นับตั้งแต่ พ.ศ.1500 จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นเส้นทางการค้าสำคัญของอาณาจักรขอมซึ่งเป็นมหาอำนาจโบราณในดินแดนแถบนี้ ก่อนที่สมัยอยุธยาจะกลายเป็นแหล่งผลิตและรวบรวมเสบียงรวมถึงกำลังพลในช่วงสงคราม กระทั่งวิวัฒนาการกลายเป็นเมืองหน้าด่านและศูนย์กลางอำนาจรัฐอีกแห่งในสมัยรัชกาลที่ 3 และปัจจุบันฉะเชิงเทราได้พัฒนาเป็นแหล่งผลิตไก่ไข่ ไก่เนื้อ สุกร ปลาน้ำจืด รวมถึงมะม่วงน้ำดอกไม้ ได้ในปริมาณและคุณภาพสูงติด 3 อันดับแรกของประเทศ ผลผลิตมีคุณภาพอยู่ในระดับที่สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้
.
หากพิจารณาโครงสร้างเศรษฐกิจ ในปีพ.ศ.2563 ฉะเชิงเทราพึ่งพาภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการเป็นสำคัญ โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมฉะเชิงเทรา (Gross Provincial Product : GPP) มาจากภาคอุตสาหกรรมสูงถึงร้อยละ 69.7 รองลงมาคือภาคบริการร้อยละ 25.3 โดยทั้งภาคอุตสาหกรรมและบริการพึ่งพาธุรกิจที่เกี่ยวกับยานยนต์สูงมาก ยอดผลิตและจำหน่ายยานยนต์ รถพ่วง และรถกึ่งพ่วงสูงเกินครึ่งหนึ่ง คือ ร้อยละ 55 ของสินค้าอุตสาหกรรมจังหวัด และการค้าส่งและค้าปลีก ซ่อมยานยนต์ ฯ มีมูลค่าถึงร้อยละ 47 ของ GPP ในภาคบริการ โดยรองลงมาเป็นภาคการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้าที่ร้อยละ 13 ของภาคบริการ
.
จากโครงสร้างเศรษฐกิจของจังหวัดข้างต้น ประกอบกับสถานการณ์โลกที่อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนกำลังจะถูกกระชากเปลี่ยน (disrupt) ด้วยยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) รวมถึงกระแสการรักสุขภาพของผู้คนทั่วโลก รวมทั้งนักท่องเที่ยว ผมจึงเสนอยุทธศาสตร์ให้ฉะเชิงเทราเป็นเมืองอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และการท่องเที่ยวเชิงอาหารสุขสภาพ โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้
.
1. เมืองอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
ประเทศไทยผลิตยานยนต์ได้สูงติด 10 อันดับแรกของโลก เป็นอันดับ 5 เอเชีย และมีแนวโน้มผลิตได้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่มีฉะเชิงเทราเป็นฐานการผลิตยานยนต์ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก โดยที่ปัจจุบันรัฐบาลสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นเรือธงตัวใหม่ ซึ่งแม้ EV จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์สันดาปและผู้ประกอบการ EV ยังมีความกังวลต่อการหลั่งไหลของนักลงทุนจีน แต่รัฐมีทิศทางและนโยบายสนับสนุนความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมาตลอดตั้งแต่ พ.ศ. 2514 ทำให้ผู้ประกอบการ EV อุ่นใจได้ในระดับหนึ่ง โดยล่าสุดโฆษกนายกฯ ได้กล่าวในงานมอเตอร์โชว์ ตั้งเป้าให้คนไทยใช้รถยนต์ไฟฟ้า (รวมทุกประเภท) เกิน 1.05 ล้านคัน ใน พ.ศ. 2568 และผลิตรถยนต์ EV ในประเทศไม่น้อยกว่า 360,000 คัน ใน พ.ศ. 2570 ซึ่งการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม EV นั้น ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับเรื่องต่อไปนี้
.
1) สร้างเมืองอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV City)
รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาฉะเชิงเทรา เป็น “เมืองอยู่อาศัยชั้นดี” ควรใช้โอกาสนี้ สร้างเมืองใหม่ต้นแบบ ที่เป็น “EV City” เช่น เป็นเมืองที่มีแต่ EV เท่านั้น ไม่มี รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยรถประจำทาง รถแท็กซี่ จักรยานยนต์ ใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด มีสถานีสำหรับชาร์จไฟฟ้าอยู่ทั่วเมือง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ ความเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรม EV
.
2) ส่งเสริมการลงทุนของผู้เล่นรายใหม่
อุตสาหกรรมยานยนต์โลกมีผู้เล่นใหม่ โดยเฉพาะผู้นำทางเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ เช่น Tesla, BYD (China) จึงควรส่งเสริมผู้เล่นเหล่านี้ ลงทุนในคลัสเตอร์ยานยนต์อนาคตในฉะเชิงเทราเพื่อทำให้เกิดการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของ EV ในประเทศ กระตุ้นอุปสงค์ของ EV ในประเทศ เพราะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าและยังสามารถดึงดูดบุคลากรด้าน EV และยานยนต์สมัยใหม่ จากต่างประเทศเพื่อมาพัฒนาบุคลากรด้าน EV ในประเทศได้อีกด้วย
.
3) มุ่งเน้นอุปกรณ์อัตโนมัติมากขึ้น
EV และยานยนต์อนาคตจะมีการใช้อะไหล่น้อยลง แต่มีสัดส่วนของอุปกรณ์อัตโนมัติที่ไม่ใช่อะไหล่รถยนต์ (non-automotive content) มากขึ้น โดยไทยต้องนำเข้าอุปกรณ์อัตโนมัติค่อนข้างสูง (มากกว่าร้อยละ 80) ดังนั้นจึงควรส่งเสริมให้ผลิตอุปกรณ์อัตโนมัติต่าง ๆ ทดแทนการนำเข้ามากขึ้น เช่น ชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, ซอฟท์แวร์ควบคุมระบบในยานยนต์, ระบบเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และระบบความบันเทิงในรถยนต์ เป็นต้น
.
4) ให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าใหม่รวมไปถึงการเจาะกลุ่มตลาดใหม่ (Diversification)
ภาครัฐควรส่งเสริมให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ผลิตสินค้าใหม่ ๆ ให้มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น เปลี่ยนไปผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะประเภทอื่น เช่น เครื่องบิน หรือผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ที่ใช้ในการเกษตร หรือในชนบท เพื่อทำให้เกิดการประหยัดจากขอบเขต (Economy of Scope) และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ
.
2. เมืองท่องเที่ยวด้านอาหารเชิงสุขสภาพ (Food Wellness Tourism)
เนื่องจากฉะเชิงเทราเป็นจังหวัดที่ผลิตอาหารอันดับต้น ๆ ของประเทศประกอบกับกระแสรักสุขภาพ ของผู้คนทั่วโลก รวมทั้งนักท่องเที่ยว ผมจึงเสนอยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวด้านอาหารเชิงสุขสภาพ เป็นจุดแกร่งของฉะเชิงเทรา เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับภาคการผลิตอาหาร โดยการพัฒนาลักษณะเฉพาะของอาหารเพื่อเป็นจุดขาย ดึงดูดการท่องเที่ยวตามกรอบ “Dr Dan Can Do’s Food Wellness Model 4 G&G” ที่ผมเสนอเอาไว้
.
1) Green & Germless Food: อาหารไร้/ปลอดสารพิษ และไร้/ปลอดเชื้อโรค
แนวทางการส่งเสริมอาหารปลอดสารพิษและปลอดโรค เช่น การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ การใช้วัตถุดิบอินทรีย์ (Organic) และ Non-GMO, ส่งเสริมเกษตรสีเขียว พัฒนาแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีในฟาร์ม, พัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต (Good Manufacturing Practice: GMP) และ มาตรฐานการผลิตที่มีมาตรการป้องกันอันตรายที่ผู้บริโภคอาจได้รับจากการบริโภคอาหาร (Hazard Analysis Critical Control Point: HACCP) ในอุตสาหกรรมอาหาร ตลอดจนพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับได้ (From Farm To Table) โดยผู้ผลิตต้องให้ความสำคัญตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก กระบวนการผลิต การบรรจุหีบห่อ และมีการให้ตรารับรองอาหารปลอดภัย เป็นต้น
.
2) Gratis & Geriatric Food: อาหารที่มีสารอาหารป้องกัน รักษาโรค เหมาะกับทุกกลุ่มและวัยชรา
ผลการสำรวจผู้บริโภค 6,000 ราย (คนไทย 500 ราย) ในปีพ.ศ.2560 โดย Asia Pacific Balanced Nutrition พบว่า ราว 4 ใน 10 คน ต้องการคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับแผนการโภชนาการที่ดีส่วนบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีอุปสงค์ต่ออาหารในกลุ่มนี้อยู่
.
ดังนั้นภาครัฐอาจส่งเสริมการผลิตอาหารป้องกันและรักษาโรคได้โดยการส่งเสริมให้มีการปรับปรุงคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร เช่น การพัฒนาปรุงแต่งอาหารพื้นเมืองให้เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ อาทิ การใช้สมุนไพรเป็นส่วนผสม การเชื่อมโยงการแพทย์แผนโบราณกับการรักษาด้วยสมุนไพรที่หลากหลาย, พัฒนาสูตรอาหารเพื่อสุขภาพ อาทิ การใช้โปรตีนทางเลือกที่ไม่ได้มาจากสัตว์ ที่ไม่มีไขมันเลว, พัฒนาสูตรอาหารสำหรับผู้สูงอายุ อาหารเพื่อการป้องกันและรักษาโรคเฉพาะเจาะจง เชื่อมโยงอาหารกับพันธุกรรม DNA ของผู้บริโภคที่ส่งผลต่อรักษาโรค รวมทั้งการให้ความรู้ในการรับประทานอาหารที่เหมาะกับแต่ละบุคคล เป็นต้น
.
3) Gourmet & Gastronomic Food: อาหารเลิศและอาหารอร่อย
ภาครัฐอาจส่งเสริมการผลิตอาหารในฉะเชิงเทราให้เป็นอาหารเลิศและอร่อยได้หลายแนวทาง เช่น การจัดประกวด หรือ แสดงพืชผลที่เป็นของดีประจำจังหวัด/อำเภอ, การจัดประกวด แสดง แข่งขัน การทำอาหาร เลิศรสของจังหวัด, การให้ตรารับรองแก่ร้านอาหาร, การพัฒนาวิธีการเพาะปลูก หรือทำปศุสัตว์ ที่ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีรูปลักษณ์สีสันความสวยงาม เป็นต้น
.
4) Greed & Grab Food: อาหารราคาถูกคุ้มค่าและเข้าถึงง่าย
การส่งเสริมการผลิตอาหารให้คุ้มราคาและเข้าถึงได้อาจทำได้โดยการพัฒนาผลิตภาพในการเพาะปลูกและทำปศุสัตว์ เช่น การทำฟาร์มขนาดใหญ่โดยใช้เครื่องจักร (farm mechanization), การพัฒนาตลาดจำหน่ายอาหารขึ้นชื่อของจังหวัด, การพัฒนาพื้นที่จำหน่าย street food ที่มีคุณภาพ และราคาประหยัด, หรือการพัฒนาช่องทางการจำหน่ายอาหาร ผ่าน modern Trade เป็นต้น
.
ผมมองว่าหากภาครัฐมีการสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับพื้นที่อย่างที่เป็นมาในอดีต นอกจากชาวฉะเชิงเทราจะอยู่ดีกินดีและมีความสุขได้ยั่งยืนแล้ว ฉะเชิงเทราจะเป็นพื้นที่ที่สามารถสนับสนุนให้คนไทยในภาคตะวันออกและพื้นที่อื่นอยู่ดีกินดีขึ้นได้มากขึ้นดังเช่นอดีตที่เคยเป็นมาได้ครับ
.
ที่มา : นิตยสาร MIX