ดัชนีประสิทธิผล (TE Index) ภาคเอกชน ชี้ธุรกิจไทยอ่อนทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ถึงเวลามหาวิทยาลัยไทยดูแบบฮาร์วาร์ดเรื่องสร้างทักษะนักศึกษาเป็นผู้ประกอบการ

โลกทุกวันนี้กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างน้อย 3 ประการคือ การก้าวเข้าสู่สังคมความรู้ (knowledge society) ที่มีองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมขั้นสูง เป็นปัจจัยขับเคลื่อน1  กระแสโลกาภิวัตน์ (globalization) ที่เชื่อมโยงโลกทั้งโลกเข้าไว้ด้วยกัน และความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การเปลี่ยนแปลงอย่างน้อย 3 ประการดังกล่าวนี้เป็นแรงผลักขับเคลื่อนให้ประเทศต่าง ๆ ต้องเตรียมพร้อมปรับตัวเตรียมกำลังคนให้สอดคล้อง รองรับ เป็นคนคุณภาพที่สามารถอยู่รอด แข่งขันได้ ภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่หลายประเทศนำมาใช้คือ การศึกษา

สหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวนี้และมีการเตรียมพร้อมพัฒนากำลังคนของตนเองมาเป็นระยะเวลายาวนานผ่านระบบการศึกษา โดยระบบการศึกษาของสหรัฐอเมริกาเน้นสร้างคนให้เป็นนักคิด มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และมีจิตวิญญาณของการประกอบการ2 อันเป็นปัจจัยเงื่อนไขสำคัญที่สนับสนุนให้สหรัฐอเมริกาสามารถก้าวสู่การเป็นประเทศผู้นำทางด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจ วิชาชีพ และวิทยาการองค์ความรู้ระดับชั้นแนวหน้าของโลก

ความเป็นจริงดังกล่าวนี้ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นผ่านการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยระดับชั้นแนวหน้าของสหรัฐอเมริกาและระดับชั้นนำของโลก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ฮาร์วาร์ด

ฮาร์วาร์ดแหล่งบ่มเพาะและพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการให้แก่นักศึกษา

การจัดการศึกษาของฮาร์วาร์ดโดดเด่นด้านการบ่มเพาะหล่อหลอมนักศึกษาให้เป็นนักคิด เป็นนักสร้างสรรค์นวัตกรรม มีทักษะการเป็นผู้ประกอบการ และเป็นผู้นำระดับปัญญาชนของประเทศและของโลก ผ่านทางการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนและการออกแบบสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างนักศึกษาให้บรรลุสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการดังกล่าว

หนึ่งในตัวอย่างสำคัญในที่นี้คือ การแข่งขันการเป็นผู้ประกอบการทางศิลปวัฒนธรรม (Cultural Entrepreneurship Challenge) ซึ่งมีเป้าหมายต้องการพัฒนาทักษะและจิตวิญญาณการประกอบการให้แก่นักศึกษาผ่านการริเริ่มธุรกิจที่เป็นคานงัดทางด้านศิลปวัฒนธรรม และการแข่งขันวิทยาศาสตร์สิ่งมีชีวิตและสุขภาพ (Health and Life Sciences Challenge) ที่เปิดโอกาสและเป็นช่องทางให้นักศึกษาฮาร์วาร์ดได้แสดงออกถึงศักยภาพ ความสามารถ การคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และการสร้างสรรค์นวัตกรรมการจัดการแก้ปัญหาสังคมโดยใช้กิจการทางธุรกิจ 

สำหรับครั้งนี้เป็นปีที่ 4 มีข้อเสนอโครงการเข้าร่วมการแข่งขันทั้ง 2 รายการกว่า 90 โครงการจากวิทยาลัย 12 แห่งของฮาร์วาร์ด แต่มีข้อเสนอโครงการที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบสุดท้ายเพียง 10 โครงการเท่านั้น แบ่งเป็นข้อเสนอโครงการวิทยาศาสตร์สิ่งมีชีวิตและสุขภาพ 5 โครงการ และข้อเสนอโครงการการเป็นผู้ประกอบการทางศิลปวัฒนธรรม 5 โครงการ อาทิ โครงการที่ชื่อว่า Tradr แอพพลิเคชั่นเคลื่อนที่สำหรับใช้ในการซื้อ การขาย การค้า และการค้นหาสินค้าทำด้วยมือและที่เกี่ยวกับงานศิลปะ เป็นต้น โดยแต่ละรายการการแข่งขันมีห้องทดลองปฏิบัติการนวัตกรรมแห่งฮาร์วาร์ด (Harvard Innovation Lab) ทำหน้าที่คอยให้ความช่วยเหลือติวเข้มให้แก่นักศึกษา พร้อมทั้งมีผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม คณาจารย์ และนักลงทุน ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและมากด้วยประสบการณ์ทำหน้าที่ในการพิจารณาตัดสิน3

การออกแบบการเรียนการสอนและบรรยากาศสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้นักศึกษาเป็นนักคิด เป็นนักสร้างสรรค์นวัตกรรม และมีทักษะการเป็นผู้ประกอบการ มีส่วนสำคัญที่ช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้นักศึกษาฮาร์วาร์ดก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำการเปลี่ยนแปลง เป็นผู้บริหารของหน่วยงานและองค์กรสำคัญ และเป็นเจ้าของกิจการระดับโลก 

ประยุกต์สู่มหาวิทยาลัยไทย 

ในทัศนะของผม การศึกษาต้องไม่เป็นเพียงเครื่องมือผลิตบัณฑิตป้อนสู่สังคมเท่านั้น แต่ต้องสามารถสนองตอบความต้องการทางเศรษฐกิจของทั้งตัวผู้เรียนเอง สถาบันการศึกษา และประเทศชาติสังคม หรือที่ผมเรียกว่า การศึกษาฐานเศรษฐกิจ (economic-based education)4 ซึ่งเราสามารถเห็นตัวอย่างการศึกษาเช่นว่านี้ได้จากระบบการศึกษาของสิงคโปร์ที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะความสามารถเป็นผู้นำในภาคธุรกิจ 

ในเรื่องดังกล่าวนี้ เมื่อวันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา ผมในฐานะประธาน “สภาปัญญาสมาพันธ์”5  ได้จัดงานแถลงข่าวเกี่ยวกับ “ดัชนีประสิทธิผลภาคเอกชนประเทศไทย (Thailand’s Private Sector Effectiveness Index – PVE Index)” วัดการรับรู้ของประชาชนถึงประสิทธิผลการทำงานของภาคเอกชนพิจารณาจากพันธกิจสำคัญ 3 ด้านหลักของภาคเอกชนคือ (1) ด้านการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Growth) (2) ด้านการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม (Social responsibility) และ (3) ด้านสถาบันภาคเอกชน (Private Institution) โดยสำรวจความเห็นของกลุ่มตัวอย่างประชาชนทั่วไปที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 1,067 ตัวอย่างทั่วประเทศ กระจาย 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ควบคู่กับการสัมภาษณ์นักธุรกิจอีก 200 ตัวอย่าง

จากผลการศึกษาในด้านการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship)6 พบว่า นักธุรกิจให้คะแนนอยู่ที่ร้อยละ 58.63 น้อยเป็นอับดับ 2 รองจากการสร้างนวัตกรรม โดยในด้านการเป็นผู้ประกอบการมีคะแนนเรียงตามลำดับดังนี้ (1) การสามารถปรับตัวได้ทันต่อสถานการณ์ทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลง (2) การสามารถแสวงหาโอกาสเพื่อริเริ่มสร้างสรรค์ให้เกิดธุรกิจใหม่ และ (3) การมีขีดความสามารถสูงในการหาทรัพยากร มาใช้เพื่อริเริ่มธุรกิจ ซึ่งได้คะแนนต่ำสุดในด้านนี้ 

ผมเห็นว่า ทักษะการเป็นผู้ประกอบการเป็นทักษะที่มีความสำคัญสำหรับโลกยุคปัจจุบันและอนาคต และเคยนำเสนอแนวคิดพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการให้แก่ผู้เรียนเอาไว้ในหลายเวที7  โดยมีสาระสำคัญคือ สร้างผู้เรียนให้มีทักษะสามารถบุกเบิกเริ่มต้นกิจการใหม่ด้วยตนเองเป็น ไม่เฉพาะแต่กิจการทางธุรกิจเท่านั้น แต่รวมถึงกิจการทางสังคมและกิจการอื่น ๆ ซึ่งผมเห็นว่า ทักษะการเป็นผู้ประกอบการเป็นทักษะที่ควรมีการบ่มเพาะหล่อหลอมและสร้างให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนอย่างจริงจัง อันจะไม่เป็นประโยชน์เฉพาะต่อตัวผู้เรียนเองเท่านั้น แต่ยังจะเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมกำลังคนเพื่อการแข่งขันของประเทศในอนาคตด้วยอีกทางหนึ่งครับ


