‘คำชม’ เพิ่มพลังทีมทวีคูณ

ผู้นำจะไม่สามารถทำสิ่งใดสำเร็จได้ หากไม่มีใครร่วมมือ!!!!

ผมเชื่อในพลังทวีคูณ (synergy) ของการทำงานเป็นทีม คนทำงานแต่ละคนที่ผนึกกำลังกันเป็น ?ทีมงาน? นับเป็นหัวใจที่จะนำความสำเร็จมาสู่การทำงาน เพราะจะทำให้เกิดการประสานส่วนดีหรือจุดแข็งของแต่ละคนมาสนับสนุนกันและกัน เป็นการผนึกกำลังให้ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่คน ๆ เดียวไม่อาจทำได้

อย่างไรก็ตาม แทนที่ทีมงานจะมี ?พลังบวก? ทวีคูณ อาจกลับกลายเป็นมี ?พลังลบ? ทวีคูณได้ หากขาดกำลังใจในการทำงาน เพราะถูกปฏิบัติจากหัวหน้าทีมอย่างไม่เหมาะสม อาทิ

เกิดความรู้สึกว่า ทำดีเสมอตัว ทำชั่วโดนจัดการ….หากคนทำงานไม่เคยได้รับคำชื่นชมจากหัวหน้างาน ไม่เคยได้รับรางวัลพิเศษจากการทำงานเลย แม้ว่าจะขยันขันแข็งและพยายามมากเพียงใด กลับไม่มีใครเห็น แต่ในทางกลับกัน เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น อันอาจเกิดจากความประมาท ไม่ตั้งใจ กลับถูกตำหนิติเตียน …เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์เช่นนี้ บ่อยครั้งเข้า ย่อมหมดกำลังใจ แทนที่จะตัวเติมเต็มพลังทวีคูณให้ทีม กลายเป็นตัวถ่วงของทีมได้ในที่สุด

เกิดความรู้สึกว่า เลือกที่รัก มักที่ชัง…หากคนทำงานได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม หัวหน้างานชื่นชอบ ชื่นชมบางคนอย่างออกหน้าออกตา หรือแสดงการตำหนิติเตียนบางคนอยู่บ่อยครั้ง จนเกิดความรู้สึกภายในทีมว่า มีการเลือกที่รักมักที่ชัง การแสดงออกของผู้นำเช่นนี้ย่อมเป็นการบั่นทอนพลังเอกภาพของทีม อาจส่งผลให้เกิดความอิจฉาริษยา ความรู้สึกไม่อยากร่วมมือ ไม่อยากทำงานเต็มที่ เพราะคิดว่าทำไปก็ไม่เกิดผลดีอะไรขึ้นมา

ในฐานะหัวหน้างาน สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ หากต้องการสร้างทีมงานที่เข้มแข็ง มุ่งมั่นทำงานอย่างเต็มกำลัง ร่วมผูกพันอย่างเต็มใจ บรรลุเป้าหมายร่วมกัน นั่นคือ การกล่าวชมเชย

คำชมเชยนั้นเปรียบได้กับน้ำเย็นใสสะอาดที่ให้ความสุขสดชื่นแก่ผู้ได้รับ นักจิตวิทยาสำรวจพบว่า ทรัพย์สินเงินทองกลับไม่ใช่สิ่งยอดปรารถนาของคนทั่วไป แต่เป็นการได้รับการยกย่องนับถือในองค์กรหรือบริษัทที่ตนทำงานอยู่

ที่สำคัญ เราควรเรียนรู้ว่าจะเอ่ยชมเมื่อใดและอย่างไรด้วย เพื่อให้คำชมของเรานั้นเกิดผลในเชิงบวกต่อทีมงาน สิ่งที่เราควรเรียนรู้ ได้แก่

มองหาข้อดีที่ ?น่าชื่นชม? เราต้องคิดไว้เสมอว่า ทุกคนย่อมมีบางสิ่งบางอย่างที่เราสามารถเอ่ยชมเขาได้ แม้เป็นสิ่งเล็กน้อยก็ตาม เมื่อเราทีมงานกระทำสิ่งดี มีนิสัยส่วนตัวที่ดีที่ได้แสดงออก เช่น ความมีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมงาน การเสียสละเวลาส่วนตัวเพื่อไปช่วยเหลืองานภาพรวมขององค์กร เป็นต้น เราไม่ควรละเลยที่จะเอ่ยชม เพื่อเป็นกำลังใจให้กระทำสิ่งนั้นต่อไป

ชมเชยแม้เรื่องเล็กน้อย จำไว้ว่า คำชมไม่ต้องประหยัด จงใช้ทุกครั้งที่มีโอกาส เมื่อเห็นทีมงานทำบางสิ่งได้ดีหรือทำสิ่งที่มีค่าควรแก่การชม อย่าประหยัดคำพูดชมเชยเพราะคิดว่าเขารู้แล้ว หรือเกรงว่า หากชมมาก ๆ อาจทำให้ได้ใจ หยิ่งทะนง คิดว่าตนดีหรือเก่งกว่าผู้อื่น ในทางกลับกัน เราต้องตระหนักว่า คำพูดชม แม้เพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น คุณทำงานได้เป็นระเบียบเรียบร้อยดีมาก คุณเก็บเอกสารเป็นระเบียบทำให้หาเอกสารได้รวดเร็วมาก อาจทำให้ผู้รับรู้สึกปลาบปลื้มมีความสุขและกำลังใจในการทำงาน และยินดีทุ่มเททำงานร่วมกับเรามากขึ้น

ชมเชยด้วยความจริงใจ บุคคลหนึ่งกล่าวจากประสบการณ์ว่า ?คำชมเชยที่ปราศจากความจริงใจนั้น แย่เสียยิ่งกว่าไม่พูดอะไรเลยเสียอีก? คำกล่าวนี้เป็นจริงอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะคนรับย่อมสัมผัสได้ถึงความจริงใจ ดังนั้น เราจึงควรชมผู้ร่วมงานออกมาด้วยความจริงใจ ควรเอ่ยชมทีมงานตามความเป็นจริง ตามที่เขาควรจะได้รับเท่านั้น มิใช่เสแสร้งหรือเพื่อหวังผลประโยชน์บางอย่าง

ชมเชยอย่างมีเหตุผล ไม่พร่ำเพรื่อ ขณะเดียวกัน เราไม่ควรชมคนอย่างพร่ำเพรื่อ เพราะนอกจากจะก่อให้เกิดความเคอะเขินแก่ผู้รับแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดความรำคาญ เกิดความรู้สึกว่าไม่จริงใจก็ได้ เราควรรู้จักขอบเขตของคำชมเชย นั่นคือ เอ่ยคำชมหรือแสดงความชื่นชมเท่าที่เขาจะรู้และสัมผัสได้เท่านั้น

ชมเชยอย่างยุติธรรม เราจำเป็นต้องชมเชยให้ทั่วถึง ไม่เพียงเลือกชมเพียงบางคน แต่ต้องคิดว่า แต่ละคนนั้นต่างมีส่วนดีที่เราสามารถชมเชยเขาได้เสมอ เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่า เราในฐานะหัวหน้ามีความยุติธรรม ไม่ลำเอียง เพราะหากหัวหน้าเลือกชมบางคน จะทำให้คนที่ไม่เคยได้รับคำชมเชยเลยนั้นเกิดความรู้สึกท้อแท้ใจ รู้สึกไม่มีคุณค่าในสายจากหัวหน้างาน เกิดความรู้สึกหมดกำลังใจในการทำงานให้ดีต่อไป

บุคคลหนึ่งกล่าวไว้ว่า ?เป็นการดีที่จะแจกจ่ายคำชมเชยด้วยใจกว้างขวาง และตระหนี่ถี่เหนียวในการวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่น?

คนเราทุกคนล้วนต้องการเป็นคนสำคัญและได้รับการชื่นชมจากผู้อื่น อาจกล่าวได้ว่า เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการได้รับคำชมเชย เมื่อทำบางสิ่งบางอย่างได้ดี หรือประสบความสำเร็จ อันจะทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจ เกิดความมั่นใจในความสามารถของตนเอง และมีกำลังใจที่จะทำสิ่งนั้นต่อไป

 

ที่มา:?งานวันนี้
ปีที่ 17 ฉบับที่ 728 วันที่ 10-17 มี.ค.2558

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com,?http:// www.kriengsak.com

แหล่งที่มาของภาพ :?http://lifestyleinindia.com/wp-content/uploads/2014/09/office-work.jpg