ดร. แดน เสนอโมเดลมหาศุภาลัย: Integration University ยุค 6.0 : กรณีศึกษาฮาร์วาร์ดแสดงจุดเริ่มของบูรณาการข้ามศาสตร์

การจัดการศึกษาของฮาร์วาร์ดให้ความสำคัญอย่างมากกับการส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการความรู้ข้ามศาสตร์สาขาวิชา อันมีส่วนสำคัญต่อการสนองตอบความต้องการจำเป็นของโลกยุคสมัยปัจจุบันและอนาคตที่นับวันจะทวีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ด้วยว่าความรู้ทางด้านศาสตร์สาขาวิชาใดสาขาวิชาหนึ่งไม่เพียงพอต่อการสนองตอบโจทย์ความต้องการของสังคมอีกต่อไป

การส่งเสริมการบูรณาการความรู้ข้ามศาสตร์อันเป็นทิศทางหลักการจัดการศึกษาของฮาร์วาร์ดดังกล่าวนี้ มีให้เห็นเกิดขึ้นทั้งผ่านการเรียนการสอนในชั้นเรียน การวิจัย และกิจกรรมเสริมหลักสูตรหลากหลายรูปแบบ ตามที่นำเสนอหลายบทความก่อนหน้านี้ บทความนี้ต้องการนำเสนออีกหนึ่งตัวอย่างแนวทางการส่งเสริมการบูรณาการความรู้ข้ามศาสตร์ของฮาร์วาร์ดผ่านกิจกรรมที่ชื่อว่า การประชุมวิจัยมหาวิทยาลัยระดับชาติ (National Collegiate Research Conference หรือ NCRC) ภายใต้ความรับผิดชอบของ สมาคมวิจัยนักศึกษาระดับปริญญาตรีแห่งวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard College Undergraduate Research Association) 

การประชุมวิจัยมหาวิทยาลัยระดับชาติดังกล่าวนี้เป็นการประชุมสัมมนาการวิจัยที่ดำเนินการโดยนักศึกษาระดับปริญญาตรี (student-run undergraduate research symposium) ของฮาร์วาร์ดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี สำหรับปีนี้เปิดโอกาสให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีทั้งจากประเทศสหรัฐอเมริกาและต่างประเทศประมาณ 200 คน เข้าร่วมในช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมาเป็นระยะเวลา 3 วัน โดยมีกุญแจสำคัญของการประชุมอยู่ที่การบูรณาการความรู้ข้ามศาสตร์สาขาวิชาหรือการนำมาบรรจบกันระหว่างวิทยาศาสตร์และมนุษยศาสตร์และการสนับสนุนการวิจัยของนักศึกษาระดับปริญญาตรี โดยบรรยากาศภายในการประชุมครั้งนี้เต็มด้วยกิจกรรมหลากหลาย (Glueck, 2017) ทั้งนี้จากสถิติการประชุมช่วง 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า ประมาณร้อยละ 60-75 ของผู้เข้าร่วมมาจากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (engineering) และคณิตศาสตร์ (math) หรือที่เรียกว่า STEM ส่วนที่เหลือมาจาก (another good quarter to third of participants) สาขาวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ (National Collegiate Research Conference, n.d.)    

นอกจากการประชุมวิจัยมหาวิทยาลัยระดับชาติจะสนับสนุนการบูรณาการความรู้ข้ามศาสตร์สาขาวิชาและสนับสนุนการวิจัยของนักศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาระดับปริญญาตรีในการมีโอกาสปฏิสัมพันธ์ปะทะสังสรรค์ความรู้กับปัญญาชนและปราชญ์ข้ามศาสตร์สาขาวิชา เป็นบรรยากาศบ่มเพาะและกระตุ้นให้เกิดการต่อยอดทางปัญญาความรู้ทั้งมิติความกว้างและลงลึกให้แก่นักศึกษาระดับปริญญาตรี อีกทั้งยังเป็นการช่วยพัฒนาทักษะทางสังคมและเป็นช่องทางการสร้างและขยายเครือข่ายการทำงานวิชาการและการทำวิจัยให้แก่นักศึกษาด้วยอีกทางหนึ่ง 

