บูรณาการศาสตร์แนวใหม่ 3 ภาคกิจ : สะท้อนคิดกรณีการจัดการศึกษาฮาร์วาร์ด

ผมเคยนำเสนอความคิดเกี่ยวกับโมเดล 8C กับการบูรณาการศาสตร์ หรือ Discipline ต่างๆเอาไว้ในหลายเวที อันเป็นลักษณะสำคัญประการหนึ่งของมหาศุภลัย (Integration : Araya University) ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นด้านการบูรณาการสู่การสร้างผู้เรียน เป็นลักษณะมหาวิทยาลัยยุคสุดท้ายตามการแบ่งมหาวิทยาลัยออกเป็น 7 ยุคของผม[1] เช่น ภาคกิจบูรณาการสร้างผู้เรียนให้มีความรู้และทักษะกว้างครบถ้วนสามารถประยุกต์สู่รัฐกิจ ธุรกิจ และประชากิจ (ประชาสังคม) ตามที่ผมเคยนำเสนอเอาไว้ในหลายเวทีและเคยเขียนเป็นบทความ

สาระของโมเดล 8C กับการบูรณาการศาสตร์ของผมดังกล่าวนี้แบ่งการบูรณาการออกเป็น 8 ลักษณะด้วยกัน[2]

โดยการบูรณาการแต่ละลักษณะมีเอกลักษณ์และวัตถุประสงค์แตกต่างกัน แต่ทั้งหมดล้วนเป็นประโยชน์สร้างให้เกิดความหลากหลายทางด้านศาสตร์หรือระบบความรู้ของมวลมนุษยชาติ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทการใช้งาน อันจะสนับสนุนให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางด้านศิลปวิทยาการที่สำคัญอีกทางหนึ่ง เช่น การบูรณาการข้ามศาสตร์หรือข้ามกลุ่มศาสตร์เข้าด้วยกัน เช่น ศาสตร์อนาคตศึกษา ตามที่ผมเคยนำเสนอเป็นบทความก่อนหน้านี้

การจัดการศึกษาของฮาร์วาร์ดสะท้อนความคิดโมเดล 8C กับการบูรณาการศาสตร์ของผมดังกล่าวนี้บางระดับด้วยเช่นเดียวกันแบบไม่จงใจ เช่น ตัวอย่างนวัตกรรมความร่วมมือระหว่างบัณฑิตวิทยาลัยการศึกษา (Harvard Graduate School of Education) และวิทยาลัยธุรกิจ (Harvard Business School) ที่มีส่วนสร้างโอกาสการเรียนรู้ทางวิชาชีพแบบใหม่ให้แก่ผู้อำนวยการโรงเรียนเกือบ 114,000 คน และผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียน 78,000 คน และครู 210,000 คน ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เรียกว่า ประกาศนียบัตรภาวะผู้นำและการบริหารจัดการโรงเรียน (Certificate in School Management and Leadership) อันเกิดจากการผสมผสานความโดดเด่นของทั้ง 2 วิทยาลัยเข้าด้วยกัน การเชื่อมโยงความเชี่ยวชาญทางด้านการจัดการทีมและองค์กรเข้ากับภาวะผู้นำทางการสอนและโรงเรียน สร้างขึ้นบนผลงานการร่วมมือที่ประสบความสำเร็จของทั้ง 2 วิทยาลัยในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งจะทำให้สอดคล้องกันและประยุกต์ความรู้เชิงการปฏิบัติจากภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา ภาคไม่แสวงหาผลกำไร และภาครัฐ สู่ความต้องการความชำนาญพิเศษของผู้อำนวยการโรงเรียน[3] อันเป็นความพยายามในการบูรณาการรัฐกิจ ธุรกิจ และประชากิจ บางระดับ

นวัตกรรมความร่วมมือระหว่างบัณฑิตวิทยาลัยการศึกษาและวิทยาลัยธุรกิจดังกล่าวนี้สะท้อนความคิดการบูรณาการศาสตร์แนวใหม่ (Neo Discipline) ของผมบางระดับ แต่ยังไม่ใช่ทั้งหมด อันเป็นลักษณะการบูรณาการที่ผมคิดว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาวิทยาการและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ เช่น ศาสตร์การสร้างชาติ (Nation-Building Science) พัฒนาสู่สุดขอบปริมณฑลความรู้ (Frontier of Knowledge) ทางด้านการสร้างชาติ บูรณาการองค์ความรู้เข้าด้วยกันอย่างสมดุลครบถ้วนมากที่สุดเท่าที่สามารถเกิดขึ้นได้ เพื่อสร้างผู้เรียนที่เป็นคนดี คนเก่ง และคนกล้า สู่การสร้างชาติ 3 ภาคกิจ ทั้งรัฐกิจ ธุรกิจ และประชากิจ อันเป็นการสร้างผู้เรียนเพื่อการสร้างชาติอย่างแท้จริงในทัศนะของผม

โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัตเป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวและก้าวหน้าอย่างเท่าทัน ด้วยการมุ่งพัฒนาการจัดการศึกษาของตนเองและสร้างสรรค์วิทยาการให้มีส่วนสนองตอบความต้องการของสังคม ทำหน้าที่เป็นกลไกหลักการสร้างชาติที่มีประสิทธิภาพแท้จริง ครับ

[1] ผมเสนอความคิดมหาวิทยาลัย 7 ยุค ประกอบด้วย ยุคที่ศูนย์ : มหาวิทยาลัยก่อนยุคบรรพกาล (Pre-Primitive : Informal University) ยุคที่หนึ่ง : มหาวิทยาลัยยุคบรรพกาล (Primitive : Nonformal University) ยุคที่สอง : มหาวิทยาลัยยุคโบราณ (Ancient : Semi-Formal University) ยุคที่สาม : มหาวิทยาลัยยุคสมัยใหม่ (Modern : Formal University) ยุคที่สี่ : มหาวิทยาลัยยุคสว่างไสว (Enlightenment : Knowledge University) ยุคที่ห้า : มหาปัญญาลัย (Convergence : Wisdom University) และยุคที่หก : มหาศุภาลัย (Integration : Araya University).

[2] ผมเสนอความคิดโมเดล 8C กับ ศาสตร์ หรือ Discipline ว่าประกอบด้วย C1 – Allied Discipline เช่น ศาสตร์การพัฒนา (Development Sciences) C2 – Multidiscipline เช่น สังคมศาสตร์ (Social Science), วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural Science), สเต็ม (STEM) หรือการจัดการศึกษาบูรณาการความรู้ 4 สหวิทยาการ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม เทคโนโลยี และคณิตศาสตร์ C3 – Synergized Discipline เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (IR), ชีวเคมี (Bio + chemistry),  วิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ (Mechatronic (Mechanics + Electronics) Engineering) C4 – Interdiscipline เช่น สตรีศึกษา (Woman Studies), อเมริกันศึกษา (American Studies) C5 – Cognated Discipline เช่น สเต็ม (STEM), การตรวจสอบบัญชี (Auditing), สังคมศาสตร์ (SC) C6 – Merged Discipline เช่น เศรษฐมิติ (Econometrics = Statistics + Economics) C7 – Transdiscipline เช่น อนาคตศึกษา (Future Studies) และ C8 – Neo Discipline เช่น ศาสตร์การสร้างชาติ (Nation Building Science), ศาสตร์การเป็นพ่อแม่ (Parenting Science).

[3] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://news.harvard.edu/gazette/story/newsplus/hgse-and-hbs-partner-on-new-certificate-program/

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 27 วันศุกร์ 16 – พฤหัสบดี 22 มีนาคม 2561

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *