นำเก่ง ต้อง ?สร้างคน? ได้

?ถ้าการกระทำของคุณสร้างแรงบันดาลใจให้คนภายใต้ ..มีฝันที่ยิ่งใหญ่ขึ้น เรียนรู้ได้เพิ่มขึ้น ทำสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น และทำหน้าที่ในบทบาทต่าง ๆ ได้หลากหลายขึ้น ..คุณคือผู้นำ? จอห์น ควินซี อดัมส์ (John Quincy Adams) ประธานาธิบดีคนที่ 6 ของสหรัฐอเมริกาได้กล่าวข้อความข้างต้นไว้ สะท้อนบทบาทสำคัญประการหนึ่งของผู้นำ นั่นคือ ผู้นำต้อง ?สร้างคน?

เมื่อพลิกหน้าประวิติศาสตร์ขององค์กรต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ผมได้พบความจริงประการหนึ่ง นั่นคือ องค์กรธุรกิจจำนวนไม่น้อยอยู่ได้เพียงชั่วอายุเดียว สาเหตุไม่ใช่เพราะความเก่าล้าสมัย แต่เนื่องมาจากขาดคนรุ่นต่อไปที่จะมาสานต่องาน ไม่สามารถ “สร้างคน” ขึ้นมารับไม้แห่งความสำเร็จต่อ โดยเฉพาะบทบาทระดับสูง ในฐานะ ผู้นำ หรือ ผู้บริหาร
?การให้คนอื่นทำงานแทนเรา เพื่อเราจะสามารถก้าวไปทำสิ่งอื่นที่ยังไม่มีใครทำได้? เป็นหลักคิดของผมตลอดเรื่อยมา หากเราต้องการให้สิ่งที่เราทำอยู่นั้นยั่งยืนสืบต่อไป ?ผู้นำ? จึงจำเป็นต้องทำหน้าที่สำคัญมากกว่า การสั่งคน การใช้คน การควบคุมคน แต่ต้องสร้างคนรุ่นต่อ ๆ ไป ให้สามารถก้าวขึ้นมาสานต่อบทบาทหน้าที่แทนเราหรือเหนือกว่าเราได้ในอนาคต อันส่งผลให้กิจการที่ทำนั้นเติบโตได้ต่อไปในอนาคต
ดังนั้น คุณสมบัติสำคัญของผู้นำไม่ว่าในระดับใด จึงควรเป็น ?นักสร้างคน? ได้ด้วย สิ่งสำคัญคือ การปรับทัศนคติและพัฒนาความสามารถในการสร้างคนและใช้คนให้ทำงานร่วมกับเรา โดยเริ่มจาก
ให้ความสำคัญกับการ ?สร้างคน? ไม่เพียงมุ่ง ?สร้างงาน? บุคคลผู้หนึ่งได้กล่าวไว้อย่างน่าคิดว่า ?เป็นการดีกว่า แต่ยากกว่า ในการที่เราจะฝึกคนสัก 10 คนให้สามารถทำงานที่เราทำได้ แทนที่เราจะต้องทำงานของคนทั้ง 10 คนนั้นด้วยตัวเอง? ผู้นำต้องเริ่มจากการมีทัศนคติที่ถูกต้อง เห็นความสำคัญที่ต้องสืบสานส่งต่องานสู่คนรุ่นต่อไป ผู้นำที่สร้างความยั่งยืนให้องค์กร จึงไม่มุ่งเพียงเป้าหมายความสำเร็จของงาน แต่เพิกเฉยหรือขาดความอดทนในการสั่งสอนงาน คิดว่าตนเองทำดีกว่า เร็วกว่า หนักใจน้อยกว่า ตรงกันข้าม ต้องยินดีลงแรงในการอบรมสั่งสอน ทำให้ดู ฝึกให้เป็น ส่งผ่านวิสัยทัศน์ และเป็นแบบอย่างที่ดี มีเป้าหมายเพื่อให้ทีมงานทำงานแทนเราได้ในที่สุด
