จุดแข็งและจุดอ่อน’ดัชนี GNH’ ของภูฏาน

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญไปกล่าวปาฐกถาในการประชุมเรื่อง “Ideas at the confluence of Energy, Economy and Environment”ซึ่งเป็นการประชุมเกี่ยวกับการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศภูฏานในอนาคต จัดโดย QED Group, Friedrich Naumann Foundation และ Bhutan Ecological Society ณ เมืองทิมพู ประเทศภูฏาน

ประเด็นหนึ่งที่ผมให้ความสนใจมาก เกี่ยวกับประเทศนี้เรื่อยมา คือ การที่ภูฏาน เป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่ใช้ “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” หรือ Gross National Happiness (GNH) เป็นดัชนีวัดความเจริญของประเทศมาเป็นเวลานาน จนกลายเป็นที่นิยมชมชอบไปทั่วโลก

ในประเทศไทย มีนักวิชาการบางส่วนเคยเสนอว่า ประเทศไทยไม่ควรวัดความเจริญของประเทศด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP แต่ควรวัดด้วย GNH แทนที่ ซึ่งผมเห็นมีความเห็นมานานหลายๆ ปีแล้วว่าการนำ GNH มาเสริม GPD น่าจะมีประโยชน์มากกว่าและจะไม่ใช่มาแทนเป็นแนวคิดน่าสนใจ ในบทความนี้ ผมจะขอวิเคราะห์อีกครั้งถึงจุดเด่นและจุดด้อยของดัชนี GNH ของประเทศภูฏาน ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงดัชนีวัดการพัฒนาของประเทศไทยต่อไป

ที่มาของการวัด GNH

การวัด GNH ของภูฏาน เกิดจากข้อวิพากษ์ที่มีต่อ GDP กล่าวคือ ตัวเลข GDP เป็นมูลค่าเพิ่มของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดที่เกิดขึ้นภายในประเทศในปีหนึ่งๆ ซึ่งเป็นการวัดการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพียงเป้าหมายเดียว แต่ไม่ได้คำนึงถึงเป้าหมายอื่นๆ ของการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งเสถียรภาพ ความเท่าเทียม การจ้างงานเต็มที่ และความยั่งยืนของ การพัฒนา

ผมมีความเห็นว่าตัวเลข GDP ยังไม่สะท้อนความกินดีมีสุขของประชาชนอย่าง ครบถ้วน เพราะ GDP เป็นผลรวมของทั้งกิจกรรมที่สร้างความอยู่ดีมีสุขและกิจกรรมที่อาจบั่นทอนความอยู่ดีมีสุขด้วย นอกจากนี้ GDP ยังไม่นับรวมกิจกรรมบางประเภทที่มีความเกี่ยวข้องกับความกินดีมีสุขของประชาชน เช่น การที่แม่เลี้ยงลูกอยู่บ้าน การทำงานบ้านที่บ้านตัวเอง เป็นต้น แต่หากสมมติสถานการณ์ที่แม่บ้านสองคนสลับกันเลี้ยงลูกของอีกฝ่ายหนึ่งแล้วจ่ายค่าแรงให้แก่กันและกัน กิจกรรมนี้ก็จะปรากฏกลับคิดอยู่ใน GDP!

จากที่กล่าวข้างต้น เป็นตัวอย่างข้อวิพากษ์ที่ภูฏานที่สามารถจะใช้มาตำหนิ GDP ว่ามีข้อจำกัดในการวัดความอยู่ดีมีสุขของประชาชน GNH จึงถือว่ามีประเด็นควรนำมาพิจารณาร่วม ฯลฯ

วิธีการวัด GNH

ประเทศภูฏานได้ริเริ่มการวัด GNH โครงสร้างของดัชนี GNH ประกอบด้วยตัวชี้วัด 9 หมวด ได้แก่ ความเป็นอยู่ที่ดีในเชิงจิตวิทยา (psychological wellbeing) สุขภาพ การศึกษา ความหลากหลายและการอนุรักษ์วัฒนธรรม ธรรมาภิบาล ความเข้มแข็งของชุมชน ความ หลากหลายและการอนุรักษ์ระบบนิเวศน์ มาตรฐานการครองชีพ และการใช้เวลาในกิจกรรมต่างๆ โดยมีตัวแปรย่อยๆ ทั้งสิ้น 124 ตัว

