ยุทธศาสตร์ของไทยต่อการพัฒนาเส้นทางสายไหม BRI ในศตวรรษที่ 21

ขอเสนอไอเดีย ยุทธศาสตร์ของไทยต่อการพัฒนาเส้นทางสายไหม BRI ในศตวรรษที่ 21 ของจีน ที่จะเป็นโอกาสของรัฐบาลไทยสามารถใช้โปรเจ็คระดับโลกนี้ เป็นเครื่องมือหนึ่งสำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยให้ไปข้างหน้าได้อย่างก้าวกระโดด
.
ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตรพยายามดำเนินยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน โดยเฉพาะการปิดล้อมทางทะเล เป็นเหตุให้จีนต้องพยายามฝ่าวงล้อมโดยการรื้อฟื้นและพัฒนา เส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 (Belt and Road Initiative หรือ BRI) ซึ่งเป็นความพยายามในการเอาชนะสงครามภูมิรัฐศาสตร์นี้
.

โดยสร้างความเชื่อมโยงผ่าน 5 เสาหลัก ได้แก่ การประสานงานด้านนโยบาย, การเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุน, การค้าที่ไม่มีข้อกีดขวาง, การบูรณาการทางการเงิน และการเชื่อมโยงระหว่างผู้คน
.
แม้ BRI อาจจะสร้างโอกาสทั้งด้านการค้าระหว่างประเทศโดยมีช่องทางการค้ามากขึ้น การพัฒนาพื้นที่ตามแนวเส้นทางคมนาคมที่เอื้อต่อการท่องเที่ยว และโอกาสในการพัฒนาเมืองและเชื่อมโยงระหว่างเมือง
.
แต่อุปสรรคและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบด้านลบ หากขาดการดำเนินการอย่างมียุทธศาสตร์ที่เหมาะสม เช่น การขาดดุลทางการค้ากับจีนที่มากขึ้น ความไม่คุ้มค่าในการลงทุน ความเสี่ยงจากการครอบงำโดยธุรกิจจีน ความเสี่ยงจากการขาดความน่าดึงดูดในการลงทุนในไทย หรือการที่ไทยอาจไม่ได้ประโยชน์เต็มที่ เป็นต้น
.
ดังนั้น ผมจึงมีข้อเสนอในการดำเนินยุทธศาสตร์ของไทย เพื่อใช้ประโยชน์จากเส้นทางสายไหมของจีนและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ดังต่อไปนี้
.
1. การสร้างอัตลักษณ์เอกลักษณ์ของเมือง
ประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างเอกลักษณ์และอัตลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและความน่าสนใจแก่สินค้าและบริการ และดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยวจากจีน เช่น ผมเสนอให้ จังหวัดน่าน เป็นเมืองหลวงแห่งความรักของโลก เพื่อเชื่อมกับกิจกรรมเศรษฐกิจที่เน้นท่องเที่ยว ตลอดจนสินค้าและบริการอื่นภายใต้แนวคิดเมืองแห่งความรัก
.
หรือผมเสนอให้ จังหวัดเชียงราย เป็นเมืองหลวงแห่งความหวังของโลก โดยใช้เหตุการณ์ 13 หมูป่า ที่สะท้อนถึงการมีความหวัง โดยเปลี่ยนจากตำนานเดิมที่ขุนน้ำนางนอนเป็นเรื่องรักที่ไม่สมหวัง และสร้างทุกเรื่องในเชียงรายให้ร้อยเรียงเชื่อมโยงกับการพัฒนาเมืองและกิจกรรมเศรษฐกิจที่อยู่บนแนวคิดการสร้างความหวังและการสร้างแรงบันดาลใจ
.
เช่น การท่องเที่ยวไหว้พระเพื่อขอพรให้สมหวัง การบริการสุขสภาพ (Wellness) ด้วยการแพทย์และสมุนไพรล้านนา (หวังหายโรค) การพัฒนาเมืองแห่งศิลปะจากการทำงานเชิงสร้างสรรค์ และการพัฒนาเมืองน่าอยู่และเมืองแห่งอนาคต เป็นต้น
.
2. การพัฒนาบนจุดแกร่งของประเทศ
ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทค (ที่รัฐบาลเรียกว่าไทยแลนด์ 4.0) ถึงแม้จำเป็นต้องพัฒนาเพื่อการขับเคลื่อนประเทศในระยะยาว แต่ต้องใช้เวลานานกว่าจะถึงจุดที่แข่งขันกับประเทศอื่นได้ เนื่องจากฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยยังอ่อนแอ
.
ดังนั้นการพัฒนาประเทศเพื่อให้แข่งขันได้และเพื่อใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจจาก BRI ผมจึงขอเสนอให้ประเทศไทยเป็นเมืองหลวงโลก 4 ด้าน ซึ่งประกอบไปด้วย เมืองหลวงอาหารโลก (Food Capital) เมืองหลวงการท่องเที่ยวโลก (Tourism Capital) เมืองหลวงสุขสภาพโลก (Wellness Capital) และเมืองหลวงอภิบาลคนชราโลก (Elderly Healthcare Capital)
.
ซึ่งผมเห็นว่า 4 ด้านนี้ เป็นด้านที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) สามารถพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว จนพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง หลีกหนีจากการแข่งขันกับประเทศอื่น และยังช่วยกระจายรายได้ไปถึงคนจำนวนมากอีกด้วย
.
3. การพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่
การดำเนินยุทธศาสตร์ของไทยเพื่อให้ได้ประโยชน์จาก BRI อย่างเต็มที่ ควรให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ เพื่อกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ต่างๆ และประสานพลังระหว่างพื้นที่ อาทิ
.
(1) การเชื่อมระบบขนส่งย่อยกับระบบขนส่งหลัก ที่เป็นกระดูกสันหลังของการเชื่อมต่อระหว่างประเทศ เช่น การพัฒนาระบบขนส่งย่อยเชื่อมกับรถไฟความเร็วสูง ลาว-จีน และกรุงเทพ-หนองคาย
.
(2) การเชื่อมเส้นทางการท่องเที่ยวระหว่างพื้นที่ต่างๆ โดยเชื่อมเส้นทางท่องเที่ยวภายในประเทศ และระหว่างประเทศ (3) การจัดทำระบบวีซ่าเดียวเดินทาง และเที่ยวได้ทุกประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion – GMS) หรือในอาเซียน เป็นต้น
.
4. การประสานนโยบายทั้งในระดับนานาชาติและภายในประเทศ
BRI เป็นเพียงวิสัยทัศน์กว้างๆ ประกอบด้วยโครงการต่างๆ ถูกริเริ่ม โดยรัฐบาลจีน หรือเป็นการทำข้อตกลงแบบทวิภาคีกับรัฐบาลของประเทศอื่น จึงอาจเป็นเหตุทำให้ขาดความร่วมมือหรือเชื่อมโยงกันระหว่างประเทศ
.
ดังนั้นเพื่อให้โครงการ BRI_เกิดประโยชน์สูงสุดในทางปฏิบัติ ประเทศไทยจึงควรริเริ่มสร้างกลไกพหุภาคีที่ทุกประเทศในกลุ่ม ASEAN หรือ GMS ร่วมกำหนดยุทธศาสตร์และแผนการพัฒนาใน BRI ทำให้เกิดความเชื่อมโยงของแผนการพัฒนาในแต่ละประเทศ เช่น การแก้ปัญหาระดับอนุภูมิภาคร่วมกัน (เช่น PM 2.5) การให้ไทยเป็นแกนนำและศูนย์กลางของ TCLMV (ที่แตกต่างจากที่ภาครัฐเสนอในเรื่อง CLMVT) เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน
.
การลดอุปสรรคในการขนส่งสินค้าและการเดินทางท่องเที่ยว นอกจากนี้ต้องมีการบูรณาการนโยบายต่างๆ ภายในประเทศไทยเองให้สอดคล้องกัน เช่น การกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดต่างๆ ให้มีจุดเน้นแตกต่างกัน และการประสานนโยบายระหว่างรัฐบาลกลางและท้องถิ่น เป็นต้น
.
5. การสร้างสมดุลระหว่างมหาอำนาจ
การพยายามทำให้เกิดการแข่งขันและการร่วมมือกันระหว่างมหาอำนาจ เพื่อรักษาดุลอำนาจของมหาอำนาจต่างๆ ซึ่งในบางกรณี เช่นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทยควรเปิดให้มีการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ เพื่อให้ประเทศไทยได้รับข้อเสนอที่ดีที่สุด หรือเปิดช่องให้มหาอำนาจร่วมมือกันและแบ่งปันผลประโยชน์ เพื่อลดแรงกดดันด้านภูมิรัฐศาสตร์
.
โดยบางโครงการอาจต้องแบ่งงานให้มหาอำนาจหลายฝ่าย หรือบางกรณีอาจร่วมมือในโครงการเดียวกันได้หากมีผลประโยชน์ร่วม เช่น เปิดโอกาสให้จีนและญี่ปุ่นร่วมพัฒนาเมืองอัจฉริยะในประเทศไทย และการเปิดรับข้อเสนอทางการเงินจากแพลตฟอร์มของสหรัฐ และประเทศในกลุ่ม G7 เช่นเดียวกับการเปิดพิจารณาข้อเสนอทางการเงินจาก AIIB และ ADB เป็นต้น
.
6. การประสานกฎระเบียบ มาตรฐาน แนวปฏิบัติให้สอดคล้องกัน
แม้ BRI_จะสนับสนุนการเชื่อมโยงทางโครงสร้างพื้นฐาน แต่การค้าการลงทุนระหว่างกันอาจมีอุปสรรคหากกฎระเบียบและข้อบังคับมีความแตกต่างกัน ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องมีการปรับปรุงกฎหมาย ข้อบังคับ หรือแนวปฏิบัติ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่บริษัทที่ทำธุรกิจข้ามประเทศ ไม่ทำให้เกิดความได้เปรียบหรือเสียเปรียบ ระหว่างธุรกิจท้องถิ่นและธุรกิจจากต่างประเทศ และลดกฎระเบียบหรือข้อปฏิบัติที่เป็นภาระทางธุรกิจในประเทศและธุรกิจข้ามชาติ
.
โดยเฉพาะกฎระเบียบเกี่ยวกับการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เช่น กฎระเบียบเกี่ยวกับพิธีการทางศุลกากร พิกัดสินค้าส่งออกนำเข้า อัตราภาษี การจัดเก็บภาษี และมาตรการกีดกันทางการค้า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา นอกจากนี้จะต้องมีการสร้างมาตรฐานสากลที่เกี่ยวกับในการดำเนินธุรกิจใน_BRI
.
เช่น มาตรฐานสินค้า และบริการ มาตรฐานด้านความปลอดภัย และสุขอนามัย มาตรฐานและแนวทางปฏิบัติในการให้เงินกู้ในโครงการต่างๆ และมาตรฐานระบบคมนาคม ระบบราง เพื่อพัฒนาโลจิสติกที่ไร้รอยต่อ
.
7. การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน
ภาครัฐควรมีแนวทางที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน เช่น การพัฒนาความรู้เกี่ยวกับแนวปฏิบัติในการทำธุรกิจกับต่างประเทศ เช่น จีนและประเทศอื่นๆ ที่เข้าร่วมใน_BRI โดยอาจจัดเป็นหลักสูตรฝึกอบรมแก่นักธุรกิจ การผลิตเป็นหนังสือ บทความ สื่อออนไลน์ และการจัดให้มีเวทีเพื่อการแบ่งปันประสบการณ์
.
หรือ การพัฒนากิจกรรมและแพลตฟอร์มเพื่อการปฏิสัมพันธ์คนกลุ่มต่างๆ อาทิ นักศึกษา นักธุรกิจ นักวิชาการ ภาคประชากิจ และภาครัฐ พร้อมทั้งอาจจัดทำฐานข้อมูลและทะเบียนภาคธุรกิจใน BRI_โดยที่อาจมีการรีวิวหรือการให้เรตติ้งด้านต่างๆ ของแต่ละบริษัทเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการแสวงหาหุ้นส่วนทางธุรกิจ เป็นต้น
.
สำหรับจีน การพัฒนาเส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 เป็นความพยายามในการต่อสู้กับการปิดล้อมของสหรัฐฯ ในทางภูมิรัฐศาสตร์ แต่สำหรับไทย สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจเป็นความเสี่ยง หากไม่มียุทธศาสตร์รองรับ แต่จะเป็นโอกาสหากรู้จักใช้ประโยชน์ ผมหวังว่ารัฐบาลไทยจะสามารถใช้ BRI_เป็นเครื่องมือหนึ่งสำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยให้ไปข้างหน้าได้อย่างก้าวกระโดดครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *