การเลือกตั้งซ่อมพม่า: ภาพที่เห็นกับความจริง

คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ก่อนการเลือกตั้งซ่อมเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าคน ทั้งโลกต่างเอาใจช่วย นางออง ซาน ซูจี สื่อทั้งไทยและเทศต่างแพร่ภาพพูดถึง เธอเป็นหลักและเมื่อผลการเลือกตั้ง ออกมาว่าพรรค National League for Democracy Party หรือ NLD ของเธอได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น ได้ 43 จากทั้งหมด 45 ที่นั่ง ดูเหมือนว่าคนทั้งโลก ต่างยินดีกับเธอ และน่าจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ แต่ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน

เมื่อรัฐบาลทหารพม่าประกาศแผนปฏิรูปประชาธิปไตยในประเทศ และจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2553

ในครั้งนั้นออง ซาน ซูจีถูกกีดกันไม่ให้ลงเลือกตั้ง ทำให้นางและพรรค NLD ประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้ง

ผลการเลือกตั้งเป็นไปตามคาด พรรคของฝ่ายรัฐบาลทหารได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น จัดตั้งรัฐบาลพลเรือน พล.อ. เทียน เส่ง (Thein Sein) เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมกับประกาศเรียกร้องให้ชาติตะวันตกยกเลิกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อพม่า แต่ ณ เวลานั้นรัฐบาลสหรัฐฯ ยื่นเงื่อนไขหลายประการ หนึ่งในนั้นคือ พรรค NLD ต้องเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกตั้งด้วย ดังที่รักษาการรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ นายมาร์ค โทเนอร์ (Mark Toner) กล่าวว่า ?ถือเป็นขั้นแรกของการปรองดอง?

การเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมาครั้งนี้ จึงเป็นผลรูปธรรมของการปรองดองขั้นต้น ณ วันนี้ นางออง ซาน ซูจี กับสมาชิกพรรคของเธอกลายเป็นส่วนหนึ่งของผู้ปกครองประเทศตามระบอบรับสภา เป็นเสียงข้างน้อยไม่อาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมาย หรือนโยบายประเทศ เป็นตรารับรองความชอบธรรมของรัฐบาลที่มีกลุ่มนายทหาร อยู่เบื้องหลัง

แต่ที่ยอมปรองดองกับรัฐบาลทหาร เข้าสู่ระบบการเลือกตั้ง เข้าสู่รัฐสภาคงเพราะได้ประเมินแล้วว่า การยอมเข้าไป นั่งใต้หลังคารัฐสภาตอนนี้ ดีกว่านั่ง ใต้หลังคาบ้านเหมือนที่ทำมา 20 กว่าปีแล้ว และ จำต้องมีก้าวแรกแม้เป็น เพียงก้าวเล็กๆ ของก้าวที่ใหญ่กว่าในอนาคต

เมื่อ นางออง ซาน ซูจี ได้นั่งในรัฐสภา เป็นตรารับรองรัฐบาลพม่า ชัยชนะการเลือกตั้งซ่อมของนางจึงเป็นชัยชนะทางการเมืองของผู้นำทางทหารที่กุมอำนาจปกครองประเทศด้วย

ภาพการเลือกตั้งซ่อมทำให้เรามุ่งสนใจเรื่องการเมืองการปกครอง เรื่องประชาธิปไตยในพม่า ความจริงแล้ว สิ่งสำคัญที่ชนชั้นปกครองพม่ากับนักลงทุนต่างชาติทั้งหลายต้องการจากการเลือกตั้งซ่อมคือ การเปิดกว้างให้นานาชาติสามารถเข้าไปลงทุนทำธุรกิจกับพม่า

ผลจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ ที่ผิดพลาดกับการถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากชาติตะวันตก อันได้แก่ สหรัฐฯ กับกลุ่มอียู ทำให้เศรษฐกิจพม่าพัฒนาช้ากว่าประเทศรอบข้าง ดังนั้น หากเปิดกว้างให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนมากขึ้น ไม่ติดเงื่อนไขจาก การถูกคว่ำบาตร เม็ดเงินลงทุนจาก ต่างชาติที่เข้ามาจะทำหน้าที่เป็น เงินอัดฉีด เข้ามาฟื้นฟูเยียวยาระบบเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

แน่นอนว่าประชาชนส่วนหนึ่งได้รับประโยชน์จากการนี้ มีการจ้างงานมากขึ้น ประเทศพัฒนาสู่ความทันสมัยมากขึ้น แต่ ผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงมากที่สุดคือ กลุ่มนายทุนพม่าที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้นำทางทหาร สองกลุ่มนี้คือกลุ่มชนชั้นนำผู้ปกครองพม่าทางการเมืองและเศรษฐกิจนั่นเอง

ในแง่ของนักลงทุนต่างชาติ ทุกวันนี้ประเทศเพื่อนบ้านพม่าได้เข้าไปลงทุนในพม่าอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นจีน ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ การเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีกสามปีข้างหน้าจะยิ่งกระตุ้นเศรษฐกิจระหว่างกัน หากนักลงทุนตะวันตกชักช้าเกรงจะเสียโอกาสลงทุนครั้งใหญ่ เงื่อนไขสำคัญคือรัฐบาลสหรัฐฯ กับพันธมิตรต้องยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อพม่า

การเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมาจึงเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจพม่าโดยตรง ก่อประโยชน์ ทางเศรษฐกิจต่อพม่ากับนานาชาติ ต่อบรรดานักลงทุนทั้งหลาย เป็นไปตาม ความปรารถนาของชนชั้นปกครองพม่า เป็นก้าวย่างแรกของการปรองดองทาง การเมือง เป็นก้าวย่างที่นางออง ซาน ซูจี ในวัย 66 ย่าง 67 ปี ได้ตัดสินใจ แล้วว่าจำต้อง ก้าวเข้าไป กำหนด วิสัยทัศน์ วางยุทธศาสตร์ สร้างคน รุ่นใหม่ เพื่อการเลือกตั้งทั่วไปในอีก 3 ปีข้างหน้า

“สิ่งสำคัญที่ชนชั้นปกครองพม่ากับนักลงทุนต่างชาติทั้งหลายต้องการจากการเลือกตั้งซ่อม คือ การเปิดกว้างให้นานาชาติสามารถเข้าไปลงทุนทำธุรกิจกับพม่า”

?

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com