ทำไมประเทศสวิสเซอร์แลนด์เป็นอันดับ 1 ตามการจัดอันดับ Global Innovation Index
ทั้งที่เป็นประเทศเล็กบนเทือกเขาแอลป์ ไม่มีทางออกทะเล ขาดแคลนทรัพยากร ?
ในศตวรรษที่ 18 ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ยังมีแค่วัวกับแกะ แต่ปัจจุบัน กลับเป็นประเทศที่มีการจดสิทธิบัตรต่อประชากรอันดับ 1 ของโลก โดยภาคธุรกิจเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการสร้างนวัตกรรม
บริษัทขนาดใหญ่ในสวิสเซอร์แลนด์ เช่น ABB, Roche, Nestlé และ Novartis แต่ละบริษัทยื่นจดสิทธิบัตร 400 – 600 ชิ้นต่อปี ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวนมากเป็นผู้นำในระดับนานาชาติ ในการใช้ประโยชน์จากความรู้ใหม่ล่าสุดในกระบวนการนวัตกรรมและในตลาดเฉพาะของสินค้าที่มีคุณภาพสูง และใช้ความเชี่ยวชาญพิเศษ
อะไรคือปัจจัยสำคัญในความสำเร็จนี้ ? ไม่ว่าจะกับประเทศสวิสเซอร์แลนด์ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ หรือประเทศอื่นๆ ในบทความนี้ ผมมี “บทเรียนจากประเทศนวัตกรรมระดับโลกในการสร้างและพัฒนานวัตกรรมเพื่อการสร้างชาติ” มาฝากครับ
1. การทำให้เป็นนานาชาติ (internationalization)
การส่งเสริมให้ธุรกิจสร้างนวัตกรรม ต้องทำให้ธุรกิจมีความเป็นนานาชาติ กล่าวคือ เชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานของโลก หรือ ผลิตสินค้าและบริการเพื่อป้อนตลาดโลก ความเป็นนานาชาติอาจอยู่ในรูปแบบของการค้าระหว่างประเทศ การลงทุนระหว่างประเทศ การจัดจ้างข้ามประเทศ และความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม
บริษัทที่มีนวัตกรรมมักเป็นบริษัทข้ามชาติ หรืออยู่ในประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากการสร้างนวัตกรรมมีต้นทุนสูง โดยเฉพาะนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งการลงทุนจะคุ้มค่า ก็ต่อเมื่อ ตลาดมีขนาดใหญ่มากพอ เพราะธุรกิจจะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนด้านนวัตกรรมสูงขึ้น
การทำให้เป็นนานาชาติ ส่งผลให้ธุรกิจมีโอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้และส่งเสริมสมรรถนะด้านนวัตกรรม บริษัทจะได้รับประโยชน์จากความก้าวหน้าของบริษัทอื่นๆ ที่อยู่ในระดับโลกเช่นเดียวกัน ส่วนบริษัทในท้องถิ่นจะได้รับประโยชน์จากความก้าวหน้าของบริษัทระดับโลกที่ตั้งอยู่ในท้องถิ่น
แนวทางการทำให้เป็นนานาชาติ คือ การเปิดเสรีทางการค้า และการลงทุนระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการเชื่อมต่อกับห่วงโซ่อุปทานโลก สนับสนุนให้ธุรกิจนวัตกรรมออกไปสู่ตลาดโลก และดึงดูดการลงทุนจากบริษัทที่อยู่ที่พรมแดนนวัตกรรมของโลก
เหตุที่สวิสเซอร์แลนด์มีนวัตกรรมเป็นผลจากการเปิดตลาดเสรี เนื่องด้วยตลาดในประเทศมีขนาดเล็กจึงต้องเปิดเสรีและมุ่งส่งออก บริษัทของสวิสเซอร์แลนด์ต้องมุ่งตลาดต่างประเทศ และทำให้ตัวเองต้องมีผลิตภาพเพื่อแข่งขันได้ รวมไปถึงมีการนำเข้าแรงงานมีทักษะจากต่างประเทศ และมีระบบการศึกษาที่มีคุณภาพสูง
2. การทำให้เป็นดิจิทัล (Digitalization)
เศรษฐกิจดิจิทัลมีความเข้มแข็งและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และกำลังกลายเป็นกระแสหลักของเศรษฐกิจโลก โดยได้รับการสนับสนุนด้วยการเติบโตของโทรคมนาคมแบบเคลื่อนที่ การหลอมรวมของเสียง วิดีโอ และข้อมูลไปสู่อินเทอร์เน็ตและ Internet of Things
เทคโนโลยีดิจิทัลจำเป็นต่อการสร้างนวัตกรรมในศตวรรษที่ 21 เพราะอินเทอร์เน็ตกลายเป็นแพลตฟอร์มสำหรับนวัตกรรม เนื่องจากการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยเสรี ทำให้มีพื้นที่สำหรับการสร้างสรรค์ แลกเปลี่ยนแนวคิด การประกอบการ และการทดลอง
เทคโนโลยีดิจิทัลจะทำให้ธุรกิจสามารถจัดการห่วงโซ่อุปทานโลก (Global Value Chains) ซึ่งทำให้บริษัทสามารถขยายการผลิตระหว่างประเทศได้ หรือ Big data ที่ถูกใช้ในองค์กรในทางที่สร้างสรรค์ จะทำให้ธุรกิจมีโอกาสสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ กระบวนการ วิธีการทางองค์กร และการตลาด
