ความเจริญก้าวหน้าของการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมของมนุษย์ แม้จะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อการช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิติทางด้านกายภาพ ความอยู่ดีกินดี เช่น การมีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และการมีความมั่นคงในอาชีพหน้าที่การงาน ฯลฯ
แต่ทว่าอีกแง่มุมหนึ่งกลับส่งผลกระทบต่อมิติทางด้านจิตวิญญาณ เช่น ความโดดเดี่ยว (loneliness) ความแปลกแยก (isolation) เป็นต้น อันเป็นผลมาจากการพัฒนาที่ขาดความสมดุลสอดคล้องกันระหว่างมิติการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าทางด้านองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และมิติทางด้านจิตวิญญาณ เช่น การเกิดขึ้นของสังคมเสมือน (virtual society) ที่เชื่อมโยงผู้คนทั่วทั้งโลกเข้าไว้ด้วยกันในมิติความกว้าง แต่กลับส่งผลทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันในมิติความลึกมีความอ่อนไหว ผิวเผิน และเปราะบางมากขึ้น เป็นต้น
ตัวอย่างผลการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้มีผลการศึกษาของนักวิจัย 3 ท่านจากวิทยาลัยดิวินิตี้ฮาร์วาร์ด (Harvard Divinity School) ออกมาระบุว่า “ประเทศสหรัฐอเมริกาต้องการการดูแลทางด้านจิตวิญญาณ” (America needs to care for its soul) โดยช่วง 4 ปีที่ผ่านมา นักวิจัยทั้ง 3 ได้เดินทางท่องเที่ยวไปทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อทำการศึกษาความเข้าใจเกี่ยวกับ ความโดดเดี่ยว ความแปลกแยก และความแตกแยก (division) ที่เกิดขึ้นกับผู้คนเป็นจำนวนมากในยุคดิจิทัล โดยนักวิจัยพบว่า เกิดสภาพวิกฤตที่ผู้คนขาดการติดต่อหรือเชื่อมต่อ (disconnection) กับคนรอบข้างหรือคนอื่น สังคม บริบทแวดล้อมรอบตัว และ/หรือศาสนา
นอกจากนั้น ผลการศึกษารายงานถึงการสังเกตการเพิ่มจำนวนของชุมชนทางจิตวิญญาณใหม่ทั้งภายในและภายนอกองค์กรทางศาสนาแบบดั้งเดิม (traditional religious organizations) พร้อมกันนี้ยังให้ข้อเสนอแนะถึงแนวทางบรรเทาความเจ็บป่วยด้านจิตวิญญาณของคนในชาติ และนำเสนอรายการงานที่ต้องทำ (jobs to be done) โดยชุมชนและผู้นำทางจิตวิญญาณรุ่นใหม่ (a new generation of community and spiritual leaders)[1] ซึ่งผลการศึกษาของนักวิจัย 3 ท่านจากวิทยาลัยดิวินิตี้ฮาร์วาร์ดดังกล่าว เป็นการค้นพบที่สำคัญอันจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการแก้ปัญหาความเจ็บป่วยทางด้านจิตวิญญาณของคนในประเทศสหรัฐอเมริกาและเป็นฐานพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวนี้ในอนาคต
กรณีของประเทศไทยเราควรมีการศึกษาประเด็นที่เป็นผลกระทบลักษณะเช่นว่านี้ด้วยเช่นเดียวกัน อันเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าสู่ยุคที่มีแนวโน้มองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี จะมีความเจริญก้าวหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิติทางด้านจิตวิญญาณ เช่น ความโดดเดี่ยว ความแปลกแยก และความแตกแยกของคนในสังคม อันเป็นประเด็นสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมแห่งโลกยุคอนาคต
โดยสถาบันอุดมศึกษาควรมีบทบาทสำคัญในการช่วยเตรียมผู้เรียนและสังคมให้พร้อมสำหรับการก้าวสู่ยุคสมัยที่องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มีความเจริญก้าวหน้าอย่างมาก มีส่วนช่วยเติมเต็มช่องว่างความต้องการของสังคมในมิติต่าง ๆ เช่น มิติทางด้านจิตวิญญาณ ผ่านภารกิจทางด้านการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยในฐานะองค์กรแห่งความรู้และองค์กรวิจัยควรมีบทบาทนำทิศนำทางและเติมเต็มช่องว่างทางด้านองค์ความรู้ให้แก่สังคมอย่างแท้จริง
[1] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://news.harvard.edu/gazette/story/2018/03/divinity-school-fellows-show-how-america-can-care-for-its-soul/
ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 34 วันศุกร์ 4 – พฤหัสบดี 10 พฤษภาคม 2561
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com