บทเรียนการสร้างชาติจากสาธารณรัฐมอลตา: การส่งเสริมการลงทุน

สาธารณรัฐมอลตา เป็นหมู่เกาะที่ตั้งอยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางตอนใต้ของยุโรป (ตอนใต้ของประเทศอิตาลี) เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1801 และได้รับเอกราชเมื่อวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1964

การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาของมอลตา พบว่า มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายได้ต่อหัวประชากรก้าวสู่การเป็นประเทศรายได้สูงครั้งแรกในปี1989 แต่เป็นประเทศรายได้สูงอย่างมีเสถียรภาพ ตั้งแต่ปี 2002 ด้วยรายได้ต่อหัวประชากรในเวลานั้น 11,380 เหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้มอลตาเข้าร่วมใช้สกุลเงินยูโรในปี 2008

จากการที่ผมได้นำคณะเดินทางไปศึกษาดูงานของสถาบันการสร้างชาติ ผมมองว่าการพัฒนาประเทศมอลตาเป็นแนวยุทธศาสตร์ที่ประเทศไทยสามารถเรียนรู้และนำมาปรับประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม หลายๆ บทเรียนเป็นสิ่งที่ผมเคยนำเสนอมานานแล้ว ซึ่งมีบางเรื่องที่เราได้ทำแล้ว แต่บางเรื่องยังไม่ได้ทำอย่างจริงจัง

ภาครัฐนับเป็นภาคกิจที่สำคัญและมีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศมอลตา ซึ่งภาครัฐของมอลตาได้วางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์อย่างมีวิสัยทัศน์ชัดเจน และลงมือปฏิบัติอย่างบูรณาการกับทุกภาคส่วนจนเห็นผลลัพธ์เกิดขึ้น โดยนโยบายการพัฒนาประเทศที่มุ่งส่งเสริมการลงทุนของมอลตาที่ผมเห็นว่าน่าสนใจ ได้แก่

  • ประการที่ 1 ส่งเสริมการลงทุนโดยใช้จุดแข็งของประเทศ คือ ความน่าอยู่อาศัย  

ประเทศมอลตาเป็นเกาะ ไม่ติดกับแผ่นดินใหญ่ของยุโรป ไม่มีทรัพยากรมากนัก แต่มีจุดแข็งด้านความน่าอยู่ มีทัศนียภาพสวยงาม และยังได้ชื่อว่ามีอากาศดีที่สุดในโลก ส่งผลให้มอลตาเป็นเป้าหมายในการท่องเที่ยวและการพักผ่อนของผู้คนมากมาย

ภาครัฐจึงใช้จุดแข็งนี้ในการดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกและการลงทุนจากต่างประเทศ สังเกตได้จาก การที่มอลตาถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศอันดับ 1 ในโครงการดึงดูดการลงทุนโดยการให้สัญชาติ ในปี 2015 อันดับ 1 ด้านความสะดวกในการลงหลักปักฐาน (Best in the Ease of Settling) อันดับ 2 ของโลก ในฐานะจุดหมายปลายทางของแรงงานต่างชาติ ในปี 2016 (Expat Insider, 2016) และอันดับ 1 ในยุโรป ในการให้สิทธิกับกลุ่ม LGBTIQ ในปี 2015 (International Lesbian-Gay Association)

  • ประการที่ 2 ใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คือ การเป็นสมาชิกอียู 

หลายประเทศในยุโรปมีการใช้นโยบายดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ โดยการให้สัญชาติหรือสิทธิการพำนักอาศัย หรือที่เรียกว่า Citizenship and Residency by Investment Scheme  มอลตาเป็นประเทศหนึ่งที่มีโครงการ Citizenship-by-Investment ซึ่งระหว่างปี 2013 – 2018 โครงการดังกล่าวสามารถดึงดูดการลงทุนได้ 203 ล้านยูโร (หรือประมาณ 7,560 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 1,260 ล้านบาทต่อปี) และมีผลทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ของประเทศขยายตัว

มอลตาได้ใช้สิทธิประโยชน์จากการเป็นสมาชิกอียูในการดึงดูดการลงทุน เพราะการได้สัญชาติมอลตา หมายถึง การได้สัญชาติสหภาพยุโรปตลอดชีพ และได้รับสิทธิตามพลเมืองสหภาพยุโรปทุกประการ ซึ่งแตกต่างจากการให้ที่พำนักอาศัยถาวร (Permanent Residency) หรือการได้วีซ่าถาวรสหภาพยุโรป ดังประเทศอื่นๆ ในยุโรป เช่น สหราชอาณาจักร บัลแกเรีย โปรตุเกส เป็นต้น

  • ประการที่ 3 สร้างจุดขายที่แตกต่าง โดยการส่งเสริมบล็อกเชน

มอลตานับเป็นประเทศแรกในยุโรปที่มียุทธศาสตร์บล็อกเชนแห่งชาติ (ประเทศแรกของโลก คือ นครรัฐดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) และเป็นประเทศแรกๆ ที่มีการควบคุมการแลกเปลี่ยนสกุลเงินคริปโต (Cryptocurrencies) รวมถึงยังมีการให้ใบประกาศนียบัตรการศึกษาเกี่ยวกับบล็อกเชนอย่างเป็นทางการ