เชื่อว่าทุกคนมี ?ศักยภาพ? ที่ซ่อนอยู่ จากประสบการณ์การทำงานตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ผลผลิตที่ได้จากการทำงานของผมนั้นมีจำนวนมากและหลากหลาย สาเหตุที่ทำได้เช่นนั้น เกิดจากความเชื่อเริ่มต้นที่ว่า ทุกคนมีส่วนดีอยู่ในชีวิต เราทุกคนสามารถผสมผสานศักยภาพเพื่อทำงานร่วมกันได้ ในหนังสือข้อคิดเพื่อชีวิต ผมได้สรุปเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า ?เราทุกคนนั้นมีคุณค่าในตัวเอง หากเปรียบเทียบตัวเราก็เหมือนกระจาด ๆ หนึ่งที่เต็มไปด้วยสิ่งดีหลากหลายอย่างผสมผสานเป็นตัวเรา? เมื่อเรามองทุกคนมีส่วนดี ย่อมเกิดความรู้สึกว่าทุกคนนั้นทำงานร่วมทีมกับเราได้ หากเราสามารถดึงส่วนดีของเขาออกมาได้
ค้นหา ?จุดเด่น? ของแต่ละคน เอลเบิร์ต ฮับบาร์ด (Elbert Hubbard) นักสื่อสารมวลชนคนสำคัญในอดีต ของสหรัฐอเมริกา กล่าวไว้ว่า ?การค้นพบความสามารถนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ความสามารถในการค้นพบความสามารถในตัวผู้อื่นจะเป็นบททดสอบที่แท้จริง? ผู้นำที่แท้จริงจะเป็นผู้ที่สามารถสังเกตเห็นว่าทีมงานแต่ละคนนั้นมีศักยภาพด้านใดบ้าง โดยไม่เพียงมองจากมุมมองการทำงานเท่านั้น แต่ทุก ๆ องค์ประกอบที่เป็นคุณลักษณะเด่นของแต่ละบุคคล และคิดต่อไปว่าจะดึงเอาศักยภาพที่ซ่อนอยู่ของผู้ร่วมงานออกมาใช้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไรบ้าง อาทิ หากเราสังเกตคนขับรถที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี มีไหวพริบปฏิภาณ เราสามารถใช้ลักษณะเด่นของเขาในการทำงานอื่นที่เหมาะให้กับองค์กรได้ นอกเหนือจากงานที่ทำอยู่
เปิดโอกาสให้ ?ลองสนาม? ผู้นำต้องเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานได้ใช้ความรู้ความสามารถที่ตนเองมีอยู่อย่างมากที่สุด โดยการให้โอกาสทดลองทำในสิ่งใหม่ ๆ ให้โอกาสในการรับผิดชอบงาน ลองผิดลองถูกบ้าง และควรเปิดใจต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง แนวคิดใหม่และการทำในสิ่งที่เราอาจไม่เคยทำมาก่อน เราควรทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษา เป็นผู้ให้กำลังใจ และเป็นผู้สร้างความเชื่อมั่นว่าทุกคนนั้นทำได้ เพื่อให้ผู้ร่วมงานทุกคนสามารถแสดงศักยภาพที่มีอยู่ในตัวออกมาได้อย่างเต็มที่
ราฟท์ เนเดอร์ ผู้นำด้านการเคลื่อนไหวเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคของสหรัฐอเมริกาได้ให้ข้อคิดที่ดีไว้เกี่ยวกับการเป็นผู้นำว่า ?บทบาทหน้าที่ของผู้นำคือ การสร้างผู้นำรุ่นใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น ไม่ใช่การเพิ่มจำนวนผู้ตามให้มากขึ้น? ผู้นำจึงต้องเรียนรู้ที่จะฝึกตนเองให้ฝึกผู้อื่น จนสามารถดึงและใช้ศักยภาพทีมงานทุกคนออกมาให้ได้มากที่สุด

 

ที่มา:?งานวันนี้
ปีที่ 16 ฉบับที่ 733 วันที่ 21-28 เมษายน 2558

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com,?http://www.kriengsak.com

แหล่งที่มาของภาพ :?http://www.nptca.com/images/home_slider/slider_img7.jpg