาจบอกว่าประเทศไทยจัดการกับวิกฤติด้านความมั่นคงได้ดีกว่าหลายๆชาติ แต่ในทุกมิติในระยะยาวหรือเทียบกับชีวิตของผู้สูญเสียซึ่งประเมินเป็นตัวเลขไม่ได้แล้ว คงต้องคำนึงว่าเราได้ “แก้ไขปัญหาความขัดแย้ง พร้อมกับการดูแลความปลอดภัย” ในชีวิตของประชาชนไปมากน้อยเพียงใด
เบื้องต้นเราทุกคนควรทำความเข้าใจว่า ปัญหาเหล่านี้จะหมดได้ยาก หากเราไม่คำนึงถึงความสมดุลในความแตกต่างของกันและกัน
ซึ่งเวลานี้การแสดงออกที่สมดุลที่สุด คือการให้กำลังใจผู้สูญเสีย และตระหนักว่า หากเราไม่ยึดความสมดุล ย่อมนำมาซึ่งความสูญเสีย
ดังนั้นผมจึงเห็นว่าอาจถึงเวลาแล้ว ที่เราต้องจัดการกับเรื่องนี้ในแนวทางใหม่ๆ ดูนะครับ