นักศึกษาฮาร์วาร์ดและ MIT ปั่นจักรยานกระตุ้นการเรียนสาขาวิชา STEM

    บทความนี้ ผมขอนำเสนออีกหนึ่งตัวอย่างกิจกรรมสร้างสรรค์ที่นักศึกษาฮาร์วาร์ดได้เข้าไปมีส่วนร่วมกิจกรรมดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือกันระหว่างนักศึกษาฮาร์วาร์ดและนักศึกษา MIT (Massachusetts Institute of Technology) ที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ 6 คน เป็นนักศึกษาฮาร์วาร์ด 4 คน และนักศึกษา MIT 2 คน ขี่จักรยานเป็นระยะทางทั้งหมด 3,200 ไมล์ เพื่อช่วยกระตุ้นและส่งเสริมการเรียนทางด้านสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์

(engineering) และคณิตศาสตร์ (math) หรือที่เรียกว่า STEM ให้แก่กลุ่มเด็กนักเรียน 400 คนตลอดเส้นทาง ใน 12 เมืองของสหรัฐอเมริกา อาทิ เมืองฮาซาร์ด (Hazard) เมืองนิวตัน (Newton) เมืองคาร์สัน ซิตี้ (Carson City) เมืองซอลต์เลก ซิตี้ (Salt Lake City) เมืองแคนซัส ซิตี้ (Kansas City)1   
    การขี่จักรยานกระตุ้นและส่งเสริมการเรียนสาขาวิชา STEM ครั้งนี้ ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีจากเด็กนักเรียนตลอดทั้งเส้นทาง มีเด็กนักเรียนสนใจเข้าร่วมกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการที่เรียกว่า “เทศกาลการเรียนรู้” เกี่ยวกับหุ่นยนต์ จรวด และวิทยาการคอมพิวเตอร์ อันเป็นเสมือนดาวเด่นของกิจกรรมการขี่จักรยานครั้งนี้เป็นจำนวนมาก โดยเด็ก ๆ แต่ละคนที่เข้าร่วมต่างได้รับทั้งสาระความรู้ ความสนุกสนาน และมิตรภาพ กลับไป 
    กิจกรรมการขี่จักรยานกระตุ้นและส่งเสริมการเรียนสาขาวิชา STEM เป็นตัวอย่างกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ผมเห็นว่า มหาวิทยาลัยไทยควรส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เพื่อเป็นเครื่องมือพัฒนานักศึกษา และนำประโยชน์และการพัฒนามาสู่ประเทศชาติ ดังนี้
    สนองตอบความต้องการการพัฒนาประเทศ ตามทิศทางการพัฒนาของสหรัฐฯ ที่ต้องการให้มีจำนวนตำแหน่งงานด้านสาขาวิชา STEM จำนวน 1.2 ล้านตำแหน่งภายในปี ค.ศ. 2018 ขณะที่ปัจจุบันมีเด็กนักเรียนของสหรัฐฯ ที่สนใจเรียนสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และ STEM น้อย2  กิจกรรมการขี่จักรยานกระตุ้นและส่งเสริมการเรียนสาขาวิชา STEM จึงเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่มีส่วนสนับสนุนให้ทิศทางและเป้าหมายการพัฒนาประเทศดังกล่าวนี้สำเร็จ 
    เป็นการเปิดโลกกว้างด้านการจัดกิจกรรมจากมหาวิทยาลัยสู่กลุ่มเยาวชน กิจกรรมการขี่จักรยานกระตุ้นและส่งเสริมการเรียนสาขาวิชา STEM ครั้งนี้เป็นบริบทสำคัญที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้ดัดแปลงองค์ความรู้ในระดับอุดมศึกษามาย่อยให้แก่กลุ่มเยาวชนในรูปแบบที่เยาวชนสามารถเข้าใจได้ง่าย ผ่านกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการ “เทศกาลการเรียนรู้” ที่เป็นเสมือนดาวเด่นของกิจกรรมครั้งนี้ 
    เป็นโอกาสพัฒนาลักษณะชีวิตที่ดีงามและทักษะรอบด้านให้แก่นักศึกษา การเข้าร่วมกิจกรรมขี่จักรยานกระตุ้นและส่งเสริมการเรียนสาขาวิชา STEM ครั้งนี้ นอกจากนักศึกษาจะได้เพิ่มเติมประสบการณ์การเรียนรู้นอกห้องเรียนแล้ว ยังเป็นโอกาสพัฒนาลักษณะชีวิตที่ดีงามและทักษะรอบด้านให้แก่นักศึกษา อาทิ ทักษะการทำงานเป็นทีม ทักษะการบริหารเวลา การมีความรับผิดชอบ การมีความอดทน เป็นต้น ลักษณะชีวิตที่ดีงามและทักษะรอบด้านดังกล่าวนี้เป็นต้นทุนสำคัญที่จะส่งเสริมและสนับสนุนนักศึกษาให้ประสบความสำเร็จในชีวิต ซึ่งไม่สามารถหาได้จากการเรียนการสอนในชั้นเรียนปกติ อีกทั้งยังจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้นักศึกษาคนอื่นหันมาคิดสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อการพัฒนาชาติและท้องถิ่นมากขึ้นอีกทางหนึ่ง  
    ประยุกต์สู่มหาวิทยาลัยไทย
    มหาวิทยาลัยควรสนับสนุนนักศึกษาให้คิดริเริ่มกิจกรรมหรือโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชาติและท้องถิ่น รวมถึงการกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศการทำงานข้ามสถาบันการศึกษา อันจะเป็นประโยชน์ต่อการช่วยเปิดโลกทัศน์มุมมองใหม่ ๆ และเป็นบริบทช่วยพัฒนาลักษณะชีวิตที่ดีงามและทักษะรอบด้านให้แก่นักศึกษา3  ส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศต่อยอดก่ายกันขึ้นทางด้านวิชาการองค์ความรู้ ที่มีการนำองค์ความรู้และประสบการณ์มาช่วยเสริมจุดแข็งและถ่วงดุลจุดอ่อนของกันและกันเช่นเดียวกับกิจกรรมการขี่จักรยานดังกล่าวข้างต้น อาทิ การร่วมมือกับต่างมหาวิทยาลัยทั้งภายในและต่างประเทศสนับสนุนการคิดค้นสร้างสรรค์นวัตกรรมหลักสูตรฝึกงานร่วมกัน โดยเน้นการลงพื้นที่ภาคสนาม เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ทำงานแบบสหศาสตร์ร่วมกับเพื่อนนักศึกษาต่างคณะและต่างสถาบันการศึกษา เพื่อกระตุ้นให้เกิดการผสมเกสรทางปัญญา4  คือ การนำส่วนดีหรือจุดแข็งของนักศึกษาแต่ละคนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการทำโครงการ อันจะส่งผลทำให้โครงการที่จะเกิดขึ้นสามารถสนองตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการของท้องถิ่นได้ดีมากยิ่งขึ้น


1Harvard gazette. It was California or bust. [Online]. accessed September 16, 2015, available from http://news.harvard.edu/gazette/story/2015/08/it-was-california-or-bust/#
2Digital literacy project. Our mission. [Online]. accessed September 16, 2015, available from http://dlp.io/mission.html# 
3นำเสนอใน เกรียงศักดิ์เจริญวงศ์ศักดิ์. ผมอยากให้ฮาร์วาร์ดทำใบแสดงสมรรถนะผู้เรียน. สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์. 60, 45 (26 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2556) : 37 – 38. ประกอบด้วย ด้านความรู้ ได้แก่ รู้ลึก รู้กว้าง และรู้ไกล ด้านทักษะอย่างน้อย 12 ประการ ได้แก่ ทักษะการคิด 10 มิติ ทักษะภาษาต่างประเทศ ทักษะการใช้เทคโนโลยี  ทักษะการสร้างและขยายเครือข่าย ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ทักษะการตัดสินใจ ทักษะการบริหารเวลา ทักษะการบริหารทีมงาน ทักษะการบริหารงาน ทักษะการบริหารตนเอง ทักษะการสื่อสาร ทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และด้านลักษณะชีวิตสู่ความสำเร็จ 20 ประการ ได้แก่ การมีวิสัยทัศน์ การมีความซื่อสัตย์ การรักษาคำพูด การมีวินัย การเอาจริงเอาจัง การอดทนพากเพียร การกระทำดีเลิศทุกเวลา การไวต่อความรู้สึกของผู้อื่น การมีมนุษย์สัมพันธ์ การมุ่งมั่นขยันพากเพียร การรู้จักบังคับตน การซื่อตรงและเที่ยงธรรม การมีความรับผิดชอบ การมีคำพูดและความคิดแง่บวก การมีความยุติธรรม การมีความกล้าหาญ การมีความเสียสละ การเรียนรู้ตลอดชีวิต การมีความรอบคอบ และการมีความถ่อมใจ
4เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. สังคมพหุเอกานิยม : เอกภาพในความหลากหลาย. กรุงเทพฯ : ซัคเซส มีเดีย, 2542, 42.

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 63 ฉบับที่ 5 วันที่16-22 ตุลาคม 2558

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)

แหล่งที่มาของภาพ : http://polarbottle.com/pb/wp-content/uploads/2014/03/YALE-CYCLING2013-940×626.jpg