ภาครัฐอุทิศตัวในการสร้างและส่งเสริมระบบนิเวศน์สำหรับสกุลเงินคริปโต และกำหนดตำแหน่งของตัวเองเป็น “Blockchain island” หรือ เกาะแห่งบล็อกเชน ซึ่งในปี 2017 รัฐบาลมอลตาได้อนุมัติร่างยุทธศาสตร์ชาติเพื่อส่งเสริมบล็อกเชน เพื่อให้มอลตานำบล็อกเชนมาใช้อย่างกว้างขวางในด้านต่าง ๆ ในระดับประเทศ ไม่ว่าจะเป็น การจดทะเบียนที่ดิน การเก็บข้อมูลด้านสุขภาพของประชาชน การเก็บข้อมูลทางด้านการศึกษาทั้งหมด เป็นต้น

ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ครอบคลุมทั้งเรื่อง การกำหนดกฎระเบียบข้อบังคับ ระบบภาษีที่เหมาะสม การกำหนดแรงจูงใจที่ส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับบล็อกเชน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การจัดตั้ง Malta Stock Exchange Blockchain Consortium ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยนโยบายที่รวมผู้เชี่ยวชาญจากตลาดหลักทรัพย์ และองค์กรภาคส่วนอื่น ๆ ทั่วมอลตา การกำหนดหลักสูตรในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีสัญญาอัจฉริยะ (Smart contract technologies) การแต่งตั้งผู้ออกกฎสำหรับบล็อกเชน การกำหนดอัตลักษณ์ทางดิจิตอล (Digital identity) ให้กับบุคคลและองค์กร และการพัฒนาระบบบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance)

  • ประการที่ 4 อำนวยความสะดวกในการจัดตั้งธุรกิจ ด้วย One stop service

ประเทศมอลตาได้จัดตั้งศูนย์บริการครบวงจร (One stop service) ในการให้บริการแก่ผู้ประกอบการ โดยบูรณาการ 20 กรม 52 หน่วยงาน เพื่อให้บริการครบวงจร โดยมีระยะเวลาในการดำเนินการเรื่องต่าง ๆ น้อยกว่า 10 วัน รวมถึงการจัดตั้งธุรกิจใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตทางการค้า ผู้ประกอบการสามารถจัดตั้งธุรกิจได้ทันที โดยแจ้งต่อ Trade Department เท่านั้น ซึ่งช่วยให้การจัดตั้งธุรกิจใหม่ทำได้ง่ายขึ้น

สำหรับประเทศไทย ผมคิดว่าเรามีจุดแข็งและจุดขายมากมายกว่ามอลตา แต่เรายังไม่ได้ใช้จุดแข็งนั้นและไม่ได้สร้างจุดขายที่เด่นชัด ในการดึงการลงทุนและดึงบุคลากรที่มีคุณภาพสูงมายังประเทศไทยมากพอ

ถึงกระนั้นการให้สัญชาติเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมากสำหรับประเทศไทย ในความเห็นของผมเรื่องการให้สัญชาติเจาะจงจะปรากฏในบทความอื่น แต่ขณะนี้เราควรใช้จุดแข็งด้านการท่องเที่ยวและการแพทย์ที่มีคุณภาพ สร้างเป็นจุดขายในการดึงดูดนักลงทุนและบุคลากรที่มีคุณภาพจากทั่วโลก เพื่อให้เข้ามาทำงานในสาขาที่ประเทศไทยต้องการและขาดแคลน และวางแผนเกษียณอายุในประเทศไทย โดยให้ได้รับสิทธิการเข้าพักอาศัยอย่างถาวร และกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ในการได้รับสิทธินี้

และประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งดำเนินการในโครงการนี้ เพราะขณะนี้มาเลเซียได้เริ่มทำโครงการลักษณะดังกล่าวแล้ว ในชื่อว่า MM2H (Malaysia My Second Home) ซึ่งจะออกวีซ่าให้บุคคลอายุมากกว่า 50 ปี ที่มีเงื่อนไขทางการเงินและรายได้ตามกำหนด สามารถพำนักในประเทศได้คราวละ 10 ปี และจะได้รับการพิจารณาต่ออายุวีซ่าให้ต่อไป ซึ่งโครงการนี้ได้รับความสนใจมาก และมีผู้ได้รับการอนุมัติไปมากกว่า 30,000 รายแล้ว

มอลตานับเป็นบทเรียนที่ดีในการพัฒนาประเทศอย่างมียุทธศาสตร์ ภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่มาก แต่มีความพยายามใช้ประโยชน์จากความร่วมมือกับต่างประเทศ และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เพื่อดึงการลงทุนและดึงทรัพยากรบุคคลจากทั่วโลกเข้าไปพัฒนาประเทศของตนเอง

การพัฒนาประเทศมอลตาจึงให้บทเรียนว่า อย่ามองที่ความจำกัด แต่จงสร้างชาติอย่างมียุทธศาสตร์

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *