“ที่ดิน สปก : ทำกินเพื่อเกษตรกร ไม่ใช่ ทุจริตเพื่อข้าราชการ นายทุน และนักการเมือง”

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม 2567 เวลา 19:00 น. ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้จัดรายการสดผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (drdancando) ซึ่งเป็นการจัดรายการผ่านช่องทางนี้มาซักระยะหนึ่งโดยใช้ชื่อรายการว่า More Dan Live โดยในแต่ละครั้งก็จะหยิบเรื่องราวที่กำลังอยู่ในกระแสของสังคมมาพูดคุย

ย้อนไปวันนั้นผู้เขียนหยิบเอาประเด็น “ที่ดิน ส.ป.ก. ทำกินเพื่อเกษตรกร ไม่ใช่ ทุจริตเพื่อข้าราชการ นายทุนและ นักการเมือง” โดยใช้เวลาในการไลฟ์ครั้งนั้นประมาณ หนึ่งชั่วโมงสิบสามนาที มีผู้เข้าชมจำนวนหนึ่ง

ในบทความนี้จะได้หยิบเอาสาระสำคัญจากการจัดรายการสดในวันนั้นมาถ่ายทอดให้ผู้อ่านแฟนๆ ของ CIO World Business ได้พิจารณา ถกเถียงและพูดคุยกันอย่างมีอารยะ

ทำความเจตนารมของ พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 39 กำหนดเอาไว้อย่างชัดเจนว่า วัตถุประสงค์ของการออกหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีที่ดินทำกิน ด้วยการจัดหาที่ดินของรัฐและที่ดินของเอกชนมาปฏิรูปเพื่อให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ทำกินใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตร

กรณีข้อพิพาทการออก ส.ป.ก. 4-01 ทับซ้อนพื้นที่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ดำเนินคดีผู้รุกเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จำนวน 5 คน ซึ่งมีเอกสาร ส.ป.ก.4-01 และมีหมุด ส.ป.ก. มาปักในพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อนของพื้นที่อุทยานแห่งชาติกับ ส.ป.ก. เป็นการตอกย้ำปัญหาที่ดิน ส.ป.ก. ที่มีมาตลอด

แท้จริงแล้วที่ดิน ส.ป.ก. มีปัญหามาเป็นเวลานาน เช่น พื้นที่วังน้ำเขียว พื้นที่เขาใหญ่ เป็นต้น โดยเฉพาะการลักลอบเปลี่ยนมือ เกษตรกรมิได้เข้าใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อการเกษตร การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินผิดกฎหมาย การซื้อขายแลกเปลี่ยน ให้เข้าใช้ประโยชน์ ทั้งระหว่างเกษตรกรด้วยกันเองและเกษตรกรกับนายทุน

สาเหตุของปัญหาเกิดมาจากหลายสาเหตุประกอบกัน เช่น ความต้องการถือครองที่ดินของนายทุน การไม่มีโฉนดที่ดิน ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของ การทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ อาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายกระทำการทุจริต รวมถึงสาเหตุอันเกิดจากตัวเกษตรกรเอง เช่น การเข้าสู่วัยสูงอายุ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ไม่มีทายาท ทายาทไม่ต้องการทำเกษตรกรรม ขาดแรงงาน เช่น อาศัยอยู่พื้นที่ห่างไกล เป็นต้น ขาดทุน หนี้สิน ผลผลิตตกต่ำ เผชิญภัยพิบัติ เข้าไม่ถึงแหล่งทุน ขาดปัจจัยการผลิต ดินไม่มีคุณภาพ ไม่เหมาะกับการทำการเกษตร ขาดความรู้พัฒนาและใช้ประโยชน์ที่ดิน รายได้ไม่เพียงพอ มีปัญหาคุณภาพชีวิต เป็นต้น

ทั้งนี้มีความพยายามในการแก้ปัญหาดังกล่าว แนวทางหนึ่งคือ โครงการเปลี่ยนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร มีคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อาศัยอำนาจตามมาตรา 30 เห็นชอบพิจารณาปรับปรุงเอกสารสิทธิการใช้ประโยชน์ ส.ป.ก. 4-01 ให้เป็นโฉนดเพื่อการเกษตรตามนโยบายของรัฐบาล เริ่มต้นเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา ด้วยคาดหวังว่าจะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

ในประเด็นดังกล่าวนี้ ผมเคยนำเสนอความคิดทำให้เอกสารสิทธิที่ดินมีกรรมสิทธิ์สมบูรณ์มากขึ้น ด้วยการแปลงเอกสารสิทธิที่ดินเอกชนประเภทอื่น ๆ ให้เป็นโฉนดที่ดิน เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิบนที่ดินเท่าเทียมกัน ทำให้ระบบการจัดการที่ดินมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาที่เกิดจากความไม่สมบูรณ์ของกรรมสิทธิ์ที่ดิน[2] นอกจากนี้ ผมเสนอให้ทำ ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร เพื่อให้สามารถใช้เป็นหลักประกันกู้ยืมจากสถาบันการเงินได้ โดยให้มีการสลักหลังโฉนดเพื่อป้องกันการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์

