โฟล์คสวาเกนบริษัทรถยนต์ที่มี “ชื่อเสียง” ระดับโลกมานานเกือบร้อยปี กลับกลายเป็นบริษัทที่มี “ชื่อเสีย” ระดับโลก เพียงชั่วพริบตา เมื่อถูกจับได้ว่า ‘ทุจริต’ ใช้ซอฟต์แวร์โกงค่าการทดสอบปล่อยไอเสียจากรถเครื่องยนต์ดีเซล
กรณีทุจริตดังกล่าว ส่งผลให้ประธานผู้บริหารบริษัทโฟล์คสวาเกน ต้องลาออกจากตำแหน่ง และส่งกระทบต่อรถโฟล์คสวาเกน 11 ล้านคันทั่วโลก ต้องรับผิดชอบค่าเสียหาย ซึ่งอาจสูงถึง 6,500 ล้านยูโร และอาจต้องเผชิญการดำเนินคดีในสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าอาจมีโทษปรับเงินหลายพันล้านดอลลาร์
ที่ร้ายแรงยิ่งกว่านั้น โฟล์คสวาเกนต้องเผชิญหน้ากับ “วิกฤตความเชื่อมั่น” อย่างรุนแรง ทั้งในกลุ่มผู้บริโภคและผู้ถือหุ้น ซึ่งเมื่อสูญเสียไปแล้ว ย่อมยากที่จะเรียกคืนกลับมาได้ในระยะเวลาอันสั้น
โฟล์คสวาเกน…เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการคิดผิด ตัดสินใจผิด ที่ทำให้ต้องเสียใจภายหลัง
ความคิดของเรา จะกำหนดอนาคตของเรา เราคิดอย่างไร มันจะมีอิทธิพลนำพาชีวิตของเราให้ไปเช่นนั้น
เราคิดดี คิดถูกต้อง ย่อมนำสู่ผลลัพธ์ที่ดี เราคิดผิด คิดลบ ย่อมนำเราให้ทำในสิ่งที่นำไปสู่ความล้มเหลว พ่ายแพ้ และผิดหวังได้ในที่สุด
ถ้าเราอยากมีอนาคตที่ดี ไม่สะดุดขาตัวเองล้มระหว่างทาง เราจำเป็นต้อง “คิดอย่างมีปัญญา”
การคิดอย่างมีปัญญา ในความหมายของผมคือ การคิดใคร่ครวญเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างรอบคอบและเป็นธรรม โดยใช้เหตุผล ข้อมูล ความรู้ คุณธรรม และปัญญา เพื่อนำไปสู่การประเมินและตัดสินที่ดีที่สุด
“ที่ดีที่สุด” ในที่นี้ หมายถึง “ไม่ต้องเสียใจภายหลัง” ไม่เสียใจเพราะ….คิดผิด คิดสั้น คิดร้าย คิดลบ
จากการสำรวจว่า ทำไมคนถึงคิดผิด – ตัดสินใจผิด หรือ ขาดวิจารณญาณในการคิด พบว่า เกิดจากหลายสาเหตุ อาทิ บกพร่องทางความคิด ขาดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ วิพากษ์ คิดอนาคต ฯลฯ ขาดความสามารถในการประเมิน ผลดี ผลเสียอย่างรอบด้าน บกพร่องในการใช้เหตุผล ยึดอารมณ์ มากกว่าใช้เหตุผล หรือขาดสติ ถูกอารมณ์ครอบงำ เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่สามารถระงับความต้องการของตนเองได้ บกพร่องในความรู้ ขาดข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องนั้นมากเพียงพอ หรือเชื่อง่าย ขาดความสงสัย ปักใจในสิ่งที่คิดว่าจริง บกพร่องในปัญญา ขาดความสามารถในการประยุกต์ความรู้ให้ถูกคน ถูกที่ ถูกเวลา หรือมีอีโก้สูง ยึดมั่นถือมั่น ปักแน่นในความเชื่อ เหตุผลของตนเอง และบกพร่องในความดี ขาดคุณธรรมในใจ ขาดความเป็นธรรม ขาดจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม ฯลฯ
การคิดอย่างมีปัญญา จึงเป็นกระบวนการคิดที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ “ดีแท้ งามแท้ จริงแท้” รู้ว่า สิ่งใดจริง สิ่งใดเท็จ สิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดสมเหตุสมผล สิ่งใดไม่สมเหตุสมผล สิ่งใดควรเชื่อ สิ่งใดไม่ควรเชื่อ สิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ ฯลฯ เป็นเรื่องของการใช้ปัญญา เหตุผลและข้อเท็จจริง
คำถามคือ เราจะคิดอย่างมีปัญญาได้อย่างไร?
