ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยที่มิเพียงมีความเป็นเลิศทางด้านวิชาการเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้รับการพัฒนาศักยภาพตามความถนัดและความสนใจ ช่วยนักศึกษาให้ค้นพบศักยภาพและความถนัดของตนเอง อาทิ
ดนตรี กีฬา ศิลปะ เป็นต้น ทำให้นักศึกษาของฮาร์วาร์ดไม่เพียงประสบความสำเร็จทางด้านการเรียนหรือทางด้านวิชาการเท่านั้น แต่ยังมีความโดดเด่นทางด้านศักยภาพที่เป็นความสามารถพิเศษด้วยเช่นเดียวกัน อาทิ เจเรมี ลิน (Jeremy Lin) นักกีฬาบาสเกตบอลมืออาชีพที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักยอมรับว่าฮาร์วาร์ดมีส่วนในการเตรียมเขาให้ประสบความสำเร็จ เป็นต้น
การออกแบบบรรยากาศสภาพแวดล้อม การสร้างให้เกิดแรงบันดาลใจ และการสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกที่จะช่วยให้นักศึกษาบรรลุสู่ความสำเร็จตามความต้องการในด้านดังกล่าวนี้นับว่าเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่ฮาร์วาร์ดมีส่วนผลักดันให้เกิดขึ้น อาทิ การสนับสนุนให้นักศึกษาเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาทั้งระดับมหาวิทยาลัยกลุ่มไอวีลีก (Ivy League) ระดับประเทศ และระดับโลก การเชิญศิลปินระดับโลกมาสร้างแรงบันดาลใจและมีส่วนเสริมสร้างศักยภาพให้แก่นักศึกษาอย่างเฉพาะเจาะจง เป็นต้น
ตัวอย่างล่าสุดที่ผ่านมา ฮาร์วาร์ดเปิดกว้างให้นักศึกษาและกลุ่มบุคคลทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมรับฟังการบรรยายพิเศษจากศิลปินระดับโลก โย โย มา (Yo–Yo Ma) ผู้ก่อตั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ชื่อว่า เส้นทางสายไหม (Silkroad) ในหัวข้อ “การสนทนากับ โย โย มา: วัฒนธรรม ความสัมพันธ์ และความเป็นพลเมือง ในเวลาของการเปลี่ยนแปลง” โดยผู้เข้าร่วมรับฟังไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย (Harvard schools, offices, and affiliates, 2017) การบรรยายดังกล่าวมีส่วนสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักศึกษา โดย โย โย มา ถือเป็นหุ้นส่วนสำคัญของฮาร์วาร์ดในการสร้างแรงบันดาลใจและเสริมสร้างศักยภาพทางด้านดนตรีให้แก่นักศึกษาฮาร์วาร์ดมาอย่างต่อเนื่อง
การส่งเสริมให้นักศึกษาค้นพบและพัฒนาตนเองตามศักยภาพและความถนัดนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการประสบความสำเร็จทั้งในการเรียนและการใช้ชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยปัจจุบันและอนาคตที่โลกเต็มด้วยการแข่งขัน การพัฒนาตนเองให้มีความสามารถโดดเด่นจะช่วยให้นักศึกษาเป็นที่ต้องการมากขึ้น
ประยุกต์สู่มหาวิทยาลัยไทย
ในเรื่องดังกล่าวนี้ มหาวิทยาลัยควรส่งเสริมสนับสนุนให้นักศึกษามีโอกาสค้นพบและพัฒนาศักยภาพความสามารถของตนเอง โดยในระดับปัจเจกบุคคล ผมเสนอให้มีการนำ โมเดลศักยภาพ ดร. แดน แคน ดู หรือที่เรียกว่า Dr. Dan Can Do Potentiality Model มาใช้เป็นกรอบในการพัฒนาศักยภาพของแต่ละบุคคล อันประกอบด้วย 15 ขั้นตอน
ขั้นที่ 1: การวิเคราะห์ศักยภาพ (Potentiality Analysis)
เป็นขั้นตอนแรก เริ่มต้นด้วยการค้นหา สังเกต พิจารณา ศักยภาพของตนเองอย่างละเอียด อาทิ พิจารณาว่าตนเองชอบอะไร สนุกกับอะไร สามารถทำอะไรได้ดี มีคนเคยพูดหรือชมเชยว่าเคยทำอะไรได้ดี หรือใช้เครื่องมือช่วย อาทิ แบบสอบถาม
ขั้นที่ 2: การค้นพบศักยภาพ (Potentiality Detection)
รวบรวมและตรวจสอบสิ่งที่ตนเองคิดว่าชอบ สามารถทำได้ดี หรือ มีคนเคยพูดเคยชม แล้วค้นหาศักยภาพที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด อาทิ ดูจากความซ้ำหรือความบ่อยของข้อมูล ใช้เครื่องมือช่วย อาทิ แบบสอบถาม
ขั้นที่ 3: การชี้บ่งศักยภาพ (Potentiality Identification)
ระบุสิ่งที่เป็นศักยภาพของตนเองได้อย่างถูกต้อง ตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด อาทิ ศักยภาพทางด้านการกีฬา ศักยภาพทางด้านดนตรี
ขั้นที่ 4: การวัดระดับศักยภาพ (Potentiality Measurement)
ใช้เครื่องมือช่วยวัดระดับศักยภาพของตนเองว่าอยู่ในระดับใด อาทิ การวัดระดับศักยภาพทางด้านภาษาอังกฤษ ศักยภาพทางด้านดนตรี ทำด้วยการทำแบบทดสอบ
ขั้นที่ 5: การวางแผนแนวทางการดำเนินการพัฒนาศักยภาพ (Potentiality Development Roadmap)
ตั้งแต่เริ่มต้นจนบรรลุสู่ความสำเร็จหรือเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยระบุถึงวิธีการหรือกระบวนการขั้นตอนการดำเนินการอย่างชัดเจน
ขั้นที่ 6: การกำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพ (Potentiality Development Strategies)
กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพที่เหมาะสมหรือดีที่สุดสำหรับตนเองภายใต้สถานการณ์หรือความจำกัดที่มีอยู่
ขั้นที่ 7: การฝึกฝนพัฒนาศักยภาพ (Potentiality Training)
พากเพียรฝึกศักยภาพของตนเอง อาทิ การฝึกบาสเกตบอล เป็นประจำสม่ำเสมอวันละ 1 ชั่วโมง เป้าหมายเข้าสู่การแข่งขัน
ขั้นที่ 8: การรับคำปรึกษาด้านศักยภาพ (Potentiality Mentoring)
ขอรับคำปรึกษาแนะนำจากบุคคลผู้มีความรู้ ประสบการณ์ และมีความเชี่ยวชาญด้านนั้นอย่างเฉพาะเจาะจง อาทิ การขอรับคำปรึกษาจากนักกีฬาบาสเกตบอลที่ประสบความสำเร็จ
ขั้นที่ 9: การรับการฝึกสอนพัฒนาศักยภาพ (Potentiality Coaching)
ขอรับการฝึกสอนจากบุคคลผู้มีความรู้ ประสบการณ์ และมีความเชี่ยวชาญด้านนั้น จนสามารถทำเป็น รู้เทคนิค วิธีการ อาทิ การรับการฝึกสอนจากครูหรือผู้ฝึกสอนทางด้านบาสเกตบอลหรือทางด้านภาษา
ขั้นที่ 10: การประเมินผลการพัฒนาศักยภาพ (Potentiality Development Evaluation)
ประเมินผลว่าเป็นอย่างไร สามารถทำได้มากน้อยเพียงใดเทียบกับเป้าหมาย มีอุปสรรคปัญหาสิ่งใดเกิดขึ้นบ้างระหว่างทาง
ขั้นที่ 11: การปฎิรังสรรค์ศักยภาพ (Potentiality Reinvention)
ปรับแต่งนำองค์ประกอบของศักยภาพที่ดีมาต่อกันใหม่ให้ถูกต้อง (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2555, น. 107) ทำให้ศักยภาพที่มีอยู่เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อาทิ การเพิ่มหรือลดบางส่วน เพื่อทำให้ศักยภาพโดยรวมมีประสิทธิภาพสามารถใช้การได้ดีมากยิ่งขึ้น
ขั้นที่ 12: การแสดงจุดเด่นทางด้านศักยภาพ (Potentiality Showcasing)
หาช่องทางหรือเวทีแสดงจุดเด่นที่เป็นศักยภาพของตนเอง อาทิ การเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาที่เป็นศักยภาพของตนเอง
ขั้นที่ 13: การบริหารจัดการใช้ประโยชน์จากศักยภาพ (Potentiality Utilization Management)
วางแผน จัดระบบ กำกับดูแล การใช้ประโยชน์ จากศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่และเกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ การนำศักยภาพทางด้านกีฬาของตนเองมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร ชุมชน สังคมประเทศชาติ
ขั้นที่ 14: การเป็นผู้บริหารจัดการใช้ประโยชน์จากศักยภาพ (Potentiality Utilization Manager)
พัฒนาตนเองให้มีความสามารถเป็นผู้วางแผน จัดระบบ กำกับดูแล การใช้ประโยชน์จากศักยภาพ อาทิ การมีความสามารถเป็นพิเศษในการบริหารจัดการใช้ประโยชน์ศักยภาพทางด้านการวิ่ง
ขั้นที่ 15: การเป็นนักพัฒนาศักยภาพ (Potentiality Developer)
จัดเตรียมความรู้และประสบการณ์ พัฒนาปรับปรุง อำนวยความสะดวก ในการพัฒนาศักยภาพให้แก่ทั้งตนเองและผู้อื่น รวมถึงการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพ
ในกระบวนการทั้งหมด 15 ขั้นตอน มหาวิทยาลัยสามารถเข้ามามีส่วนสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษา ในขั้นตอนการฝึกฝนพัฒนาศักยภาพ การให้คำปรึกษาทางด้านศักยภาพ การฝึกสอนพัฒนาศักยภาพ และการแสดงจุดเด่นทางด้านศักยภาพ อันจะสนับสนุนและเติมเต็มให้การพัฒนาศักยภาพของนักศึกษามีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
รายการอ้างอิง
เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2555). สยามอารยะ แมนนิเฟสโต : แถลงการณ์สยามอารยะ. กรุงเทพฯ: ซัคเซส มีเดีย.
Gift from Jeremy Lin’ 10 funds financial aid and Lavietes Pavilion renovation. (2016, October 26). Retrieved from http://news.harvard.edu/gazette/story/2016/10/gift-from-jeremy-lin-10-funds-financial-aid-and-lavietes-pavilion-renovation/
Harvard schools, offices, and affiliates. (2017, March 7). Yo Yo Ma to deliver Elson Lecture.
ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 64 ฉบับที่ 32 วันศุกร์ 21 – พฤหัสบดี 27 เมษายน 2560
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ http://www.cristinapato.com/wp-content/uploads/2017/03/A-Conversation-with-Yo-Yo-Ma.jpg, http://bit.ly/2oT7Q3K