 

ตารางแสดงภาพรวมผลการจัดที่ดิน 3 ประเภท (เกษตร, ชุมชน, เอกชน) ทั้งประเทศ ข้อมูล ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567

ภาค

จังหวัด

อำเภอ

ตำบล

ราย

แปลง

ไร่

ใต้

14

122

502

269,384

373,505

3,833,395

เหนือ

17

179

958

719,559

949,090

8,329,548

ตะวันออกเฉียงเหนือ

20

298

1,665

1,648,111

2,058,886

18,492,936

กลาง

21

127

547

345,116

440,340

5,725,329

รวมทั้งประเทศ

72

726

3,672

2,982,170

3,821,821

36,381,208

ที่มา: เว็บไซต์ ส.ป.ก.

 

อย่างไรก็ตาม ที่ดิน ส.ป.ก. เป็นปัญหาที่เกิดมาจากหลายสาเหตุ ผมจึงขอเสนอแนะทางออกที่สำคัญ เพื่อช่วยอารักขาดูแลรักษาสมบัติของชาติ ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ตรงวัตถุประสงค์และตรงกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้

1.เข้มงวดตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชัน มีระบบการรายงานที่มีประสิทธิภาพ มีการยืนยันความถูกต้องข้ามผู้รับผิดชอบ ข้ามหน่วยงานรัฐ ฯลฯ (cross check) เข้มข้นตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. และทุกหน่วยงาน ทุกระดับ รายคน พร้อมกับลงข้อมูลในเว็บไซต์หน่วยงานทั้งหมดอย่างเปิดเผย โปร่งใส เข้าถึงได้ ให้มีระบบร้องเรียนและตรวจสอบโดยประชาชน

2.ปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย ยืดหยุ่น เหมาะสม เป็นปัจจุบัน บังคับใช้ให้มีประสิทธิภาพ อุดช่องโหว่ที่เอื้อให้เกิดการทุจริตทุกช่อง

3.เพิ่มประสิทธิภาพบริหารลงลึก ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรายคน สร้างความตระหนัก ให้คำปรึกษาแนะนำ มีระบบเวนคืนที่มีประสิทธิภาพ สร้างแรงจูงใจให้อยากคืน เร่งรีบแจกจ่ายที่ดินให้กับเกษตรกรตัวจริงที่ทำจริงที่ไม่มีที่ทำกิน กำจัดเกษตรกรลูกน้องนายทุนที่ร่วมมือเพื่อซื้อขายที่ดินแบ่งผลประโยชน์กับข้าราชการกังฉิน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายทุนอยากได้ที่ดิน และนักการเมืองหาประโยชน์จากนโยบายนี้

4.ใช้ประโยชน์พื้นที่คุ้มค่าสูงสุด ไม่ปล่อยให้มีพื้นที่ว่างเปล่า ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ติดตามการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีประสิทธิสภาพ การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย การแก้ปัญหาบุคลากรมีจำกัด นายกรัฐมนตรีต้องรู้จักข้าวทุกต้นในที่ดินทุกตารางนิ้ว แต่ไม่ต้องลงไปดูแล ทำการตรวจเอง

5.บูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ไม่ให้ซ้ำซ้อน นโยบาย กฎระเบียบต่าง ๆ ข้อมูลมีเอกภาพ เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องใช้ข้อมูลชุดเดียวกัน ทำกระบวนการให้ชัดเจนทั้งระบบในมาตรฐานเดียวกันสอดคล้องกันทั้งประเทศ และทำให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ เช่น แผนที่ รังวัด เป็นต้น

ที่ดิน ส.ป.ก. เป็นปัญหาสำคัญระดับชาติสะท้อนให้เห็นถึงความจริงจังของรัฐบาลในการแก้ปัญหา บริหารจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด ตรงตามวัตถุประสงค์และตรงกลุ่มเป้าหมาย เพื่ออารักขาดูแลรักษาสมบัติของชาติ

 

บรรณานุกรม

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.). (2561). 43 ปี ส.ป.ก. “สานต่อศาสตร์

พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”. สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม.

 


[1] ดร.แดน Live สด กับประเด็น “ที่ดิน สปก : ทำกินเพื่อเกษตรกร ไม่ใช่ ทุจริตเพื่อข้าราชการ นายทุนและ นักการเมือง” วันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม 2567 เวลา 19:00 น.

[2] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2553). คานงัดประเทศไทย. ซัคเซส มีเดีย, 2-3.

ชมรายการ (วิดีโอ) ที่ดิน_ส.ป.ก. : ทำกินเพื่อเกษตรกร ไม่ใช่ ทุจริตเพื่อข้าราชการ นายทุนและ นักการเมือง