สังเกตได้จากการจัดอันดับ 50 บริษัทที่มีนวัตกรรมมากที่สุดในโลก โดย Boston Consulting Group (BCG) พบว่ามีบริษัทที่เกี่ยวกับดิจิทัลเทคโนโลยีอยู่เกือบครึ่ง อาทิ Apple, Google, Microsoft, Samsung, Amazon, IBM, Yahoo, Tencent, SoftBank, Netflix ฯลฯ
ประเทศสวีเดนถูกจัดเป็นอันดับ 2 ใน Global Innovation Index เป็นเวลาต่อเนื่องหลายปี เนื่องจากการให้ความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ โดยเฉพาะการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพด้านไอที ทำให้สวีเดนเป็นแหล่งกำเนิดของธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็น Spotify, Skype รวมถึงเป็นผู้นำด้านเกมอย่างโมแยง (Mojang) โดยเมืองสต็อกโฮล์ม (Stockholm) มีธุรกิจสตาร์ทอัพมากกว่า 20,000 แห่ง ถูกจัดเป็น smart city ในอันดับที่ 2 จาก European Digital City Index รองจากกรุงลอนดอน
นอกจากนี้ ฟินเทค (FinTech) ยังเป็นสินค้าและบริการชั้นนำในภาคเทคโนโลยีของสวีเดน ในปี 2016 รองลงมาเป็นด้าน E – commerce และตามมาด้วยด้านสุขภาพ โดยมีมูลค่าการค้าเพิ่มสูงขึ้นกว่า 1.5 พันล้านยูโรจากบริษัทและธุรกิจด้านเทคโนโลยี หรือเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 จากปี 2015
3. การทำให้เกิดเป็นวัฒนธรรม (Culturalization)
การพัฒนาทางเทคโนโลยี (techie) และการพัฒนาด้านปรัชญาอุดมการณ์ (fuzzie) ต้องสอดประสานกัน ดังแนวคิด “Techie และ Fuzzie” ที่ผมเคยเสนอไว้ ว่าการพัฒนาเทคโนโลยี ต้องคำนึงมิติปรัชญาอุดมการณ์และประยุกต์ให้เหมาะสมกับบริบท เพราะอารยธรรมของโลกเกิดจากความสมดุลนวัตกรรมทางเทคโนโลยี กับนวัตกรรมทางสังคม
ตัวอย่างวัฒนธรรมที่สนับสนุนการสร้างนวัตกรรม ได้แก่ วัฒนธรรมแบ่งปันความรู้ (Knowledge-sharing culture) วัฒนธรรมเรียนรู้จากความผิดพลาด (Educatable culture) วัฒนธรรมสนับสนุนความคิดที่แตกต่าง (Democratic culture) และวัฒนธรรมที่เน้นเป้าหมาย (Goal-oriented Culture)
ประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศหนึ่งที่มีวัฒนธรรมดังกล่าวอย่างครบถ้วน แต่วัฒนธรรมที่โดดเด่นที่สุด คือ การเปิดต้อนรับวัฒนธรรมอื่นที่แตกต่าง มีใจกว้าง แบ่งปันและตรงไปตรงมา ทำให้เกิดการพัฒนาในด้านการวิเคราะห์ การแก้ปัญหาและความคิดสร้างสรรค์ จึงเป็นการง่ายที่จะพบปะพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดกับชาวดัชต์
เศรษฐกิจของประเทศเนเธอร์แลนด์ได้พัฒนาจากระบบเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการผลิตไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่นำโดยอุตสาหกรรมการบริการ เป็นผู้ส่งออกผลิตผลการเกษตรระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดประเทศหนึ่ง เป็นประเทศที่เชี่ยวชาญในระดับโลกในอุตสาหกรรมหลายสาขา โดยมีอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่แข็งแกร่งด้วยเช่นกัน โดยมีบริษัทชั้นนำที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก เช่น Philips, Heineken, KLM, Shell, ING และ Unilever
ผมขอส่งท้ายด้วยคำกล่าวของ นวัตกรคนสำคัญของโลกอย่าง Steve Jobs ที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของนวัตกรรม ต่อความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ ว่า “Innovation distinguishes between a leader and follower” หรือ นวัตกรรมแยกระหว่างผู้นำและผู้ตามออกจากกัน
หากเราหวังให้ประเทศไทยก้าวไปอยู่แถวหน้าบนเวทีโลก เป็นผู้นำในระดับภูมิภาคหรือทวีป ทุกภาคส่วนทั้งบริษัท ผู้ประกอบการ มูลนิธิ และองค์กรไม่แสวงหากำไร มหาวิทยาลัย สถาบันวิทยาศาสตร์ หน่วยงานภาครัฐ พลเมืองและผู้บริโภคทุกคน ต้องเร่งและร่วมมือกันสร้างและพัฒนานวัตกรรมให้เกิดขึ้นและติดอันดับต้นๆ ของโลกให้ได้ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com