คิดเป็น – คิดครบ 10 มิติ ในการคิดเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง สามารถควบคุมให้คิดจนบรรลุเป้าหมายได้ เราจำเป็นต้องพัฒนาทักษะด้านการคิด ให้ครบ 10 มิติ (หนังสือชุดผู้ชนะสิบคิด) ได้แก่ คิดวิพากษ์ คิดวิเคราะห์ คิดเปรียบเทียบ คิดสังเคราะห์ คิดมโนทัศน์ คิดบูรณาการ คิดอนาคต คิดประยุกต์ คิดกลยุทธ์ และคิดสร้างสรรค์ ก่อนการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ เราควรคิดในมิติต่าง ๆ สิ่งที่เราคิดนั้น ถูกต้องไหม? สมเหตุสมผลไหม? เป็นจริงไหม? ฯลฯ
คิดดี – คิดอย่างมีคุณธรรม เราจะไม่เสียใจภายหลัง หากมีหลักคุณธรรมกลั่นกรอง ในหนังสือ สยามอารยะแมนนิเฟสโต้ : แถลงการณ์สยามอารยะ ผมได้นำเสนอให้ใช้หลักปรัชญาปัจเจกอารยะ ในการคิดเรื่องต่าง ๆ เราควรตั้งคำถามว่า สิ่งนี้ดีแท้ไหม สิ่งนี้งามแท้ไหม สิ่งนี้จริงแท้ไหม และควรคำนึงถึงผู้อื่นและส่วนรวม โดยใช้หลักปรัชญาสังคมอารยะมากลั่นกรอง โดยคำนึงถึงเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพที่พึงประสงค์ด้วย การตัดสินใจของเราจึงไม่ส่งผลร้ายต่อผู้อื่น และไม่เห็นแก่ตัว
คิดมีเหตุผล – คิดตามหลักตรรก จำไว้ว่าชนะอารมณ์ตัวเองได้ ก็ชนะทุกอย่างได้ เราต้องไม่ใช้อารมณ์นำ ต้องละอคติและความลำเอียง เพื่อให้สามารถพิจารณาเรื่องนั้นตามเนื้อหา ข้อเท็จจริง คิดหาเหตุผลคิดให้ครบทุกมุมอย่างรอบด้าน ทั้งมุมบวก มุมลบ โอกาส ความเสี่ยง และคิดทบทวนอีกครั้งอย่างรอบคอบ มั่นใจว่าสมเหตุสมผลก่อนตัดสินใจ
คิดบวก – คิดถึงความเป็นไปได้ คนที่มีความคิดบวกจะมีความมั่นคงทางอารมณ์มากกว่า คนที่คิดลบและมีอารมณ์อ่อนไหวไปตามสถานการณ์ ในยามวิกฤต คนที่คิดบวกจะมีความเข้มแข็งทางอารมณ์ ทำให้สามารถคิดอย่างมีเหตุผลได้ดีกว่า สามารถหาหนทางแก้ปัญหา และตัดสินใจได้ถูกต้อง รอบคอบมากกว่า และสามารถใช้สติปัญญา ควบคุมตนเองในการแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม
การคิดอย่างมีปัญญา ช่วยกำหนดอนาคตของเราให้ ‘สดใส’ ไม่ ‘ดับมืด’ ลงได้ ช่วยลดปัญหา ความผิดพลาด จากการตัดสินใจ ช่วยให้เราไม่ต้องเผชิญหน้ารับผิดชอบกับเรื่องที่ต้อง “เสียใจภายหลัง” ช่วยให้ทุกเรื่องที่เราตัดสินใจทำลงไปแล้ว สามารถรับผิดชอบผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นได้ เพราะสามัญสำนึกของเรา บอกได้ว่า “ตัดสินใจได้ถูกต้องเหมาะสมแล้ว”
ที่มา: งานวันนี้
ปีที่17 ฉบับที่ 755 วันที่ 13-20 พฤศจิกายน 2558
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://weknowyourdreams.com/images/future/future-01.jpg