ประยุกต์สู่มหาวิทยาลัยไทย 

ฮาร์วาร์ดเป็นกรณีศึกษาที่ดีในการแสดงจุดเริ่มต้นโมเดลมหาศุภาลัยยุค 6.0 ของผม  ผมเคยนำเสนอความคิดเกี่ยวกับบทบาทสายพันธุ์ทางปัญญา 8 ประการของมหาวิทยาลัยระดับโลกที่ผมเรียกว่า มหาวิทยาลัยแม่พันธุ์หรือมหาวิทยาลัยชั้นนำสูงสุด (Top Tier University)1  โดยหนึ่งในบทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัยดังกล่าวนี้คือ การบูรณาการความรู้ ด้วยว่าความรู้ใดความรู้หนึ่งเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะสามารถสนองตอบโจทย์ความต้องการของสังคมท่ามกลางบริบทโลกที่ทวีความสลับซับซ้อนมากขึ้น จำเป็นต้องมีการบูรณาการหรือเชื่อมโยงความรู้เข้าด้วยกันในการอธิบายหรือสนองตอบโจทย์ความต้องการของสังคม อันจะส่งผลทำให้เกิดการมองครบถ้วนทุกมุมและลงลึกมากยิ่งขึ้น อาทิ การสร้างบรรยากาศภายในมหาวิทยาลัยให้มีการถกแถลงข้ามศาสตร์สาขาวิชา เป็นต้น

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยของประเทศไทยเรายังให้ความสำคัญกับบทบาทการบูรณาการความรู้ดังกล่าวนี้น้อย ขาดการเชื่อมโยงความรู้ต่าง ๆ เข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ อาทิ ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นต้น อันเป็นผลมาจากบริบทสภาพแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัยยังไม่เอื้อหรือส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการความรู้มากนัก การจัดการศึกษาและการวิจัยของมหาวิทยาลัยยังมุ่งเน้นตามศาสตร์สาขาวิชาของตนเองเป็นสำคัญ ทำให้ขาดความรู้ที่มีมิติความกว้างและลงลึก ที่สำคัญคือ ความรู้ที่ได้มีความจำกัดไม่เพียงพอต่อการอธิบายหรือสนองตอบโจทย์ความต้องการของสังคม 

ด้วยเหตุที่มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งรวมของความรู้หลากหลายศาสตร์สาขาวิชาจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสามารถนำความรู้ที่มีอยู่ดังกล่าวเหล่านี้มาบูรณาการสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ ทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดทางปัญญาความรู้เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก อาทิ ฮาร์วาร์ด เป็นต้น อันจะไม่เพียงเป็นประโยชน์เฉพาะต่อแวดวงวิชาการ ทำให้เกิดการพัฒนาเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาการความรู้เท่านั้น แต่ยังจะเป็นประโยชน์ต่อการเอื้อให้มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งบ่มเพาะอารยธรรมสนับสนุนการพัฒนาประเทศด้วยอีกทางหนึ่ง 
 
รายการอ้างอิง
Glueck, Jessica. (2017, January 30). Humanities and science come together at conference, National Collegiate Research Conference was an all-undergraduate symposium. Retrieved from http://news.harvard.edu/gazette/story/2017/01/humanities-and-science-come-together-at-conference/
National Collegiate Research Conference. (n.d.). Frequently Asked Questions. Retrieved from http://www.ncrc.hcura.org/faqs
 


1 ผมนำเสนอความคิด บทบาทสายพันทางปัญญา 8 ประการมหาวิทยาลัยแม่พันธุ์ ประกอบด้วย การเข้าถึงความรู้ การรวบรวมความรู้ การสะสมความรู้ การผลิตความรู้ การบูรณาการความรู้ การประยุกต์ความรู้ การรักษาความรู้ และการกระจายความรู้ ในการบรรยายหัวข้อ Building World-Class Universities in Thailand: Opportunities and Challenge การประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ราชภัฏวิจัย ครั้งที่ 4 ภายใต้ชื่อ การสร้างสรรค์นวัตกรรมและงานวิจัย มาตรฐานการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา คลังปัญญาในการบริการวิชาการสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืนของชุมชน 4th Rajabhat University National and International Research and Academic Conference theme of “Creative Innovation and Research, Production and Development of Educational Personnel with High Standards, and Brain Bank via Academic Services for Community’s Strength and Sustainability” จัดโดย สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ร่วมกับ เครือข่ายราชภัฏ และ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559.

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 64 ฉบับที่ 23 วันศุกร์ 17 กุมภาพันธ์ – พฤหัสบดี 23 กุมภาพันธ์ม 2560

 

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://cdnph.upi.com/svc/sv/upi/8141414081527/2014/1/60ab73c1851f1f1feceadcc083d490f0/Survey-Harvard-Law-grads-earn-the-most-of-any-grad-school-in-the-country.jpg

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *