ผมเคยนิยาม “คนดี” เอาไว้ในหลายเวที
ทั้งเคยเขียนเป็นหนังสือชื่อ “คนดีสร้างได้ : โมเดลบริบูรณ์ธรรม”
และเขียนเป็นข้อคิดคำคมผ่านสื่อต่าง ๆ ว่า “คนดีคือ คนที่เห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน”
ใครก็ตามที่มีเนื้อแท้ภายในเห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตนนับเป็นคนดีในความคิดของผม
เพราะโดยทั่วไปธรรมชาติของมนุษย์เป็นคนที่เห็นแก่ตัวบางระดับมากน้อยแตกต่างกันในแต่ละบุคคล การเห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตนจึงเป็นสัญลักษณ์หรือมาตรวัด “คนดี” ที่ดีที่สุด เช่น การยินดีนำความรู้ความสามารถมาช่วยสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมส่วนรวมแม้ตนเองไม่ได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ เป็นต้น หากสังคมมี “คนดี” เช่นว่านี้อยู่เป็นจำนวนมาก ผมคิดว่าจะมีส่วนรังสรรค์สังคมการอยู่ร่วมกันให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น
สถาบันการศึกษาทุกระดับในฐานะองค์กรหลักแห่งการสร้างคนนับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการช่วยบ่มเพาะหล่อหลอมสร้าง “คนดี” ดังกล่าวนี้ให้เกิดขึ้น เริ่มต้นตั้งแต่สถาบันการศึกษาขั้นพื้นฐานต่อยอดสู่อุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัย เช่น การให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทำโครงการแก้ปัญหาหรือพัฒนาสังคมตามความถนัดและความสนใจของตนเอง การบ่มเพาะสร้างลักษณะชีวิตแห่งการเสียสละ การมีจิตคิดคำนึงถึงผู้อื่น ให้แก่ผู้เรียน ตามที่หลายสถาบันการศึกษากำลังให้ความสำคัญอยู่ ณ ขณะนี้ เป็นต้น
ฮาร์วาร์ดเป็นตัวอย่างสำคัญของสถาบันการศึกษาที่มีส่วนช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างให้เกิด “คนดี” ตามนิยามของผมดังกล่าวนี้ ทั้งผ่านกิจกรรมการเรียนการสอนและกิจกรรมนอกหลักสูตร เปิดโอกาสหรือมีการสร้างพื้นที่ให้นักศึกษาและประชาคมมหาวิทยาลัยเข้าร่วมตามความสนใจ ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมแล้ว ยังมีส่วนสร้างความอิ่มเอมใจให้แก่นักศึกษาอันเกิดจากการมีส่วนนำความรู้ความสามารถมาช่วยสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมส่วนรวมด้วยอีกทางหนึ่ง
ตัวอย่างกิจกรรมที่น่าสนใจดังกล่าวนี้ เช่น นักศึกษาวิทยาลัยกฎหมายฮาร์วาร์ด (Harvard Law School) จำนวน 29 คน (จากจำนวนนักศึกษาที่สมัครเข้าร่วมทั้งหมดเกือบ 90 คน) ได้เดินทางไปให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายแก่ผู้ประสบภัยจากพายุเฮอร์ริเคนมาเรียที่ประเทศเปอร์โตริโก (Puerto Rico) ร่วมกับหลายองค์กรในการทำงานปกป้องสิทธิให้แก่ผู้พักอาศัยดังกล่าว ทั้งสิทธิการได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลกลาง การจ้างงาน และการป้องกันที่อยู่อาศัย ในช่วงประมาณเดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา
ในระยะเวลา 5 วันนักศึกษากลุ่มดังกล่าวได้ให้ความช่วยเหลือแบบไม่คิดค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนในพื้นที่เกือบ 45 เทศบาลในการยื่นอุทธรณ์ขอความช่วยเหลือบรรเทาภัยพิบัติจากหน่วยบริการการจัดการฉุกเฉิน (Federal Emergency Management Agency (FEMA))
ทั้งนี้มากกว่าร้อยละ 60 ของใบสมัครถูกปฏิเสธเนื่องจากเอกสารไม่สมบูรณ์ โดยในระหว่างการให้ความช่วยเหลือนักศึกษาได้สัมภาษณ์เป็นภาษาสเปน พร้อมกับมีนักกฎหมายเตรียมจดบันทึกคำให้การสนับสนุนการอุทธรณ์ดังกล่าว ขณะที่นักศึกษาจำนวนหนึ่งได้ร่วมกับองค์กรท้องถิ่นช่วยเหลือผู้พักอาศัยที่เป็นผู้สูงอายุและผู้พิการทำความสะอาดซากสลักหักพังในบ้านของพวกเขา[1]
กิจกรรมการให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายของนักศึกษาวิทยาลัยกฎหมายฮาร์วาร์ดดังกล่าวนี้เป็นประโยชน์ต่อผู้ประสบภัยของประเทศเปอร์โตริโกอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยเสริมสร้างลักษณะการเห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตนให้แก่นักศึกษาในฐานะการเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกด้วยอีกทางหนึ่ง
สุดท้ายนี้ ผมอยากจะทิ้งท้ายด้วยข้อคิดคำคมของผมที่นำเสนอเอาไว้ในสื่อออนไลน์ที่ว่า
[1] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://news.harvard.edu/gazette/story/2018/03/visiting-harvard-law-students-help-to-mend-puerto-rico/
ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 33 วันศุกร์ 27 เมษายน – พฤหัสบดี 3 พฤษภาคม 2561
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com