1สังคมความรู้ เป็นหนึ่งใน คลื่น 7 ลูก ประกอบด้วย คลื่นลูกที่ศูนย์ สังคมเร่ร่อน ลูกที่หนึ่ง สังคมเกษตรกรรม ลูกที่สอง สังคมอุตสาหกรรม ลูกที่สาม สังคมข้อมูลข่าวสาร ลูกที่สี่ สังคมความรู้ ลูกที่ห้า สังคมปัญญา และลูกที่หก สังคมความดี – แนวคิดคลื่น 7 ลูก พัฒนาต่อยอดจากแนวคิดคลื่นลูกที่ 5 ซึ่งได้นำเสนอไว้ใน เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ คลื่นลูกที่ 5 ปราชญสังคม : สังคมไทยที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21 (กรุงเทพฯ : ซัคเซสมีเดีย, 2541). และได้นำเสนอเมื่อได้รับเชิญไปบรรยายในหัวข้อเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะการคิดและการคิดสิบมิติ ในที่ต่าง ๆ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา และได้นำเสนอในการปาฐกถา ณ ที่ประชุมสมัชชาสยามอารยะ วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 และได้นำเสนอใน เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, สยามอารยะ แมนนิเฟสโต : แถลงการณ์สยามอารยะ (กรุงเทพฯ : ซัคเซส มีเดีย, 2555), หน้า 13-36.
2สุนทรพจน์ของนายโกะ จ๊ก ตง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ในหัวข้อ Shaping our Future : Thinking Schools, Learning Nation นำเสนอใน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาของประเทศสิงคโปร์ : ข้อคิดสำหรับประเทศไทย / จริยพร แสงนภาบวร, แปล (กรุงเทพฯ : สกศ., 2544), หน้า 6.
3Harvard gazette. Two Deans’ Challenges garner 90 proposals. [Online]. accessed March 30, 2016. available from http://news.harvard.edu/gazette/story/2016/03/two-deans-challenges-garner-90-proposals/
4การศึกษาฐานเศรษฐกิจ เป็นหนึ่งในแนวคิดหลักพื้นฐานการสร้างคน 9 ประการ ซึ่งนำเสนอในการบรรยายหัวข้อ การบริหารการจัดการศึกษาแนวใหม่หรือในอนาคต จัดโดย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วันพฤหัสบดี 31 มกราคม 2556 และในการบรรยายตามที่ต่าง ๆ 
5ปัจจุบันมี ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ เป็นประธาน และคณะกรรมการ ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และนักวิจัยหลายสาขาวิชาจากสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ สภาปัญญาสมาพันธ์มีการแถลงข่าวเปิดตัวครั้งแรกในวันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. “ดัชนีประสิทธิผลภาครัฐก้าวแรกสู่ระบบขับเคลื่อนประเทศไทย.” กรุงเทพธุรกิจ (29 ธันวาคม 2558), หน้า 11.
6การเป็นผู้ประกอบการ หมายถึง ความสามารถของภาคเอกชนในการแสวงหาโอกาส ต้นทุน ทรัพยากร และสามารถใช้โอกาส ต้นทุน ทรัพยากรเหล่านั้นเพื่อการสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง หรือเพื่อเริ่มธุรกิจใหม่ๆ ให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคซึ่งเปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลาตามสภาพแวดล้อมที่เคลื่อนไหวเป็นพลวัต
7แนวคิดพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการให้แก่ผู้เรียน นำเสนอในการบรรยายหัวข้อ ทักษะสำหรับการเป็นพลเมืองอาเซียนและเป็นทรัพยากรมนุษย์ในอาเซียน จัดโดย วิทยาลัยประชาคมอาเซียนศึกษา ณ ห้อง 301 อาคารเอกาทศรถ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก วันพุธที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2558 และการบรรยายตามที่ต่าง ๆ 

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์
ปีที่ 63 ฉบับที่ 32 วันที่ ศุกร์ 22 – พฤหัสบดี 28 เมษายน 2559

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com

แหล่งที่มาของภาพ :  http://www.vijaichina.com/sites/default/files/image_0.jpg

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *