จัดการคนพันธุ์ ‘มนุษย์ป้า’

ปัจจุบัน ในสังคมมีคำเรียกหญิงวัยกลางคนถึงสูงอายุที่แสดงพฤติกรรม ?เห็นแก่ตัว? ว่า มนุษย์ป้า

ในพจนานุกรมออนไลน์ Longdo Dictionary ให้ความหมายคำว่า ?มนุษย์ป้า? ไว้ว่า ?คำที่ใช้เรียกผู้ที่มีพฤติกรรมที่มีลักษณะที่เห็นแก่ตัว ทำสิ่งต่าง ๆ โดยไม่สนใจว่าจะทำให้ผู้อื่นหรือสังคมเดือดร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การแย่งที่นั่งว่างในรถโดยสาธารณะ, การแซงคิวไม่ยอมต่อแถวคอยเวลาขึ้นรถไฟฟ้า, โดยส่วนมากจะเป็นสุภาพสตรีในวัยกลางคนจนถึงสูงอายุ จึงเป็นที่มาถึงคำว่า “ป้า” เริ่มเป็นที่ใช้กันแพร่หลายในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ในช่วงปี 2557?

ไม่มีใครชอบคนเห็นแก่ตัว แต่ในความเป็นจริง เราทุกคนมีสิทธิแสดงพฤติกรรม ?เห็นแก่ตัว? ได้ ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว ในเรื่องที่เราถือเอาตนเองเป็นใหญ่ เป็นศูนย์กลางในการตัดสิน โดยไม่ได้มองในมุมของคนอื่นและส่วนรวมว่าจะส่งผลเสียอย่างไร

ในการทำงาน ถ้าเราตั้งคำถามก่อนเสมอว่า ?ถ้าฉันทำแบบนี้ ฉันจะได้อะไร?? มากกว่าตั้งคำถามว่า ?ถ้าฉันทำแบบนี้ ภาพรวมทั้งหมดจะได้อะไร?? และมักจะแสดงพฤติกรรมเช่นนี้ ….ทำงานเฉพาะหน้าที่ของตน รับผิดชอบแต่เรื่องของตนเอง ….เก่งแบบ ?ข้ามาคนเดียว? ไม่คิดจะช่วยเหลือผู้อื่น ….ไม่สนใจภาพรวม เพราะเห็นว่า ?ไม่ใช่หน้าที่?….ชอบเรียกร้องสิทธิของตน แต่ไม่สนใจสิทธิของผู้อื่น ….เอาแต่ได้ผลประโยชน์ ไม่สนใจว่าใครจะเสียประโยชน์หรือส่วนรวมจะได้รับผลกระทบเชิงลบอย่างไร ฯลฯ

หากเป็นเช่นนี้ เราก็คือ ?มนุษย์ป้า? คนหนึ่งที่ต้องถูกจัดการอย่างแน่นอน!! เพราะไม่มีใครชอบคนเห็นแก่ตัว

ความเห็นแก่ตัว ในความหมายของผม คือ การทำอะไรก็ตาม โดยมีเป้าหมายเพื่อ ?ตัวเอง? และ ?ของตัวเอง? เป็นหลัก โดยไม่คำนึงและไม่สนใจว่า ผู้อื่นและส่วนรวมจะเป็นเช่นไร

คำถามคือ เราจะจัดการ ?มนุษย์ป้า? ในตัวเรา ได้อย่างไร?

สำรวจระดับความเห็นแก่ตัว แม้เรารู้ว่าความเห็นแก่ตัวนั้นไม่ดี แต่ต้องยอมรับว่า เราอาจแสดงอาการ ?เห็นแก่ตัว? ออกมาทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว ถ้าเราทำอะไรก็ตาม โดยมีเป้าหมาย ?เพื่อตัวเอง? แสดงว่า ยังมีความเห็นแก่ตัว เช่น …ทำความดี ด้วยหวังว่าจะได้รับรางวัล ถ้าไม่ได้ก็ไม่รู้จะทำไปทำไม …ช่วยเพื่อน เพราะหวังว่าเพื่อนจะช่วยเราบ้าง …มีข้ออ้างเสมอ เมื่อเวลาไม่อยากจะทำอะไร โดยไม่ได้ดูว่าสิ่งนั้นมีคุณค่าควรทำหรือไม่ ….ปฏิบัติสองมาตรฐาน ระหว่าง ของส่วนตัว (ดูแลอย่างดี) กับ ของส่วนรวม (ละเลยไม่สนใจ) ….เห็นคนอื่นเดือดร้อน มีความทุกข์ คิดในใจว่า ?ดีนะ ไม่ใช่เรา? ….พอใจเมื่อเอาเปรียบคนอื่น แต่ไม่พอใจเมื่อถูกคนอื่นเอาเปรียบ เช่น ดีใจที่แอบหัวหน้า เอาเวลางานไปทำธุระส่วนตัวได้ แต่ไม่พอใจ โวยวายทันที เมื่อทำงานเกินเวลา โดยไม่ได้โอที …ไม่สนใจช่วยเหลือผู้อื่น มักอ้างว่า ไม่ใช่หน้าที่ ไม่ใช่ธุระของเรา แต่จริง ๆ กลัวตัวเองเดือดร้อน ฯลฯ ถ้ายังมีการแสดงออกทำนองนี้ แสดงว่าอีโก้เห็นแก่ตัวกำลังทำงานอยู่ต้องจัดการให้ถูกต้อง

ตระหนักว่า การคำนึงถึงผู้อื่นและส่วนรวมเป็น ?หน้าที่? ไม่ใช่ ?จิตสำนึก? เราจะเห็นแก่ผู้อื่น เสียสละเพื่อผู้อื่น เพื่อส่วนรวมได้ง่ายขึ้น หากทำให้การช่วยเหลือผู้อื่น การทำดีเพื่อสังคม เป็น ?หน้าที่? โดยนักจิตวิทยาได้ศึกษาพฤติกรรมการช่วยเหลือคนอื่นของมนุษย์ พบว่าพฤติกรรมการช่วยผู้อื่นจะเกิดขึ้น เมื่อคนเราคิดว่า เป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องให้ความช่วยเหลือ หากไม่ทำจะบกพร่องในหน้าที่ อาจเกิดความเสียหายแก่ตนเองได้ เช่น เมื่อเรือกำลังจม กัปตันเรือ และลูกเรือจะต้องไม่หนีเอาตัวรอด เมื่อเกิดไฟไหม้ พลังงานดับเพลิงจะกล้าเข้าไปช่วยเหลือคนที่ติดอยู่ด้วยความเต็มใจ เป็นต้น

หน้าที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบ ดังนั้น เราจะเห็นแก่ผู้อื่น เสียสละเพื่อส่วนรวมได้ง่ายขึ้น ลดความเห็นแก่ตัวลงได้มากขึ้น หากทำให้การเคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น การช่วยเหลือผู้อื่น เพื่อร่วมงาน องค์กรการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม การดูแลรักษาสาธารณสมบัติ เป็น ?หน้าที่? ของเรา จะทำให้เกิดใจเสียสละและลดความเห็นแก่ตัวลงได้อย่างเป็นธรรมชาติ

ส่งเสริมวัฒนธรรม ส่วนรวม ก่อน ส่วนตัว คณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ สำรวจพบว่า คนเราเรียนรู้การทำดีมาจากสังคม หรือการคบหาเพื่อนดีมากกว่ามาจาก DNA หรือ พันธุกรรม (genes = ชุด DNA ที่แสดงผลได้) เราคงเคยเห็นว่า คนในสังคมหนึ่งอาจมีนิสัยเห็นแก่ตัวมากกว่าคนในอีกสังคมหนึ่ง นั่นเพราะบริบทสังคมส่งเสริมให้คนแข่งขัน มากกว่าให้คนมีจิตสาธารณะและเอื้ออาทรกัน มากกว่าที่จะเป็นลักษณะทางพันธุกรรมที่สืบทอดกันมาก

ดังนั้น ถ้าเราส่งเสริมให้เป็นองค์กรแห่งน้ำใจ มีระเบียบวินัย เคารพในสิทธิของผู้อื่น เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ยกย่องให้รางวัลคนเสียสละ คนที่มีจิตสาธารณะ และตำหนิติเตียน ไม่ยอมรับความเห็นแก่ตัว ย่อมช่วยลดความเห็นแก่ตัวลงได้ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม

ท่านพุทธทาสภิกขุ กล่าวไว้ว่า ?เห็นแก่ตัว จัดเป็นกิเลสตัวแรกที่จะต้องละให้ได้ก่อนตัวอื่น ๆ?

ถ้าเราไม่ชอบพฤติกรรมมนุษย์ป้าที่เห็นแก่ตัว เราคงต้องระมัดระวังไม่ให้มีเชื้อร้ายนี้อยู่ในตัวเราและในองค์กรของเรา ถ้าทุกคนลด ละ เลิก ความเห็นแก่ตัวลงได้ ความสุขและความเจริญย่อมเกิดขึ้นกับตัวเราและทุกคนในองค์กรได้

 

ที่มา: งานวันนี้

ปีที่ 16 ฉบับที่ 724 วันที่ 10-17 กุมภาพันธ์ 2558

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com,
http:// www.kriengsak.com

แหล่งที่มาของภาพ :?http://bk.asia-city.com/sites/default/files/u121472/2_2.jpg