ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจก้าวกระโดดจังหวัดชายแดนใต้ : “Deep South, Deep North Global Link”

เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ให้ไปบรรยาย เรื่อง “การเชื่อมโยงเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้กับเศรษฐกิจโลก” ที่จังหวัดยะลา

ในการบรรยายนี้ ผมได้เสนอแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนใต้ (จชต.) แบบก้าวกระโดด ด้วยยุทธศาสตร์ที่ผมให้ชื่อว่า “Deep South, Deep North Global Link”

แนวคิดของยุทธศาสตร์นี้ คือ การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนใต้ จชต. (Deep South) กับ เศรษฐกิจ 3 รัฐภาคเหนือของมาเลเซีย (Deep North Malaysia) และทำให้การเชื่อมโยงระหว่างสองพื้นที่ สนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก (Global Link)

วัตถุประสงค์สำคัญของยุทธศาสตร์นี้ คือ การนำเศรษฐกิจ จชต. เข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของโลก ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจ จชต. มีโอกาสเติบโตอย่างก้าวกระโดดไปพร้อมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก

เหตุผลของการกำหนดยุทธศาสตร์นี้ คือ การที่ จชต.มีพรมแดนติดกับภาคเหนือของมาเลเซีย โดยเป็นชายแดนที่มีมูลค่าการค้าสูงที่สุด เมื่อเทียบกับชายแดนไทยกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มีอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

จชต.และภาคเหนือของมาเลเซีย มีความคล้ายคลึงกันของวัฒนธรรม ภาษา และความเชื่อ และมีการติดต่อและไปมาหาสู่กันระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศอย่างเป็นปกติ ความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนจะเป็นพื้นฐานที่ดีในการสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างกัน

นอกจากนี้ จชต. มีตำแหน่งที่ตั้งที่เป็นยุทธศาสตร์ของภูมิภาค กล่าวคือ อยู่ใกล้ช่องแคบมะละกาซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือสมุทรที่คับคั่งที่สุดในโลก และอยู่ระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในอนาคต คือ จีนและอินเดีย ซึ่งทำให้มีแนวโน้มที่การค้าและการขนส่งสินค้าในภูมิภาคนี้จะขยายตัวมากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น พื้นที่ จชต.ยังอาจได้ประโยชน์จากความพยายามสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประเทศ โดยเฉพาะจากความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ของจีน และแผนแม่บทความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (ASEAN Connectivity)

อย่างไรก็ดี อุปสรรคสำคัญของการเชื่อมโยง จชต.กับเศรษฐกิจโลก คือ การขาดท่าเรือน้ำลึกที่มีศักยภาพเพียงพอในภาคใต้ โดยเฉพาะท่าเรือฝั่งอันดามันที่มีขนาดเล็ก และเป็นเพียงท่าเรือย่อย (feeder) ที่ทำหน้าที่ขนถ่ายสินค้าไปยังท่าเรือหลักในมาเลเซียและสิงคโปร์ ทำให้สินค้าจากภาคใต้ส่งออกโดยใช้ท่าเรือไทยเพียงร้อยละ 35 แต่การส่งออกผ่านชายแดนไปมาเลเซียสูงถึงร้อยละ 65

แม้รัฐบาลไทยมีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ภาคใต้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ SEC (Southern Economic Corridor) ซึ่งมีแผนก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่จังหวัดระนองและชุมพร รวมทั้งสร้างแลนด์บริดจ์หรือเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือทั้งสองแห่ง แต่โครงการ SEC อยู่ไกลจากพื้นที่ จชต. มากถึง 600 กิโลเมตร

ผมจึงเสนอว่า จชต.ควรใช้จุดแข็งด้านตำแหน่งที่ตั้งและความใกล้ชิดทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับภาคเหนือของมาเลเซีย และร่วมกันพัฒนาพื้นที่นี้ให้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการขนส่ง โลจิสติกส์ และการค้าระหว่างประเทศ โดยผมมีข้อเสนอดังต่อไปนี้

  • ประการแรก การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเชื่อมต่อ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อ จชต. กับพื้นที่อื่น ๆ ทั้งการเชื่อมต่อกับจังหวัดอื่น ๆ ของประเทศ การเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน และการเชื่อมต่อระหว่างฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน

ตัวอย่างโครงการที่ผมเห็นว่า เราควรพิจารณาเพื่อผลักดันให้เกิดขึ้น คือ การร่วมมือกับมาเลเซียเพื่อรื้อฟื้นเส้นทางรถไฟสุไหงโกลก-ปาเสมัส ในรัฐกลันตันของมาเลเซีย (ระยะทาง 20 กิโลเมตร) เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีเส้นทางรถไฟเชื่อมกับภาคตะวันออกของมาเลเซีย ในขณะที่พื้นที่ภาคเหนือของมาเลเซียก็ไม่มีเส้นทางรถไฟเชื่อมระหว่างฝั่งตะวันออกและตะวันตก เพราะมีเทือกเขาสูงคั่นตรงกลาง

อีกโครงการหนึ่ง คือ การเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือปีนังและท่าเรือสงขลา เพราะสินค้าจากภาคใต้ถึงร้อยละ 65 ส่งออกผ่านชายแดนไปยังมาเลเซียอยู่แล้ว ในขณะที่ท่าเรือสงขลาเป็นเส้นทางออกสู่อ่าวไทยที่สั้นที่สุด สำหรับสินค้าจากภาคตะวันตกเฉียงเหนือของมาเลเซีย โครงการนี้น่าจะช่วยอำนวยความสะดวกในการส่งออกสินค้าจากทั้งสองพื้นที่ และจะกลายเป็นแลนด์บริดจ์ที่เชื่อมโยงเส้นทางการค้าของโลก

  • ประการที่สอง การพัฒนาประสิทธิภาพการผ่านแดน เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนไทย-มาเลเซีย ทั้งสินค้าส่งออกระหว่างไทยกับมาเลเซีย สินค้าจากประเทศที่สามที่ส่งผ่านไทยไปยังมาเลเซีย และผ่านมาเลเซียมายังไทย รวมทั้งสินค้าที่ส่งจากประเทศที่สามผ่านไทยและมาเลเซียไปยังประเทศที่สี่

ประเทศไทยควรร่วมมือกับมาเลเซียในการพัฒนาประสิทธิภาพการผ่านแดน เช่น การพัฒนากฎระเบียบ มาตรฐานด้านศุลกากร เพื่อเอื้อให้กระบวนการผ่านแดนรวดเร็วและไม่ซ้ำซ้อน การลดขั้นตอนด้านศุลกากรสำหรับสินค้าที่ขนส่งผ่านไปยังประเทศที่สามและสี่ การเจรจาเปิดเสรีเพื่อลดข้อจำกัดด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน เป็นต้น

  • ประการที่สาม การเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวใน จชต. และผลักดันให้แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ จชต.เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ

ตัวอย่างมาตรการเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยว จชต. ได้แก่ การร่วมมือพัฒนาเส้นทางและส่งเสริมการท่องเที่ยว จชต.กับรัฐภาคเหนือของมาเลเซีย การพัฒนาเส้นทางและโปรแกรมท่องเที่ยว จชต. เชื่อมต่อกับภูเก็ตและหาดใหญ่ และเชื่อมต่อกับปีนังและลังกาวี เป็นต้น

  • ประการที่สี่ การพัฒนาธุรกิจให้มีศักยภาพเชื่อมต่อกับโลก โดยการส่งเสริมธุรกิจใหม่หรือ startup ที่เป็นแนวโน้มของโลก โดยเฉพาะธุรกิจด้านเทคโนโลยี การสร้างธุรกิจที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างเศรษฐกิจท้องถิ่นกับตลาดโลก โดยเฉพาะธุรกิจด้านการตลาด เพื่อช่วยนำผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นไปสู่ตลาดโลก หรือช่วยทำตลาดออนไลน์ให้กับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น

ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรสนับสนุนผู้ประกอบการใน จชต. ให้มีความสามารถในการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ อาทิ การเรียนรู้วิธีการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ การยกระดับการผลิตและผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐาน การพัฒนาธุรกิจให้เป็นสากลสามารถทำธุรกิจระหว่างประเทศได้

ตลอดจนการอำนวยความสะดวกในการแสวงหาคู่ค้าหรือพันธมิตรทางธุรกิจ เช่น การจัดแสดงสินค้าและการจับคู่ธุรกิจ การนำสินค้าท้องถิ่นไปแสดงและจำหน่ายในพื้นที่ที่มีชาวต่างชาติจำนวนมาก (เช่น หาดใหญ่ และภูเก็ต) การร่วมมือกับธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจอีคอมเมิร์ซในการจำหน่ายและกระจายสินค้าในต่างประเทศ เป็นต้น

การพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนภาคใต้ต้องพัฒนาครบ คน ระบบ และบริบท ภาครัฐมีความพยายามที่ดีในการสร้างบริบท ซึ่งเป็นเหมือนถนนที่เชื่อมเศรษฐกิจท้องถิ่นกับเศรษฐกิจโลก

แต่เรายังต้องการรถยนต์ (ธุรกิจ) ที่มีสมรรถนะเหมาะสมกับการขับขี่ในบริบทใหม่ และต้องการคนขับ (ผู้ประกอบการ) ที่เชี่ยวชาญในการขับขี่ด้วย เพื่อเป็นหัวหมู่ในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นของ จชต. ให้แข่งขันในเวทีโลกได้

 

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *