‘นักวิชาการ’ชี้นโยบายพรรคการเมืองไทย ยังก้าวไม่พ้น ‘ประชานิยม’

ศ.ดร เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และประธานสถาบันการสร้างชาติ กล่าวถึง นโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ได้ประกาศออกมาในการหาเสียงในปัจจุบันว่าพรรคการเมืองต่าง ๆ เฉพาะพรรคการเมืองที่เป็นตัวเต็งที่จะได้รับการเลือกตั้งเป็นรัฐบาล หรือเป็นพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนี้เห็นว่าในภาพรวมนโยบายส่วนใหญ่ยังเป็นนโยบายประชานิยมที่มุ่งหวังคะแนนเสียงจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งและกำหนดนโยบายขึ้นมาเพื่อคะแนนเสียงโดยเฉพาะ ทำให้นโยบายยังเน้นการแจกเงิน เพิ่มเงินอุดหนุนให้กับประชาชนและเกษตรกร พักหนี้ และลดค่าครองชีพที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้าให้ประชาชน
.
ทั้งนี้จะเห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้นโยบายส่วนใหญ่ของพรรคการเมืองยังเป็นนโยบายที่อยู่ในกรอบแบบเดิมๆโดย ไม่ได้เป็นการวางนโยบายเพื่อการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง หรือพัฒนาประเทศไปข้างหน้า โดยหากดูในส่วนของนโยบายหาเสียงส่วนใหญ่ของพรรคที่เป็นพรรคขนาดใหญ่และขนาดกลาง ก็ยังไม่ได้ระบุวิสัยทัศน์ที่จะนำประเทศไปสู่อนาคตที่ต้องการได้
.
ซึ่งการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้านั้นจำเป็นที่ต้องวางแผนและกำหนดนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจที่ถูกต้องและเป็นระบบ แต่เมื่อยังไม่มีนโยบายในส่วนนี้เมื่อพรรคการเมืองเหล่านี้เป็นรัฐบาล ก็จะดำเนินนโยบายแบบเดิม ๆ และนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เหมือนเดิม ซึ่งอาจช่วยบรรเทาปัญหาไม่ให้แย่ลงกว่าเดิมได้ แต่ก็จะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ยกระดับประเทศให้ก้าวหน้ากว่าที่เป็นอยู่ได้
.
“จะเห็นได้ว่าเลือกตั้งครั้งนี้แต่ละพรรคการเมือง แข่งกันใช้นโยบายประชานิยม เน้นแจกเงิน ลดค่าครองชีพ ยกหนี้ เช่น พรรคภูมิใจไทย ก็มีนโยบายพักหนี้ 3 ปี พรรคพลังประชารัฐ เพิ่มเงินบัตรประชารัฐเป็น 700 บาทต่อเดือน และแจกที่ดินทำกิน ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ แจกเงินช่วยชาวนา 3 หมื่นบาทต่อครัวเรือน แจกฟรีนมโรงเรียนให้เด็ก 365 วัน และเงินอุดหนุนประมง 1 แสนบาทต่อปี ส่วนพรรคเพื่อไทยเพิ่มค่าแรง 600 บาท ฯลฯ เป็นต้น นโยบายเหล่านี้อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อภาระการคลังของประเทศ รวมทั้งยังทำให้ประชาชนอ่อนแอ เพราะเคยชินกับการรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง”
.
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวต่อว่าพรรคการเมืองควรขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวหน้าผ่านนโยบายที่มีวิสัยทัศน์ระยะยาว มีนวัตกรรม คิดนอกกรอบ กล้าที่จะขยับ (shift) ทางด้านนโยบาย เปลี่ยนกรอบการดำเนินนโยบายจากเดิม และแก้ปัญหาที่สำคัญ ๆ อย่างจริงจังและยั่งยืน เช่น การขับเคลื่อนประเทศให้หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง การแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน การปฏิรูประบบราชการ การจัดการเศรษฐกิจนอกระบบและเศรษฐกิจสีเทา การแก้ปัญหามลภาวะและสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นนโยบายที่สำคัญที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ
.
สำหรับนโยบายการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนที่เป็นนโยบายที่ดีคือ นโยบายที่ทำให้ประชาชนเข้มแข็งและสามารถพึ่งตัวเองได้ และไม่เสพติดการช่วยเหลือของภาครัฐ เช่น การให้แบบมีเงื่อนไข โดยให้ประชาชนทำงานแลกสวัสดิการ การส่งเสริมทักษะอาชีพเพื่อให้ประชาชนมีผลิตภาพที่สูงขึ้น เพื่อจะได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น หรือการใช้มาตรการภาษีติดลบ (Negative income tax) เพื่อให้เงินอุดหนุนเพื่อให้คนมีแรงจูงใจทำงานเพิ่มขึ้น
.
โดยจะเป็นการจ่ายเงินออกไปสู่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยให้คนที่มีรายได้น้อยแจ้งหรือยื่นแบบรายได้เท่าไร หากต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดก็จะได้รับเงินชดเชยจากภาครัฐ โดยก็ทำเหมือนกับการยื่นภาษีปกติ แต่แทนที่เมื่อยื่นแล้วต้องเสียภาษี ก็จะได้เงินชดเชยมาแทน ซึ่งในต่างประเทศเขาก็ทำกัน
.
ซึ่งจะช่วยดึงทุกคนให้เข้าสู่ระบบภาษีได้ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปคนที่เคยได้เงินชดเชยภาษีจากการมีรายได้ต่ำหากในอนาคตเขามีรายได้ขึ้นอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี ก็จะทำให้ระบบการจัดเก็บภาษีของไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *