ฮาร์วาร์ดให้ความสำคัญอย่างมากกับการสนับสนุนประชาคมมหาวิทยาลัยคิดค้นสร้างสรรค์นวัตกรรมทุกระดับ
เริ่มตั้งแต่นักศึกษาจนกระถึงคณาจารย์มหาวิทยาลัย โดยการคิดนวัตกรรมดังกล่าวนี้มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับความสามารถนำไปใช้ประโยชน์หรือมีส่วนจัดการกับสถานการณ์ปัญหาและความท้าทายที่เกิดขึ้นในโลกจริงภายใต้การสนับสนุนทรัพยากรจากมหาวิทยาลัย อันนอกจากจะช่วยพัฒนาความรู้และทักษะให้แก่นักศึกษาแล้ว ยังเป็นการเพิ่มเติมประสบการณ์การเรียนรู้ที่สำคัญให้แก่นักศึกษาอีกทางหนึ่ง
ตัวอย่างล่าสุดที่ผ่านมา กองทุนนวัตกรรมความยั่งยืนฮาร์วาร์ด (Harvard Campus Sustainability Innovation Fund หรือ CSIF) ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานเพื่อความยั่งยืน (Office for Sustainability หรือ OFS) ได้ประกาศ 5 รางวัลโครงการวิจัยเชิงสหวิทยาการและนวัตกรรมของนักศึกษา กองทุนดังกล่าวนี้เริ่มต้นในปี ค.ศ. 2016 ด้วยจำนวนเงิน 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากมหาวิทยาลัย และเพิ่มจำนวนเป็น 700,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายหลังการบริจาคของศิษย์เก่าปริญญาเอกฮาร์วาร์ด สำหรับเป็นช่องทางและโอกาสให้กลุ่มนักศึกษาระดับปริญญาตรี นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา และนักวิจัยหลังปริญญาเอก ของฮาร์วาร์ด คิดค้นสร้างสรรค์นวัตกรรมทางด้านความยั่งยืนสนับสนุนการจัดการสถานการณ์ความท้าทายที่เกิดขึ้นในโลกจริง (Durrant, 2017)
การสนับสนุนให้นักศึกษาคิดค้นสร้างสรรค์นวัตกรรมของฮาร์วาร์ดดังกล่าวนี้ มีส่วนสำคัญต่อการกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ความคิดเชิงนวัตกรรม เป็นประโยชน์ยิ่งทั้งต่อตัวนักศึกษา มหาวิทยาลัย และสังคมทุกระดับ ด้วยการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้มีการบูรณาการเชื่อมโยงสู่โลกจริง เอาประเด็นโจทย์ปัญหาหรือความต้องการของสังคมเป็นศูนย์กลางและนำวิทยาการความรู้และการวิจัยมาใช้เป็นเครื่องมือแสวงหาทางออก อันเป็นการสนับสนุนให้ประชาคมมหาวิทยาลัยสร้างประโยชน์อย่างเต็มที่แก่สังคมบนพื้นฐานการเป็นองค์กรแห่งความรู้และองค์กรวิจัยของตนเอง
นวัตกรรมนับว่ามีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศชาติสังคมยุคสมัยปัจจุบันและอนาคต และฮาร์วาร์ดถือเป็นแหล่งสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สำคัญอันมีส่วนสนับสนุนนำการพัฒนามาสู่ประเทศชาติสังคมทุกระดับ
ประยุกต์สู่มหาวิทยาลัยไทย
ผมเคยนำเสนอ โมเดลนวัตกรรม 3 ระดับ หรือ Dr. Dan Can Do 3I Innovation Model[1]
มาเป็นระยะเวลายาวนานหลายปี อันประกอบด้วย
- ระดับที่ 1 นวัตกรรมความคิด (Ideation Innovation)
เป็นพื้นฐานต่อยอดสู่นวัตกรรมสิ่งปฏิบัติ เกิดการทะลุทะลวงทางความคิด
- ระดับที่ 2 นวัตกรรมสิ่งปฏิบัติ (Implementation Innovation)
เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่สามารถจับต้องมองเห็นได้ มีความเป็นรูปธรรมหรือสามารถนำไปปฏิบัติได้ อาทิ การทำเชิงพาณิชย์ของสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ สิ่งประดิษฐ์ทางสังคม สิ่งประดิษฐ์ทางการบริหารจัดการ สิ่งประดิษฐ์ทางปรัชญาอุดมการณ์ สิ่งประดิษฐ์ทางการจัดระบบการอยู่ร่วมกัน โดยนวัตกรรมทางสังคมต้องสามารถนำไปปฏิบัติทางสังคมได้มิเพียงเป็นสิ่งประดิษฐ์เท่านั้น
- ระดับที่ 3 นวัตกรรมผลกระทบ (Impact Innovation)
สร้างให้เกิดผลกระทบที่ดีงาม ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลหรือระดับหน่วยงาน องค์กร ชุมชน สังคม ประเทศชาติ โดยที่ผลกระทบดังกล่าวอาจก่อให้เกิดประโยชน์ทางตรงทางอ้อมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การพาณิชย์ สังคม การเมืองการปกครอง ด้านใดด้านหนึ่งหรือครบถ้วนทุกด้าน และสามารถวัดผลกระทบได้
ผมเห็นว่า มหาวิทยาลัยควรมีส่วนสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 ตามทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศบนพื้นฐานของการวิจัยสร้างนวัตกรรม โดยมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องสร้างให้เกิดความสมดุลระหว่างนวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมทางด้านสังคมศาสตร์อย่างเหมาะสม สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในหน่วยงาน ชุมชน สังคม และประเทศชาติได้ อันจะส่งเสริมให้การพัฒนาประเทศเกิดความเจริญก้าวหน้าอย่างครบถ้วนแท้จริง
รายการอ้างอิง
Durrant, Colin. (n.d.). Student projects turn campus into “living lab”. Retrieved from
[1] ผมนำเสนอ ความคิด นวัตกรรม 3 ระดับ หรือ Dr. Dan Can Do 3I Innovation Model อย่างเป็นทางการครั้งสุดท้ายในการปาฐกถานำเรื่อง “การศึกษาคือนวัตกรรม” ในการประชุมงานวิจัยมหาวิทยาลัย จัดโดย ฝ่ายวิชาการ สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยรังสิต ณ ห้อง Auditorium ชั้น 2 อาคาร 15 วันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2556 และภายหลังพัฒนาให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นเป็นลำดับ.
ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 64 ฉบับที่ 37 วันศุกร์ 26 พฤษภาคม – พฤหัสบดี 1 มิถุนายน 2560
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com