คอร์รัปชั่นเป็นตัวชี้วัดด้านหนึ่งของการขาดคุณธรรมในสังคมไทย จากการสำรวจสถานการณ์คุณธรรมของสังคมไทย โดยศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ร่วมกับ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” ซึ่งได้ถามถึงปัญหาวิกฤตทางคุณธรรมที่มีความรุนแรงในสังคมไทย ผู้ตอบแบบสอบถามมองว่า ประเด็นที่วิกฤตมากที่สุด คือ ปัญหาความไม่ซื่อสัตย์สุจริต การทุจริตคอร์รัปชั่น รองลงมา คือ ปัญหาขาดความสามัคคีและความขัดแย้งในสังคม และอันดับสาม คือ ปัญหาขาดจิตสำนึกสาธารณะ ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม
แม้จะมีการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นมากขึ้นในปัจจุบัน แต่ผมมองว่า ลึกๆ แล้ว ปัญหาความไม่ซื่อสัตย์สุจริตและคอร์รัปชั่น นับเป็นปัญหาใหญ่ที่คนในสังคมไทยยังยอมรับได้ หากตนเองหรือพวกพ้องยังได้ประโยชน์อยู่
ตลอดระยะเวลา 22 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2538 – 2559 ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (Corruption Perceptions Index: CPI) ของไทย ไม่เคยได้ถึง 4 คะแนนเลย จากคะแนนเต็ม 10 กล่าวคือ มีคะแนนเฉลี่ยเพียง 3.39 คะแนน สะท้อนว่า ประเทศไทยไม่ได้ถูกมองว่าพยายามแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นอย่างจริงจังเลย
คะแนนดังกล่าวยังนับว่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับคะแนนของมาเลเซีย อันมีลักษณะเชิงภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจที่คล้ายและใกล้เคียงกับประเทศไทย โดยพบว่า ประเทศมาเลเซียมีคะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นเฉลี่ย 22 ปี อยู่ที่ 4.97 คะแนน และเมื่อเปรียบเทียบในกลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศมีคะแนนอยู่ในอันดับ 4 เป็นรองสิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย ตามลำดับ ขณะที่ประเทศเดนมาร์กที่นับว่าเป็นประเทศที่มีคะแนนดัชนีภาพลักษณ์เป็นอันดับ 1 ของโลกในช่วง 5 ปีหลังสุด โดยมีคะแนนเฉลี่ยตลอด 22 ปี เท่ากับ 9.43 คะแนน
นอกจากประเทศเดนมาร์กที่มีคะแนนเป็นอันดับ 1 ของโลกแล้ว ยังมีประเทศฟินแลนด์และนิวซีแลนด์ที่มีภาพลักษณ์ที่ดีที่สุด ผลัดเปลี่ยนกันตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ 3 ประเทศนี้มีเหมือนกัน คือ การบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพและมีการวางรากฐานต่อสู้กับปัญหาคอรัปชั่นมาอย่างยาวนาน อีกทั้ง ยังเป็นประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยและมีสื่อมวลชนที่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นสูง
ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า ความเป็นประชาธิปไตยและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่เพิ่มขึ้น มีความสัมพันธ์กับปัญหาคอรัปชั่นที่ลดลง มากกว่านั้น คือ การให้ความสำคัญกับประเด็นทางสิทธิมนุษยชน เช่น ความเท่าเทียมกันทางเพศและเสรีภาพของข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกในการสร้างความโปร่งใสของภาครัฐ การมีภาคประชาสังคมที่เข้ามามีส่วนร่วม เป็นต้น
คนเดนมาร์กถูกสอนให้ปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างเท่าเทียมและถูกสอนให้ตั้งคำถามต่อรัฐบาล ไม่ใช่หลับหูหลับตาเชื่อทั้งหมด แต่ต้องตั้งคำถามอยู่เสมอ เพราะประชาธิปไตยเป็นเรื่องของความโปร่งใส และประชาชนต้องสอดส่องนักการเมืองและรัฐบาลว่ากำลังทำอะไรอยู่ ในประเทศเดนมาร์ก ไม่มีองค์กรเพื่อปราบปรามหรือควบคุมการคอร์รัปชั่น เพราะประเทศต้องมีรัฐบาลที่เชื่อใจได้
สำหรับประเทศสิงคโปร์ มีคะแนนใกล้เคียงกับประเดนมาร์ก เป็นเพราะว่า มีการแก้ไขกฎหมายให้มีบทลงโทษที่รุนแรงแก่ข้าราชการและนักการเมืองที่คอร์รัปชั่น หากข้าราชการหรือนักการเมืองที่บ้านราคาแพง รถยนต์หรู ทั้งๆ ที่มีเงินเดือนน้อย จะถูกดำเนินคดีและยึดทรัพย์สิน โดยไม่ต้องสอบสวนหรือหาหลักฐานอื่นๆ เพิ่มเติม
ส่วนประเทศมาเลเซียเอง ต้องยอมรับว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พัฒนาประเทศขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 ของอาเซียนได้นั้น นอกจากความเข้มแข็งของรัฐบาลแล้ว คือ การเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามปัญหาทุจริต โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายที่รุนแรงกับเหล่าเจ้าหน้าที่รัฐที่ฉ้อโกง
ผมเชื่อว่า ทุกคนปรารถนาอยากจะเห็นสังคมของเราดีขึ้น คนมีคุณธรรมสูงขึ้น ซื่อสัตย์สุจริต มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย ซึ่งที่สำคัญที่สุด คือ เราต้องหาทางเอาชนะวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกในสิ่งที่เราทำจนกลายเป็น “ความเคยชิน” ให้ได้
ผมจึงขอเสนอแนะนวัตกรรมยุทธศาสตร์คุณธรรมเพื่อการสร้างชาติ ดังต่อไปนี้
1. เผยแพร่นิยาม คนดี คือ คนที่เห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว
ประเด็นหลัก คือ ทำให้คนในสังคมมีนิยาม “คนดี” แบบเดียวกัน ผมขอเสนออีกครั้งตามที่ให้นิยามมานานว่า “คนดี คือ คนที่เห็นแก่ส่วนรวมมากว่าส่วนตัว” ซึ่งเป็นการทำให้นิยามมีความเป็น “รูปธรรม” คนในสังคมมองไปในทิศเดียวกันและช่วยให้ง่ายในการเปลี่ยนความคิดของตน
2. กำหนดวิสัยทัศน์แห่งชาติ “สังคมที่ให้คุณค่าความดี”
สังคมที่ให้คุณค่าความดี หมายถึง สังคมที่ยกย่องคนที่คุณงามความดี วัดคุณค่าพฤติกรรมและให้รางวัลคนในสังคมบนพื้นฐานสิ่งดีที่เขาได้กระทำ ทั้งต่อตนเอง ต่อครอบครัว ต่อชุมชน ต่อประเทศชาติ และต่อมนุษยชาติ โดยมีตัวชี้วัดวัดทุกหน่วยงาน องค์การ บุคลากร
3. ตั้งเป้าประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 20 ประเทศแรกที่มีคอร์รัปชั่นน้อยที่สุดในโลก
ปัจจุบัน ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 85 จึงนับว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง คือ ท้าทายให้บริหารอย่างมีธรรมาภิบาลมากยิ่งขึ้น รัฐบาลและข้าราชการต้องตื่นตัว เพื่อกระตุ้นให้ภาคส่วนต่าง ๆ ช่วยกันตรวจสอบ ควบคุม เพื่อให้การบริหารประเทศทั้งระบบจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้
4. ขยายบทบาท กระทรวงวัฒนธรรม สู่ กระทรวงส่งเสริมวัฒนธรรมและคุณธรรม
4.1 ส่งเสริมไตรภาคีคุณธรรม ได้แก่ บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) บรม (บ้าน โรงเรียน มัสยิด) และ ครบ (คริสตจักร โรงเรียน บ้าน)
4.2 ส่งเสริมค่านิยมอารยอุปถัมภ์ หมายถึง อุปถัมภ์คนที่สมควรได้รับ โดยให้คนดี คนเก่ง คนกล้า คนที่เหมาะสมกับตำแหน่งและบทบาทหน้าที่นั้น ได้มีโอกาสมากที่สุด
5. ทำให้การทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นสิ่งที่ “ได้” ไม่คุ้ม “เสีย” โดยเพิ่มโทษให้หนัก ตัดสินให้ไว หนีไปไหนไม่รอด
6. สร้างแรงจูงใจผู้แจ้งเบาะแส “ทำดี มีรางวัล” เช่น เพิ่มรางวัลจูงใจนำจับผู้กระทำทุจริต เพิ่มมาตรการคุ้มครองผู้ที่แจ้งเบาะแสการทุจริต ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายต้านคอร์รัปชั่นในองค์กร เป็นต้น
7. มีระบบ “สร้างคนดี” ในสังคม
7.1 การสร้างวิทยาลัยผู้นำเพื่อสร้างผู้นำระยะยาว คือ หาคน 3 รุ่น ได้แก่ รุ่นผู้ใหญ่ รุ่นวัยกลาง รุ่นหนุ่มสาว ในทุกหมู่บ้านทั่วประเทศไทย หรือทั้ง 80,000 หมู่บ้าน รวม 240,000 คน ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นคนดีที่สุด มาอบรมหลักสูตรผู้นำในมิติต่างๆ
7.2 จัดตั้งสถาบันเพื่อส่งเสริมการทำงานอาสาสมัครเพื่อสังคม เพื่อส่งเสริมการทำงานอาสาสมัครเพื่อสังคมทั่วประเทศ ผมเคยเสนอเรื่องนี้มา 20 กว่าปี เรามีสถาบันอาสาสมัครแล้ว แต่ยังขาดสถาบัน “ส่งเสริม” อาสาสมัครจริงๆ
7.3 จัดตั้งโรงเรียนครอบครัว เพื่อสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ สอนเกี่ยวกับการใช้ชีวิตคู่อย่างมีความสุข การจัดการปัญหาภายในครอบครัว เป็นต้น บัดนี้ ผมได้ก่อตั้ง “สถาบันศาสตร์การเป็นพ่อแม่” ขึ้นแล้ว
การสร้างชาติต้องอาศัย 3 ภาคส่วนที่สำคัญ อันได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ทำงานสอดประสานกันได้อย่างสมดุล โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นนามธรรมอย่างการปลูกฝังและสร้างคุณธรรม อันเป็นการยากที่จะขับเคลื่อนให้เห็นความพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเป็นรูปธรรม
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://image.bangkokbiznews.com/media/images/size1/2017/03/20/kecaa9kf7gdaa89hb9cgf.jpg