แนวหน้า
คอลัมน์ : สกู๊ปแนวหน้า
ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าสังคมไทยเข้าสู่สังคมเมืองอย่างเต็มตัว ผู้คนละทิ้งถิ่นฐานในชนบทเข้าสู่ภาคการผลิตเชิงอุตสาหกรรมในเมือง เพราะเชื่อว่าจะทำให้ตนเองมีชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยรายได้ที่มากกว่า ทว่าผลกระทบที่ตามมา คือ ปัญหาทางสังคมนานัปการ ทั้งการจราจรที่ติดขัด อาชญากรรม ครอบครัวที่แตกแยกเนื่องจากต่างฝ่ายต่างต้องทำงานทำให้ไม่มีเวลาให้กัน รวมไปถึงปัญหาสุขภาพ ซึ่งประเด็นสุขภาพนี้หากเป็นโรคภัยไข้เจ็บทางกายยังพอเห็นได้ชัดทำให้รักษาได้ทันท่วงที
แต่หากเป็นโรคทางใจแล้วหลายคนไม่รู้ว่าตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะสังคมเมืองที่ต่างคนต่างอยู่และเต็มไปด้วยการแก่งแย่งแข่งขันในทุกๆ พื้นที่ ทำให้ทุกวันนี้เรามีผู้ป่วยโรคเครียดและซึมเศร้ามากมาย หลายคนตัดสินใจจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย ขณะที่อีกหลายคนใช้ชีวิตที่เหลืออย่างไร้ค่าไปวันๆ หนึ่ง ทั้งที่ยังมีศักยภาพในการพัฒนาตนเอง และพัฒนาประเทศชาติ จึงเป็นที่มาของการแสวงหาหนทางปรับกระบวนทัศน์ความคิด ผ่านคำพูดที่ง่าย แต่กลับเป็นสิ่งที่ไม่ได้ทำกันง่ายๆ นัก นั่นคือการ ?คิดบวก?
วันนี้เราจะพาทุกท่านไปทำความเข้าใจ และวิธีเปลี่ยนความคิดจากลบเป็นบวก เผื่อผู้ที่กำลังท้อใจอยู่ตอนนี้ จะได้รับข้อคิดดีๆ และมีกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไปอย่างมีคุณภาพไม่มากก็น้อย
ความสำคัญของ “ความคิด”
แม้ประวัติศาสตร์ของมนุษย์จะเต็มไปด้วยการใช้กำลังเข้าต่อสู้กันยามเกิดเหตุขัดแย้ง แต่ผลลัพธ์ทุกครั้งมักจะเต็มไปด้วยความสูญเสียเสมอ และการชนะด้วยกำลังเพียงอย่างเดียวไม่อาจเป็นชัยชนะที่ยั่งยืน ในทางตรงกันข้าม การต่อสู้ทางความคิด หลักคิดที่ได้รับการยอมรับมักจะกลายเป็นกระแสที่ถูกสืบทอดไปอีกนานแสนนาน ดังที่เราจะพบว่าบุคคลที่กลายเป็นตำนานในประวัติศาสตร์มักจะมีแนวคิดที่ยิ่งใหญ่เสมอ เช่น นักปราชญ์หรือศาสดาของศาสนาต่างๆ ที่เราคุ้นเคยกันดี
- ท่านลองดูสิครับ มนุษย์เราจริงๆ ใช้กำลังสู้สัตว์ไม่ได้เลย แต่เรากลับอยู่เหนือกว่าสัตว์ทุกชนิด อย่างช้างตัวใหญ่กว่าเรา แต่เราเอาช้างมาลากซุง มาทำงานให้เราได้ เพราะจุดแข็งของมนุษย์อยู่ที่ความคิด และสังคมไหนที่สร้างให้คนคิดเป็น สังคมนั้นจะเป็นสังคมที่มีพลังมาก ? เป็นทรรศนะจาก ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ซึ่งเขียนหนังสือชุดการพัฒนาความคิดออกมาแล้วหลายเล่ม ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของความคิด โดยห้วงประวัติศาสตร์ของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ล้วนมีเหตุมาจากแนวความคิดของนักคิดสำนักต่างๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทุนนิยม สังคมนิยม เสรีนิยม ฯลฯ
ทำไมต้อง “คิดบวก”
หลายคนคงจะเคยสังเกตตนเองหรือคนรอบข้าง เมื่อพบกับปัญหาแต่ละคนจะมีปฏิกิริยาที่ต่างกันออกไป โดยบางคนจะเอาแต่บ่น ท้อ บอกว่าเราทำไม่ได้ ขณะที่บางคนมองว่าปัญหาคือความท้าทาย และลงมือสู้กับปัญหาด้วยความเชื่อมั่นว่าจะเอาชนะมันให้ได้ ซึ่งคนประเภทแรกนั้นคือพวก ?คิดลบ? ซึ่ง ดร.เกรียงศักดิ์กล่าวว่า ผู้ที่คิดลบบ่อยๆ ก็เหมือนกับการกินยาพิษทุกวัน เป็นการบ่อนทำลายตนเองและคนรอบข้างโดยไม่รู้ตัว เพราะใครที่อยู่ใกล้คนคิดลบจะรู้สึกหดหู่ ซึมเศร้า ตรงข้ามกับคนประเภทหลังที่เป็นพวกคิดบวก ซึ่งบุคลิกภาพและพฤติกรรมจะเต็มไปด้วยพลังในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อย่างล้นเหลือ ทำให้ผู้ที่อยู่ใกล้คนคิดบวกจะรู้สึกอบอุ่น มีกำลังใจ
…
คนส่วนใหญ่ล้มเหลวเพราะไม่สามารถเปลี่ยนทัศนคติได้
ส่วนใหญ่ที่เราแพ้
เราแพ้เพราะตัวเองทั้งนั้นครับ
…
ทำไม่ง่าย..แต่ใช่ว่าจะทำไม่ได้
แม้ว่าการคิดบวกจะไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถฝึกให้เป็นนิสัยได้ เพราะขึ้นชื่อว่านิสัยแล้ว ไม่ว่าดีหรือไม่ดีล้วนเกิดจากความเคยชินทั้งสิ้น ดังนั้นการคิดบวกก็เป็นสิ่งที่สามารถฝึกฝนได้เช่นกัน โดยก่อนอื่นลองถามตัวเองก่อนว่าต้องการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ไหม ถ้าคำตอบคือ ?ใช่? ก็ต้องเปลี่ยนกระบวนความคิด คือ
- ให้มองหาแง่มุมที่ดีที่เป็นประโยชน์จากทุกๆ สถานการณ์ที่เกิดขึ้น
- หมั่นตั้งคำถามกับปัญหาด้วยประเด็น “เราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร”
- หัดนึกถึงภาพในแง่บวก เช่น โอกาส ความเป็นไปได้ และ
- หมั่นพูดกับตัวเองเสมอว่า “เราทำได้”
โดยทั้ง 4 ข้อนี้ ขอเพียงฝึกคิดฝึกปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง นานๆ ไปก็จะเกิดเป็นความเคยชิน กลายเป็นนิสัยประจำตัวไปในที่สุด
ขณะที่ในทางกลับกัน พฤติกรรมบางอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อการคิดบวก หรือการคิดเชิงสร้างสรรค์ที่ต้องลด ละ เลิก มีดังนี้
- คิดในแง่ลบตลอดเวลา
- พวกมากลากไป (ตามเพื่อน) เสียทุกเรื่อง
- ปิดกั้นตนเองในวงแคบๆ
- รักแต่งานสบาย
- ไม่กล้าเสี่ยงไม่ว่าเรื่องใดๆ
- ท้อใจเมื่อพบอุปสรรคหรือความล้มเหลว เป็นต้น
บุคคลตัวอย่างในการ “คิดบวก”
หากใครที่ติดตามข่าวต่างประเทศบ่อยๆ ในช่วงนี้คงได้ยินชื่อของ พ.ต.หญิง ลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธ (Ladda Tammy Duckworth) สตรีลูกครึ่งไทย-อเมริกัน อดีตนักบินเฮลิคอปเตอร์แบบ Black Hawk ของกองทัพสหรัฐอเมริกา ที่ไปรบในสงครามอิรัก ผลจากเครื่องที่เธอขับถูกยิงตก แม้จะรอดชีวิตกลับมาได้แต่ก็ต้องเสียขาทั้ง 2 ข้าง แต่ด้วยความที่เธอไม่คิดว่าชีวิตของตนนั้นจบแล้วเนื่องด้วยความพิการ ตรงกันข้าม เธอกลับพยายามทำอะไรหลายๆ อย่าง ทั้งการกลับมาฝึกขับเครื่องบินทั้งๆ ที่ใส่ขาเทียม และเธอ ยังได้รับการเลือกตั้งเป็น สส. ในรัฐอิลลินอยส์
เมื่อมีผู้ถามว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เธอไม่ยอมแพ้ พ.ต.หญิง ลัดดากล่าวว่า เพราะวิธีคิดที่ไม่ยอมถูกจำกัดอยู่ในกรอบตั้งแต่เข้ารับราชการทหาร ทั้งที่เป็นผู้หญิง แต่กลับไม่เคยคิดว่าตนเองด้อยกว่าเพื่อนทหารที่เป็นผู้ชาย กระทั่งปัจจุบัน แม้จะกลายเป็นคนพิการ แต่ก็ไม่ยอมแพ้เพียงเพราะเป็นคนพิการ สิ่งเหล่านี้เป็นการ “ทำลายกรอบ” ความคิดในแง่ลบทั้งสิ้น เช่นผู้หญิงต้องเป็นเพศที่อ่อนแอ หรือคนที่พิการไม่สามารถทำประโยชน์ใดๆ ได้ เป็นต้น
“คิดบวก” กับการพัฒนาบ้านเมือง
มีคำถามที่ยังคงถูกถามอย่างต่อเนื่องว่าประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนามาแล้วหลายสิบปี เมื่อไรจะกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วเสียที คำถามนี้ถูกวิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจ นั่นคือสังคมไทยเป็นสังคมแห่งการนินทาว่าร้าย ถึงขนาดมีคำกล่าวว่า “จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน” ซึ่งความคิดดังกล่าวก็เป็นความจริง โดยจะเห็นได้จากพฤติกรรมชอบนินทา ปล่อยข่าวลือ หรือเมื่อเห็นใครล้มเหลวก็มักจะถากถางเยาะเย้ยมากกว่าจะให้กำลังใจ
“สังคมไทยกำลังมีปัญหา
เต็มไปด้วยคนคิดลบที่จ้องจะจับผิด นินทาว่าร้าย เหยียบย่ำคนที่ล้มเหลว
แต่หากใครที่ต่อสู้จนชนะขึ้นมา
ก็กลับจะมาแสวงหาผลประโยชน์จากคนที่ตัวเองเคยดูถูก
กลับมาเกาะเพื่อจะใช้เป็นเครื่องมือ”
นอกจากนี้แล้ว ดร.เกรียงศักดิ์ยังฝากเตือนไปยังพ่อแม่ที่ชอบดุด่าลูก ซึ่งในบางครั้งหากใช้คำที่รุนแรงโดยไม่ยั้งคิด เช่น ชอบด่าลูกว่าโง่ ชาตินี้ไม่มีทางแข่งขันกับใครได้ สิ่งเหล่านี้จะฝังเข้าไปในจิตใต้สำนึกของเด็ก และจะทำให้เด็กกลายเป็นคนคิดลบไม่มั่นใจในตัวเองไปในที่สุด
“คนที่คิดบวก จะทำให้เกิดแรงบันดาลใจแก่คนรอบข้าง ดังนั้นแทนที่เราจะนั่งด่ากัน สู้ลุกขึ้นมาช่วยกันทำความดีจะดีกว่าไหม” นักวิชาการชื่อดังกล่าวทิ้งท้าย
ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ บุคคลที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จทั้งหลายมักมีช่วงเวลาที่ล้มเหลว บางคนล้มเหลวจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด แต่สิ่งที่พวกเขาต่างไปจากคนทั่วไปที่เมื่อล้มเหลวก็มักจะล้มเลิก บุคคลผู้กลายเป็นตำนานเหล่านี้ไม่เคยท้อถอย เมื่อวิธีนี้ไม่ได้ผล ก็พร้อมจะทดลองวิธีอื่นๆ เรียกว่าตราบใดที่ชิวิตไม่สิ้นก็ไม่ยอมเลิกราที่จะต่อสู้
ซึ่งไม่ว่าตอนท้ายของชีวิตพวกเขาจะสำเร็จหรือล้มเหลวก็ตาม แต่อย่างน้อยเรื่องราวของพวกเขาก็กลายเป็นตำนาน เป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลังศึกษาและเอาเป็นแบบอย่างต่อไป
ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่า…เขาเหล่านั้นได้เป็น “ผู้ชนะ” แล้ว
SCOOP@NAEWNA.COM
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.naewna.com/scoop/37365