ตัวชี้วัดทั้ง 9 หมวดถูกให้น้ำหนัก (weight) เท่ากัน แต่ตัวแปรย่อยในแต่ละหมวดถูกให้น้ำหนักไม่เท่ากัน โดยตัวแปรที่วัดความเห็นหรือ อัตวิสัย (subjective) มีน้ำหนักน้อยกว่าตัวแปรที่วัดข้อเท็จจริงหรือวัตถุวิสัย (objective) แต่ละตัวแปรจะมีการกำหนดเกณฑ์ความเพียงพอ (sufficiency threshold) โดยอ้างอิงจากมาตรฐานสากล แต่บางตัวแปรที่ไม่มีมาตรฐานสากลจะอ้างอิงจากมาตรฐานที่กำหนดขึ้นเอง

ข้อมูลที่ใช้ในการคำนวณ GNH ได้จากการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างของประชากรภูฏาน ข้อมูลจากผู้ตอบแบบสอบถามแต่ละคน จะได้รับการประเมินว่า คะแนนของตัวชี้วัดแต่ละหมวดนั้นผ่านเกณฑ์ความเพียงพอหรือไม่ ผู้ตอบแบบสอบถามแต่ละคนยังได้รับการประเมินว่าเป็นผู้ที่มีความสุขหรือไม่ โดยพิจารณา จากระดับของความสุข หรือร้อยละของตัวชี้วัดที่ผ่านเกณฑ์ ผู้ที่มีความสุขคือผู้ที่มีตัวชี้วัดที่ผ่านเกณฑ์ตั้งแต่ร้อยละ 66 ขึ้นไป หรือมีตัวชี้วัดที่ผ่านเกณฑ์ 7 หมวดขึ้นไป

ตัวเลข GNH คำนวณจาก ร้อยละของประชาชนที่มีความสุข บวกด้วย ผลคูณของ ร้อยละของประชาชนที่ไม่มีความสุข และค่าเฉลี่ยของระดับความสุขของประชาชนกลุ่มที่ไม่มีความสุ

จุดเด่นและจุดอ่อนของ GNH

จุดเด่นของ GNH ของภูฏาน คือ ดัชนีนี้มีศูนย์กลางที่ความอยู่ดีมีสุขของประชาชน ถึงแม้ว่าดัชนีไม่ได้วัดความสุขโดยตรง เพราะความสุขเป็นอัตวิสัยส่วนบุคคลซึ่งวัดได้ยาก แต่ดัชนี GNH ของภูฏานเป็นการวัดปัจจัย หรือบริบทแวดล้อมที่เชื่อว่าอาจจะนำไปสู่ความอยู่ดีมีสุข

ดัชนี GNH ยังประกอบด้วยตัวชี้วัดต่างๆ อย่างครอบคลุม ทั้งด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม จิตวิทยา ความสัมพันธ์ในชุมชน การใช้เวลา การเมืองและการปกครอง ซึ่งเป็นความพยายามลบจุดอ่อนของ GDP ที่มุ่งเน้นการวัดด้านเศรษฐกิจแต่เพียงมิติเดียว

อย่างไรก็ดี GNH ของภูฏานมีจุดอ่อนบางประการในการนำมาใช้วัดความอยู่ดีมีสุข เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาวิจัยที่ได้รับการยอมรับ โดยทั่วกันว่า ฟังก์ชันความสุขเป็นอย่างไร กล่าวอีกนัยหนึ่ง เรายังไม่รู้อย่างแน่ชัดว่า ความสุขมีความสัมพันธ์กับปัจจัยอะไรบ้าง แต่ละปัจจัยมีอิทธิพลต่อความสุขเพียงใด และปัจจัยแต่ละตัวมีความสัมพันธ์ในลักษณะสนับสนุนหรือหักล้างกันหรือไม่

ดังตัวอย่างการศึกษาความสัมพันธ์ของรายได้กับความสุข งานวิจัยชิ้นสำคัญของ Richard Easterlin ในปี 1974 พบว่า การมีรายได้สูงมีความสัมพันธ์กับความสุข แต่เมื่อรายได้สูงถึงระดับหนึ่ง การเพิ่มขึ้น ของรายได้ไม่มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้น ของความสุข หรือเรียกความย้อนแย้งนี้ว่า “Easterlin paradox” แต่งานวิจัยในระยะหลังกลับไม่พบความย้อนแย้งในลักษณะดังกล่าว

จุดอ่อนประการต่อมา คือ ตัวแปร จำนวนมากในดัชนี GNH เป็นการสอบถามความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความอยู่ดีมีสุข หรือเป็นการรายงานข้อมูลโดยผู้ตอบแบบสอบถามเอง ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะได้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงและไม่คงเส้นคงวา เนื่องจากผู้ตอบแบบสอบถามบางส่วนอาจไม่

ต้องการเปิดเผยข้อเท็จจริง หรืออาจให้ความเห็น บนข้อมูลที่มีจำกัด ความเห็นของประชาชนยังสามารถเปลี่ยนแปลงตามการรับรู้ข้อมูล ทัศนคติ และค่านิยมของประชาชนด้วย

อีกประการหนึ่ง ตัวชี้วัด GNH ของภูฏานขาดความเป็นสากล กล่าวคือ ตัวชี้วัดมีความเฉพาะเจาะกับบริบทของประเทศภูฏาน เช่น ตัวชี้วัดในหมวดการศึกษาส่วนหนึ่งเป็นการวัดความรู้เกี่ยวกับประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นของภูฏาน หรือตัวชี้วัดในหมวดวัฒนธรรมที่วัดทักษะการใช้ภาษาและทักษะทางวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นต้น ทำให้ไม่สามารถนำไปใช้วัดความอยู่ดีมีสุขในประเทศอื่นและเปรียบเทียบระหว่างประเทศได้

จุดอ่อนประการสุดท้าย คือ ตัวเลข GNH มีข้อจำกัดในการวัดความสุขที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มคนที่มีความสุข กล่าวคือ GNH จะเพิ่มขึ้นเมื่อร้อยละของประชาชนกลุ่มที่มีความสุขเพิ่มขึ้น หรือประชาชนกลุ่มที่ไม่มีความสุขมีระดับ ความสุขเพิ่มขึ้น แต่หากประชาชนกลุ่มที่มี ความสุขมีระดับความสุขเพิ่มขึ้นหักล้างกัน จะไม่ทำให้ตัวเลข GNH สุทธิเพิ่มขึ้น

โดยสรุปแล้ว การวัดความเจริญของประเทศด้วย GNH เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ เพราะคำนึงถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ครอบคลุมมากกว่า GDP ที่พิจารณามิติเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว และเป็นการวัดที่เป้าหมายสุดท้ายของการพัฒนาประเทศคือความอยู่ดีมีสุขของประชาชน

แต่ดัชนี GNH ของภูฏานยังมีจุดอ่อนอยู่พอสมควร ทั้งในเรื่องกรอบทฤษฎีเกี่ยวกับความสุขและปัจจัยที่มีผลต่อความสุข วิธีการเก็บข้อมูลให้มีความถูกต้อง ความเป็นสากล ของดัชนี และการออกแบบดัชนีให้สามารถวัดความสุขของประชาชนได้ตามความเป็นจริง

ดัชนี GNH จึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาอีกค่อนข้างมาก หากต้องการจะนำมาใช้ในประเทศไทย

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

คอลัมน์: ดร.แดน มองต่างแดน: จุดแข็งและจุดอ่อน’ดัชนี GNH’ ของภูฏาน
Source – กรุงเทพธุรกิจ
Tuesday, Jan 27, 2015 05:21

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com,?http:// www.kriengsak.com

แหล่งที่มาของภาพ :?http://www.indiortours.in/images/bhutan-children-indior-tours-crop-u93863.jpg