ปัจจุบันทั้งโลกกำลังขับเคลื่อนเข้าสู่ยุคสังคมความรู้ (Knowledge Society) ที่มีความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมขั้นสูงเป็นปัจจัยขับเคลื่อน1 มีการคิดค้นสร้างสรรค์และนำเทคโนโลยีเข้ามาหนุนเสริมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ส่งผลนำสู่การยกระดับรายได้และความอยู่ดีกินดีของประชาชนในประเทศ
ปัจจุบันมีหลายประเทศทั่วโลกที่ก้าวเข้าสู่สังคมความรู้นี้แล้ว อาทิ ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น ประเทศเหล่านี้ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (Research and Development หรือ R&D) สูง ส่งผลทำให้มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมจำนวนมาก รวมถึงมีการเตรียมพร้อมเปลี่ยนผ่านหรือปฏิรูปทักษะของประชาชนทุกระดับเข้าสู่การแข่งขันในยุคสังคมความรู้ผ่านระบบการศึกษาของประเทศ มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนและการสร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนรู้ที่มีส่วนเสริมสร้างพัฒนาทักษะที่สำคัญจำเป็นให้แก่ประชาชน อาทิ ประเทศสิงคโปร์ เกาะเกี่ยวกับกระแสความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี บูรณาการประสานเข้าหากันทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย พัฒนาประชาชนสิงคโปร์ให้มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี สามารถใช้เทคโนโลยีเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเรียนรู้ เข้าถึงข้อมูลความรู้ทั่วทุกมุมโลก เป็นต้น
กรณีของประเทศไทย จากผลการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า นอกจากแรงงานส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานนอกระบบที่ปฏิบัติงานในภาคการเกษตรและประมงแล้ว2 ยังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานและว่างงานบางสาขา ขณะที่ภาพรวมมีผลิตภาพของแรงงาน (Labor Productivity) อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศในภูมิภาค อาทิ ประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น ความด้อยคุณภาพของแรงงานดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญที่ลดทอนขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ
เมื่อศึกษาลงลึกถึงภาคส่วนการศึกษาที่มีบทบาทสำคัญต่อการเตรียมกำลังคนของประเทศพบว่า ประสบปัญหาด้อยคุณภาพอยู่มากทุกระดับ ทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา อาทิ การไม่สามารถจัดการศึกษาที่มีคุณภาพได้ตามมาตรฐานที่กำหนด การขาดการบูรณาการการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ในการพัฒนาสมรรถนะที่จำเป็นให้แก่ผู้เรียน เป็นต้น เหล่านี้เป็นสภาพปัญหาที่เรื้อรังมาเป็นระยะเวลายาวนานในระบบการศึกษาของประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของโลก ประกอบกับตลาดแรงงานภายในประเทศมีความชัดเจนและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น จะเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยในการพัฒนาคุณภาพแรงงานและเตรียมกำลังคนที่มีคุณภาพของประเทศ โดยการใช้เทคโนโลยีช่วยลดข้อจำกัดของระบบการจัดการศึกษาเรียนรู้แบบเดิมสู่การจัดการศึกษาเรียนรู้แบบใหม่ที่มีความสะดวก รวดเร็ว และสนองตอบความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่มีความเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น ดังนี้
พัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีเสริมสร้างทักษะและสมรรถนะกำลังคนแห่งชาติ โดยความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และทุกหน่วยงาน องค์กร การสร้างคน พัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศสำหรับทำหน้าที่ค้นคว้าวิจัย วางแผน ออกแบบ และจัดทำเทคโนโลยี ที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างทักษะและสมรรถนะให้แก่กำลังคนของประเทศโดยเฉพาะ เน้นความหลากหลาย สามารถสนองตอบความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่มีความเฉพาะเจาะจง เป็นวัตถุดิบให้ทุกหน่วยงาน องค์กร การสร้างคนนำไปใช้ประโยชน์ อาทิ การพัฒนาทักษะการคิดสำหรับกลุ่มนักเรียนแต่ละชั้นปี เป็นต้น
พัฒนาฐานข้อมูลกลางเทคโนโลยีเสริมสร้างทักษะและสมรรถนะกำลังคนแห่งชาติ โดยความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และทุกหน่วยงาน องค์กร การสร้างคน พัฒนาเป็นฐานข้อมูลกลางแบบออนไลน์ที่เปิดกว้างให้สำหรับกลุ่มบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจให้สามารถเข้ามาเลือกใช้บริการตามความสนใจของตนเอง เน้นการพัฒนาทักษะพื้นฐานที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงในชีวิตประจำวัน อาทิ การพัฒนาทักษะการคิดสำหรับกลุ่มคนแต่ละช่วงวัย ทั้งวัยเด็ก วัยผู้ใหญ่ และวัยผู้สูงอายุ พัฒนาปรับปรุงให้มีความทันยุคทันสมัยอยู่เสมอ พร้อมจัดสอบวัดระดับและให้ประกาศนียบัตรรับรอง
การพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีเสริมสร้างทักษะและสมรรถนะกำลังคนแห่งชาติและฐานข้อมูลกลางเทคโนโลยีเสริมสร้างทักษะและสมรรถนะกำลังคนแห่งชาติดังกล่าวนี้จะช่วยลดข้อจำกัดอันเกิดจากการจัดการศึกษาเรียนรู้ ทำให้การพัฒนาทักษะและสมรรถกำลังคนของประเทศมีความเป็นเอกภาพ มาตรฐาน และสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี (Techy) ดังกล่าวนี้จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเชิงปรัชญา (Fuzzy) หรือรากฐานความคิดที่มีผลต่อค่านิยมและพฤติกรรมของคนในสังคมที่เอื้อต่อกัน3 อาทิ การพัฒนาความคิดความเข้าใจของประชาชนในการเลือกใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างถูกต้อง อันจะส่งผลทำให้การใช้เทคโนโลยีเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง
โลกปัจจุบันกำลังขับเคลื่อนเข้าสู่ยุคสังคมความรู้ที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเข้ามามีบทบาทต่อการจัดการศึกษาเรียนรู้มากขึ้น จำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมพร้อมเปลี่ยนผ่านหรือปฏิรูปทักษะของประชาชนทุกระดับเข้าสู่การแข่งขันในยุคสังคมความรู้นี้ อันจะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันที่สำคัญของประเทศ โดยข้อเสนอแนวทางการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีเสริมสร้างทักษะและสมรรถนะกำลังคนแห่งชาติและฐานข้อมูลกลางเทคโนโลยีเสริมสร้างทักษะและสมรรถนะกำลังคนแห่งชาติจะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญขับเคลื่อนให้บรรลุสู่ความสำเร็จดังกล่าวนี้
1 แนวคิดคลื่นอารยะ 7 ลูก ประกอบด้วย คลื่นอารยะลูกที่ 0 สังคมเร่ร่อน, คลื่นอารยะลูกที่ 1 สังคมเกษตรกรรม คลื่นอารยะลูกที่ 2 สังคมอุตสาหกรรม คลื่นอารยะลูกที่ 3 สังคมข้อมูลข่าวสาร คลื่นอารยะลูกที่ 4 สังคมความรู้ คลื่นอารยะลูกที่ 5 สังคมปัญญา และ คลื่นอารยะลูกที่ 6 สังคมความดี นำเสนอใน เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. สยามอารยะ แมนนิเฟสโต : แถลงการณ์สยามอารยะ. (กรุงเทพฯ: ซัคเซส มีเดีย, 2555), หน้า 13-36.
2 กองวิจัยตลาดแรงงาน. ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของอาชีพปี 2558 – 2562. [ออนไลน์]. เข้าถึงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559, เข้าถึงได้จาก http://research.mol.go.th/2013/rsdat/data/doc/QFfOt60/01QFfOt60.pdf
3 เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. แหกคุกทางปัญญา: สะท้อนคิดฝ่าวิกฤตการศึกษาไทย. (กรุงเทพฯ : ซัคเซส มีเดีย, 2543), หน้า 55-71.
มติชน
ปีที่ 36 ฉบับที่ 14114 วันอังคารที่ 1 พศจิกายน 2559
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ :https://www.lyondellbasell.com/globalassets/careers/department-division-pictures/lyondellbasell_rd_contentbanner.jpg