japan usa

ญี่ปุ่นจับมือสหรัฐฯ ความสำเร็จอีกขั้นของชินโซ อาเบะ

japan usaกรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ทันทีที่นายชินโซ อาเบะได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นอีกสมัยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ภายหลังที่พรรค Liberal Democratic Party ชนะการเลือกตั้งทั่วไปอย่างถล่มทลาย นายกฯ อาเบะประกาศว่าจะเยือนสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรก แต่เนื่องจากรัฐบาลอเมริกาไม่สะดวกที่จะต้อนรับการเยือนจึงเลื่อนการเยือนดังกล่าวเป็นปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

     ผลจากการเยือนทำให้รัฐบาลสองประเทศประกาศกระชับความเป็นพันธมิตรมากขึ้น ดังที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา กล่าวว่า “ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุด พันธมิตรสหรัฐฯ-ญี่ปุ่นคือแก่นกลางรากฐานความมั่นคง” ของอเมริกาในภูมิภาคแปซิฟิก พร้อมกับตอกย้ำนโยบายด้านความมั่นคงที่สำคัญสองเรื่องคือ ไม่ยอมให้เกาหลีเหนือใช้การทดลองขีปนาวุธพิสัยไกลกับอาวุธนิวเคลียร์เป็นข้อต่อรองผ่อนคลายหรือยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร ส่วนกรณีข้อพิพาทหมู่เกาะเซนกากุระหว่างญี่ปุ่นกับจีนนั้น นายกฯ อาเบะยืนยันจุดยืนว่า หมู่เกาะดังกล่าวเป็นของญี่ปุ่นแต่จะดำเนินนโยบายที่นุ่มนวลใจเย็นมากขึ้น

     ในด้านเศรษฐกิจ สองประเทศจะปรึกษาหารือเพื่อสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต เพิ่มการค้าขายระหว่างกัน

     ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นการกระชับความร่วมมือสองฝ่าย และเป็นนโยบายเบื้องต้นที่สองประเทศต่างได้ประโยชน์ แต่ภายใต้การเยือนดังกล่าวยังมีประเด็นอื่นๆ ที่นายกฯ อาเบะหวังจะได้ประโยชน์ อาทิเช่นญี่ปุ่นยืนยันนโยบายเพิ่มกำลังรบ

     นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ กล่าวในงานแถลงข่าวขณะเยือนสหรัฐฯ ว่า รัฐบาลของเขาได้ประกาศนโยบายจะเพิ่มงบประมาณกลาโหมและเพิ่มกำลังพล รวมทั้งจะคลายกฎหมายที่จำกัดขอบเขตปฏิบัติการทางทหารเพื่อประเทศจะสามารถแสดงบทบาทด้านความมั่นคงเพิ่มมากขึ้น อาทิเช่น ทำให้ญี่ปุ่นสามารถยิงขีปนาวุธเพื่อสกัดขีปนาวุธที่ยิงจากเกาหลีเหนือ อนุญาตให้ทหารญี่ปุ่นยิงศัตรูถ้าทหารของมิตรประเทศถูกโจมตีในระหว่างปฏิบัติการรักษาสันติภาพ และจะก่อสร้างสถานีเรดาร์เพื่อตรวจจับขีปนาวุธเพิ่มอีกหนึ่งแห่ง

     รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นที่ใช้ตั้งแต่สมัยสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองจำกัดขอบเขตการใช้กำลังรบและกำจัดให้มีกำลังรบน้อยที่สุดเพียงพอแก่การป้องกันประเทศ แต่เมื่อสามารถเพิ่มกำลังรบโดยอาศัยภัยคุกคามจากจีนกับเกาหลีเหนือ ญี่ปุ่นจึงสามารถขยายกำลังรบจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ให้เพียงพอกับการป้องปรามมหาอำนาจอย่างจีนที่พัฒนาและขยายอำนาจรบเพิ่มขึ้นทุกขณะ ในอีกมุมหนึ่งเท่ากับว่ากำลังรบของญี่ปุ่นจะมีขีดความสามารถและมีขนาดใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นอีกประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มีกำลังรบเพิ่มขึ้นอีกมาก (ปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอาวุธทันสมัยที่สุดอยู่แล้ว)

     ด้วยเหตุผลที่มีจีนกับเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามและสหรัฐฯ เห็นชอบ ประเทศอื่นๆ ที่รู้สึกกังวลใจจึงไม่อาจส่งเสียงคัดค้านได้อย่างเต็มที่ และต้องยอมรับว่าในอนาคตญี่ปุ่นจะเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีอำนาจการรบสูง แม้จะไม่ทัดเทียมมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ก็ตาม

     นายกฯ ชินโซ อาเบะ สามารถผ่อนคลายท่าทีแข็งกร้าวต่อจีน

     ตั้งแต่เริ่มหาเสียงเลือกตั้ง นายกฯ อาเบะประกาศนโยบายแข็งกร้าวต่อจีน กล่าวหาว่าจีนยึดติดกับการหาเรื่องญี่ปุ่นและชาติเอเชียอื่นๆ เรื่องดินแดน เพราะพรรคคอมมิวนิสต์หวังใช้ข้อพิพาทเหล่านี้เพื่อรักษาอำนาจการเมืองภายใน การทะเลาะกับเพื่อนบ้านทำให้ระบบการศึกษาจีนเน้นเรื่องการรักชาติและ “สร้างความรู้สึกต่อต้านญี่ปุ่น” พร้อมกับย้ำความเป็นเจ้าของเหนือหมู่เกาะเซนกากุว่า “สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดคือทำให้ (จีน) ตระหนักว่าเขาไม่อาจ…หยิบฉวยเขตแดนทางทะเลหรือทางบกด้วยการข่มขวัญหรือข่มขู่ผู้อื่น”

     การใช้วาจาอันแข็งกร้าวมาถึงจุดยุติภายหลังการประชุมระหว่างสองผู้นำสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นในครั้งนี้ นายกฯ อาเบะแถลงข่าวร่วมกันประธานาธิบดีโอบามาว่าจะไม่ใช้วิธีตอบโต้รุนแรงในการแก้ปัญหาข้อพิพาทหมู่เกาะเซนกากุและจะสงบใจเย็นมากขึ้น ท่าทีนี้ชัดยิ่งขึ้นเมื่อเขากล่าวในงานสัมมนาแห่งหนึ่งหลังการประชุมกับประธานาธิบดีโอบามาว่า “ข้าพเจ้าไม่มีเจตนาเพิ่มความขัดแย้งขึ้นเรื่อยๆ”

     สองปีที่ข้อพิพาทหมู่เกาะเซนกากุ/เตียวหยูปะทุรุนแรง แม้มีบางเหตุการณ์ที่ส่อเค้าความรุนแรงแต่ทั้งจีนกับญี่ปุ่นพยายามจำกัดขอบเขตความขัดแย้ง ยกเว้นนายกฯ อาเบะใช้วาจาท่วงทำนองรักชาติรุนแรงในระหว่างการหาเสียงและเป็นเช่นนี้เรื่อยมา มาบัดนี้ได้หันเหออกจากแนวทางดังกล่าวแล้ว

     ญี่ปุ่นยังไม่เข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก

เป็นที่เข้าใจทั่วไปว่ารัฐบาลโอบามาให้ความสำคัญกับการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) และถือเป็นนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่สำคัญที่สุด แต่การพบปะของสองผู้นำประเทศไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจนนอกจากสรุปว่าจะเจรจาต่อไป

     ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ญี่ปุ่นจะเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศชัดแล้วว่าจะไม่ยอมลดภาษีนำเข้าข้าวหรือสินค้าเกษตรอื่นๆ เพื่อเข้าร่วม TPP เนื่องจากเกษตรกรญี่ปุ่นมีอำนาจต่อรองสูง ทำให้รัฐบาลต้องกำหนดภาษีนำเข้าข้าวจากต่างประเทศสูงถึง 700 เปอร์เซ็นต์ ปัญหาของญี่ปุ่นจึงยังติดอยู่กับสินค้าบางตัวที่มีอิทธิพลต่อรัฐบาล รวมทั้งอุตสาหกรรมการรักษาพยาบาลและการเงินที่รัฐบาลควบคุมอย่างเข้มงวด

     นายกฯ อาเบะกล่าวเพียงว่าถ้าเศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้มแข็งขึ้น “ญี่ปุ่นจะส่งออกได้มากขึ้น เช่นเดียวกับที่จะนำเข้ามากขึ้นด้วย … สหรัฐฯ จะเป็นประเทศแรกที่ได้รับประโยชน์ ตามด้วยจีน อินเดีย อินโดนีเซียและประเทศอื่นๆ” จนถึงบัดนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ยังไม่อาจชักจูงให้ญี่ปุ่นเข้าร่วม TPP

     นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะตั้งใจจะเยือนสหรัฐฯ ตั้งแต่ที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เพื่อประกาศกระชับความเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ภายใต้สัมพันธภาพดังกล่าวยังหมายถึงญี่ปุ่นมีความชอบธรรมที่จะเพิ่มงบประมาณกลาโหม เพิ่มกำลังทหาร และสามารถขยายขอบเขตปฏิบัติการรบได้มากกว่าข้อจำกัดเดิม และเมื่อคู่ขัดแย้งคือจีนจึงอาจกล่าวได้ว่า แสนยานุภาพทางการทหารของญี่ปุ่นต้องสามารถรับมือชาติมหาอำนาจ ในอนาคตญี่ปุ่นจึงจะเป็นอีกชาติหนึ่งที่มีขีดความสามารถการรบสูงสุดในโลก

     อย่างไรก็ตาม การมีกำลังรบสูงไม่ได้หมายความว่าญี่ปุ่นเตรียมทำสงครามกับเพื่อนบ้าน นายกฯ อาเบะยังเห็นว่าการค้าการลงทุนระหว่างประเทศมีความสำคัญมากกว่า และพร้อมจะมีความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีกับจีนต่อไป จึงใช้โอกาสเยือนสหรัฐฯ เพื่อผ่อนคลายท่าทีการใช้วาจาแข็งกร้าว

     ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าญี่ปุ่นเป็นฝ่ายได้ประโยชน์เท่านั้น สหรัฐฯ ในยามนี้ที่ต้องการปรับลดงบประมาณก็เห็นพ้องว่าจำต้องให้ญี่ปุ่นมีบทบาทด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากขึ้น และการมีผู้ร่วมแบกรับภาระสกัดกั้นอิทธิพลจากจีนสอดคล้องกับนโยบายสร้างพันธมิตรของอเมริกาอยู่แล้ว

     เรื่องที่รัฐบาลสหรัฐฯ ผิดหวังคือ ไม่ได้สามารถชักจูงให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมกลุ่มการค้าตามกรอบความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นยังยึดมั่นกับการปกป้องสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมบางประเภท

     รวมความแล้วหากมองในมุมผลประโยชน์ของญี่ปุ่น วันนี้เป็นวันที่นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะบรรลุเป้าหมายหลายเรื่อง นับเป็นความสำเร็จอีกขั้นที่งดงาม

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://siangtai.com/UserFiles/Image/โอบามา(8).jpg