work128

พักแบบได้งาน ได้สุขภาพ

work128โลกวันนี้วันสุข
คอลัมน์ : HR Tips

คนทำงานที่เป็นที่ต้องการของทุกองค์กรย่อมต้องเป็นคนที่ขยันขันแข็ง ทุ่มเทให้กับองค์กร หนักเอาเบาสู้ รับผิดชอบเต็มที่ มีความตั้งใจสูงที่จะทำงานให้เสร็จตามเส้นตายที่กำหนด และหลายคนเลือกที่จะรับประทานอาหารกลางวันแบบ “มือเดียว” คือมือหนึ่งถืออาหารไว้ อาจเป็นแฮมเบอร์เกอร์ ขนมปัง อีกมือหนึ่งทำงานไปด้วย หรือซื้ออาหารกล่องมารับประทานไปทำงานไป ไม่ต้องลุกไปไหน ตลอดทั้งวันจนกระทั่งงานเสร็จ

แน่นอนว่าความขยันแบบนี้ หากเป็นแบบนานๆครั้งคงไม่เป็นไร แต่หากเป็นประจำทุกวันหรือแทบไม่เคยไปรับประทานอาหารกลางวันข้างนอกเลย สิ่งที่เราต้อง

แลก ไม่เพียงเสียสุขภาพในอนาคต แต่ประสิทธิภาพการทำงานจะถูกบั่นทอนลงในระยะยาวด้วย

ดังนั้น เพื่อให้ห่างไกลจากโรคร้าย เราจึงไม่เพียงตั้งเป้าทำงานเต็มที่ให้งานออกมาดี แต่เมื่องานดีแล้ว สุขภาพของเราต้องดีด้วย การทำงานและการรักษาสุขภาพจึงต้องดำเนินควบคู่ไปด้วยกันอย่างสมดุล

เห็นคุณค่าของเวลาพัก เริ่มต้นเราควรเห็นประโยชน์ของการที่องค์กรมีช่วงเวลาให้พนักงานได้พัก ไม่ว่าจะเป็นพักเบรกสั้นๆ หรือพักรับประทานอาหารกลางวัน เพราะเป็นเวลาที่เราจะได้เปลี่ยนอิริยาบถ ได้เคลื่อนไหวร่างกาย ช่วยลดความเครียดจากการใช้สายตาและกล้ามเนื้อแขนขาที่อยู่ท่าเดียวกันเป็นเวลานาน ดังนั้น ถ้างานของเราไม่เร่งด่วนจริงๆควรใช้เวลาพักอย่างเหมาะสม เพื่อกลับมาทำงานอย่างเต็มที่เมื่อถึงเวลา

งานเร่ง พักไม่ได้ แต่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายเสมอ จำไว้ว่าการทำงานท่าเดียวนานๆจะทำให้การไหลเวียนของเลือดมีปัญหา ดังนั้น แม้งานเร่งมากจนไม่สามารถเสียเวลาไปรับประทานอาหารกลางวันได้ แต่เราต้องพยายามให้เท้าและขาได้เคลื่อนไหวไปด้วยเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่น การออกกำลังขาเป็นระยะๆ โดยการยกขึ้นค้างไว้ นับหนึ่งถึงสิบแล้วค่อยเอาลง ทำอย่างนี้สัก 3-5 ครั้งในแต่ละชั่วโมง

สร้างนิสัยบริโภคแต่น้อย-ลดแป้ง น้ำตาล ไขมัน เพิ่มผัก ผลไม้ เนื่อง จากการทำงานที่ส่วนใหญ่นั่งอยู่ที่โต๊ะ ไม่ค่อยได้เคลื่อน ไหว จึงไม่ต้องใช้พลังงานมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากขึ้น ร่างกายเผาผลาญน้อยลง ทำให้มีโอกาสอ้วนง่าย จำเป็นต้องระมัดระวังเรื่องอาหารให้มากขึ้น ดังนั้น ให้เลือกรับประทานอาหารเบาๆ เช่น สลัด นมไขมันต่ำ ผลไม้ แทนอาหารที่เน้นแป้ง ไขมัน และน้ำ ตาล เพราะลักษณะงานไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานมาก ที่สำคัญต้องไม่รับประทานจุบจิบ

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com 
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.siangtai.com/UserFiles/Image/เนต2(128).jpg