ยุทธศาสตร์ 20 ปีในการพัฒนาเมืองโคราช

เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ผมมีโอกาสเดินทางไปจังหวัดนครราชสีมา เพื่อบรรยายเรื่อง “ยุทธศาสตร์ 20 ปี ในการพัฒนาเมืองโคราช” ผมพบว่า เมืองโคราชในปัจจุบันมีการหลั่งไหลของการลงทุนเข้าไปอย่างคึกคัก ทั้งการลงทุนของภาครัฐในโครงการขนาดใหญ่ และการลงทุนของภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ โรงแรมแบรนด์ดัง โครงการอสังหาริมทรัพย์ และโรงงานอุตสาหกรรม

การพัฒนาเมืองโคราชมีความน่าสนใจว่า ควรจะพัฒนาไปในทิศทางใดเพื่อให้เกิดความเจริญเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ ประชาชนได้รับผลประโยชน์อย่างทั่วถึง และสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งผมมีข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองโคราช ดังต่อไปนี้

ยุทธศาสตร์ การสร้างเมืองเครือข่าย และเมืองเฉพาะทาง

นครราชสีมามีศักยภาพที่จะกลายเป็นมหานครในอนาคต เพราะเป็นจังหวัดขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศ มีประชากรกว่า 2.6 ล้านคน เป็นอันดับ 2 ของประเทศรองจากกรุงเทพมหานคร และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัดมากที่สุดในภาคอีสาน

อย่างไรก็ดี โคราชเพียงลำพังยังถือว่ามีขนาดไม่ใหญ่พอ และยังไม่ใช่ศูนย์การเจริญเติบโต (growth pole) ที่มีพลังมากพอ เพราะในอนาคตขนาดของเมืองเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการแข่งขันในเวทีโลก และจะเกิดเมืองขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศจีนและอินเดีย ซึ่งเมืองโคราชจะต้องแข่งขันกับเมืองขนาดใหญ่เหล่านี้ ทั้งในแง่การทำการค้า การดึงดูดการลงทุน ทรัพยากร บุคลากร และนักท่องเที่ยว

ผมเสนอว่า การพัฒนาเมืองโคราชควรเป็นลักษณะของเมืองเครือข่าย โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงระหว่างเมือง ทั้งด้านคมนาคม ระบบขนส่งระหว่างเมือง ระบบโทรคมนาคมและดิจิทัล การส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างเมือง เพื่อขยายความเจริญและสร้างพลังด้านขนาดของเมืองโคราช

นอกจากนี้ แต่ละเมืองควรได้รับการพัฒนาให้เป็น “เมืองเฉพาะทาง” ซึ่งมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว และองคาพยพต่างๆ ในเมืองต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น มหาวิทยาลัยท้องถิ่นต้องพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทาง ทั้งนี้จุดแข็งของแต่ละเมืองที่อยู่ใกล้เคียงกันจะต้องถูกพัฒนาให้สนับสนุนกันและกันด้วย

หากพิจารณานโยบายของรัฐบาลในการพัฒนากลุ่มจังหวัด “นครชัยบุรินทร์” ซึ่งประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ สิ่งที่น่ากังวล คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเน้นการเชื่อมโยงโคราชกับจังหวัดนอกกลุ่ม แต่ไม่กลับเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงภายในกลุ่มจังหวัด ซึ่งทำให้ขาดการประสานพลังระหว่างเมืองต่างๆ ในกลุ่มจังหวัด

ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

นครราชสีมายังมีปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำสูง โดยมีสัดส่วนคนยากจนด้านรายจ่ายถึงร้อยละ 17 และความเหลื่อมล้ำมากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพต่ำ และประชากรร้อยละ 75 อยู่ในเขตชนบท การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจึงจำเป็นสำหรับการพัฒนาโคราช โดยผมมีแนวทางดังต่อไปนี้

การเพิ่มผลิตภาพและมูลค่าเพิ่มของภาคเศรษฐกิจดั้งเดิม เพื่อย้ายแรงงานจำนวนมากออกจากภาคเกษตรและชนบท และทำให้ภาคเกษตรมีผลิตภาพสูงขึ้น เช่น การจัดโซนนิ่งการเพาะปลูกให้เหมาะกับสภาพของแต่ละพื้นที่ การปรับปรุงคุณภาพดินและพัฒนาแหล่งน้ำ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตร การผลิตสินค้าที่มูลค่าเพิ่มสูง และการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและการท่องเที่ยวเชิงเกษตร

การพัฒนาเป็นฮับการค้าและการขนส่ง เพราะโคราชมีความได้เปรียบในแง่ที่ตั้งและความเชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม เพราะเป็นประตูสู่ภาคอีสาน และเป็นชุมทางเชื่อมระหว่างภาคอีสาน กับภาคกลางและภาคตะวันออก โดยมีแนวทางการพัฒนา เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ การส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจการค้า การขนส่ง ศูนย์กระจายสินค้า คลังสินค้า และโลจิกติกส์ เป็นต้น

การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของประเทศ โคราชตั้งอยู่ไม่ไกลจากพื้นที่อุตสาหกรรมหลักของประเทศ คือ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โคราชควรใช้ประโยชน์จากความใกล้ และต้นทุนที่ดินและแรงงานที่ต่ำกว่า เพื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของภาคการผลิตในพื้นที่ดังกล่าว โดยการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมสนับสนุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลส่งเสริมการลงทุน

ประตูการท่องเที่ยวอินโดจีน ปัจจุบันนักท่องเที่ยวที่มายังนครราชสีมามีจำนวน 7 ล้านคน แต่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 1.3 แสนคน ซึ่งน้อยมาก เมื่อเทียบกับศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดที่มีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่หลากหลาย

ผมเสนอว่า โคราชควรกำหนดวิสัยทัศน์เป็นประตูการท่องเที่ยวอินโดจีน เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทย 200 ล้านคนที่ผมเคยเสนอไว้ โดยมีแนวทางการพัฒนา อาทิ การจัดมหกรรมระดับโลกเพื่อทำให้แหล่งท่องเที่ยวในโคราชเป็นที่รู้จัก การส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจการท่องเที่ยว กีฬาและนันทนาการ การเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวกับจังหวัดอื่นและประเทศเพื่อนบ้าน

อีกหนึ่งยุทธศาสตร์ คือ “Jump start” คือ การดึงดูดคนเก่งวัยใกล้เกษียณ (ประมาณ 50 ปี) จากทั่วโลก มาทำงานและตั้งรกรากในประเทศไทย โดยอาจให้สัญชาติและสร้างหมู่บ้านของคนประเทศต่างๆ ทุกจังหวัด ทั้งนี้โคราชควรพิจารณาว่าต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านใด และประเทศใดที่เก่งด้านนั้นที่สุด เพื่อดึงดูดคนเก่งจากประเทศนั้นมาทำงานและทำให้โคราชบ้านหลังที่สองและบ้านหลังสุดท้ายของเขา

ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบนิเวศน์นวัตกรรม

ทิศทางของนครราชสีมาควรได้รับการพัฒนาให้เป็นเมืองนวัตกรรม โดยการยกระดับการศึกษาและวิจัยให้มีคุณภาพระดับโลก อาทิ การพัฒนาโรงเรียน 2-3 ภาษา การจัดการศึกษาบนฐานการวิจัย การพัฒนามหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยระดับโลก และการพัฒนาผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรม

อีกแนวทางหนึ่ง คือ การพัฒนาโคราชเป็น smart city โดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเข้าถึงทุกสถานที่ การพัฒนาและใช้นวัตกรรมเพื่อการบริหาจัดการเมือง เช่น การใช้ Big data ในการบริหารจัดการเมือง การใช้ระบบอัจฉริยะในการจัดการจราจร เป็นต้น

รวมทั้งการพัฒนาระบบการบริหารเมืองโคราช เช่น การนำดัชนีชี้วัดการพัฒนาเมืองมาใช้เป็นเกณฑ์ในพัฒนาเมืองทุกมิติ เพื่อพัฒนาโคราชให้เป็นเมืองมาตรฐานระดับโลก  และการจัดโครงสร้างการปกครองที่เอื้อให้เกิดการรับฟังความเห็นของประชาชน การประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐกิจ ภาคธุรกิจ และภาคประชากิจ และการร่วมกันพัฒนานวัตกรรมเพื่อการแก้ปัญหาและพัฒนาเมือง

การพัฒนาเมืองเป็นยุทธศาสตร์สำคัญประการหนึ่งของการก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้ว เพราะในประเทศพัฒนาแล้ว ประชากรส่วนใหญ่จะอาศัยในเมือง และเมืองโคราชเป็นเมืองที่มีศักยภาพพร้อมที่จะได้รับการพัฒนา แต่การพัฒนาเมืองต้องมียุทธศาสตร์ที่แหลมคม และต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ รวมทั้งต้องการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนด้วย

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *