การสร้างทายาทเป็นปัจจัยความสำเร็จที่ยั่งยืนขององค์กร ซึ่งหลายองค์กรประสบความสำเร็จ แต่ประสบปัญหาไม่สามารถยืนระยะอยู่ได้ยาวนาน เนื่องจากปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือ การขาดทายาทรับช่วงต่อ โดยมีคำกล่าวของชาวจีนที่เล่าต่อ ๆ กันมาว่า “ไม่เกิน 3 ชั่วคน จะเกิดการเปลี่ยนแปลง” หมายความว่า องค์กรธุรกิจหรือองค์กรประเภทใด ๆ ก็ตาม ไม่อาจรุ่งเรืองมั่นคงไปได้เกิน 3 รุ่น การรักษาองค์กรให้มั่งคั่งและมั่นคงมีอายุยืนยาวนับ 100 ปี หรือมากกว่า 3 รุ่นขึ้นไป นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับผู้นำองค์กร เพราะองค์กรจะต้องฝ่าฟันและก้าวข้ามสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ ความถดถอยตามวัฏจักรธุรกิจ กระแสการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองโลก การปฏิวัติทางเทคโนโลยีรวมถึง ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการเกิดโรคระบาด จะเห็นว่า ทายาท คือ บุคคลสำคัญที่จะทำให้องค์กรคงอยู่หรือหายไป การสร้างทายาทจึงเป็นปัจจัยความอยู่รอดขององค์กร เราจะสร้างทายาท เพื่อสร้างองค์กรให้อย่างยั่งยืนได้อย่างไร ผมจึงเสนอแนวทางการสร้างทายาท เพื่อสร้างองค์กรยั่งยืน 3 ประการ ดังนี้
.
ประการที่ 1 สร้างเป็นลำดับชั้นตามโมเดล 3ท.
การสร้างทายาทหรือการวางแผนการสืบทอดกิจการ (succession plan) เป็นแนวคิดที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในแวดวงธุรกิจ แต่ผมคิดว่า แนวคิดดังกล่าวยังไม่เพียงพอและครบถ้วนสำหรับการสืบทอดความรุ่งเรืองขององค์กรอย่างยั่งยืน คือไม่ได้อธิบายถึงระดับหรือจำนวนลำดับขั้นของทายาทที่ควรเตรียมพร้อม ทำให้สร้างคน สร้างทายาทไม่ทัน ผมจึงขอเสนอแนวคิดของผม คือ Succession Model หรือโมเดลทายาท เป็นกรอบการสร้างทายาท ประกอบไปด้วย
.
โมเดลทายาท 1ท: สร้าง…ทายาท เป็นขั้นเริ่มต้นและขั้นพื้นฐาน (ขั้นต่ำสุด) ของการสร้างความยั่งยืนที่ผู้นำทุกองค์กรต้องทำ เพื่อให้มีตัวแทนหรือผู้สืบทอดต่อจากผู้นำรุ่นแรก ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดความสำเร็จขององค์กรในอนาคต หากองค์กรใดไม่มีการสร้างทายาทเลย องค์กรเหล่านั้นจะมีอายุไม่เกิน 1 ชั่วอายุของคนรุ่นแรกอย่างแน่นอน
.
โมเดลทายาทที่แท้ 2ท: สร้าง…ทายาทของทายาท เป็นโมเดลการสร้างทายาทให้มีวิสัยทัศน์ที่จะสร้างทายาทรุ่นถัดไปอีกหนึ่งรุ่น โดยเน้นย้ำว่า ตัวทายาทรุ่นที่ 1 นั้นจะต้องสามารถส่งผลและมีอิทธิพลต่อชีวิตทายาทรุ่นที่ 2 ได้ เป็นแบบอย่างที่จับต้องได้ ตั้งเป้าหมายพัฒนาตนเองคอยกำชับ การถ่ายทอดอุดมการณ์ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า จะมีการส่งต่ออุดมการณ์อย่างไม่ผิดเพี้ยน
.
โมเดลทายาทที่สมบูรณ์ 3ท: สร้าง…ทายาทของทายาทของทายาท เป็นโมเดลการสร้างทายาทที่สมบูรณ์ เพราะไม่เพียงแต่สอนให้ทายาทสร้างทายาท แต่สนใจว่าทายาทของทายาทจะสามารถสร้างทายาทต่อไปได้หรือไม่ สะท้อนว่าต้องมีการรักษาการถ่ายทอดอุดมการณ์ลงไปในทายาทแต่ละรุ่นอย่างไม่เจือจาง เป็นอุดมการณ์เดียวกัน และมีชีวิต ที่ยังคงรักษาความเข้มข้นไว้ได้ โดยตั้งเป้าหมายทุกคน ทุกตำแหน่ง ต้องมีผู้ร่วมสืบทอดงาน
.
ประการที่ 2 สร้างด้วยการพัฒนาตนให้เป็นแบบอย่างตามโมเดลอารยะไอดอล หรือ ปฏิมัตต์
ทายาทจะต้องกล้าและยินดีพัฒนาตนเป็นไอดอล กล้าเป็นในสิ่งที่ถูก ไม่เป็นสิ่งที่ผิด กล้าที่จะเป็นต้นแบบ ให้คนอื่นเลียนแบบได้ เป็นแรงบันดาลใจ (inspiration) ให้กับคนทั้งหมดที่เข้ามาใกล้และไกล เป็นคนที่เคลื่อนคนอื่นได้ด้วยอำนาจ อิทธิพล ศรัทธา และบารมี ที่จะทำให้คนทั้งหลายนั้นเดินหน้าไปในทางที่ดีที่ถูกต้อง การจะกล้าเป็นไอดอลต้องมีไอดอลก่อนคือ การเทิดทูนคนที่มีคุณลักษณะสะท้อนความดีงาม หรือเทิดทูนปฏิมัตต์ ซึ่งผมใช้คำว่าปฏิมัตต์ แปลว่า เสมือนปฏิมา เสมือนสิ่งที่เทิดทูน ใกล้เคียงกับของจริงมากที่สุดแต่ไม่ใช่ของจริง เพียงแต่เป็นที่ยึดเหนี่ยวคนไว้เข้าหากัน เป็นตำนานให้คนเล่าขานสืบไป ดังนั้นลักษณะของอารยะไอดอลนั้นจึงเริ่มตั้งแต่เป็นผู้ร่วมงานหรือลูกน้อง จนกลายเป็นผู้สืบทอดงานหรือทายาท ที่ต้องมีการใช้เวลาร่วมกัน ทำสิ่งต่าง ๆ ร่วมกันหาช่องทางเพื่อฝึกฝน บรรจง ปั้นแต่งชีวิต
.
ประการที่ 3 สร้างด้วยการตัดแต่งชีวิตตามโมเดลอารยะมนตรี: หน้าที่ของมนตรีทั้ง 8 (Araya Mantri Model)
ทายาทต้องถูกตัดแต่งชีวิตในมิติต่าง ๆ ผู้จะสร้างทายาท ต้องทำหน้าที่ตัดแต่งชีวิตของทายาทในมิติต่างๆ ดังต่อไปนี้
.
1) มนตรีความเห็น: ผู้แต่งความเห็น เตรียมคนให้มีความคิดความเห็นที่ถูกต้อง มีอารยะความเห็นบนฐานอารยธรรมปัญญารู้คิด คือ มีการคิด 4 ทิศ คิดเป็น คิดดี คิดบวก คิดครบ แต่งความเห็นด้วยการอธิบาย ทำให้เห็นคุณค่า ทำให้เดินในทางที่ถูก เช่น การอธิบายอย่างถ่อมใจให้รู้ว่าความเห็นอย่างนี้ถูก ความเห็นอย่างนี้ผิด เป็นต้น
.
2) มนตรีแผนการ: ผู้แต่งแผนการ แต่งแผนชีวิต วางแผนให้ถูกทาง สอดรับกับเป้าหมายองค์กร เช่น การสนับสนุนให้มีแผนชีวิตระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว สอดรับกับพันธกิจและภารกิจขององค์กร เป็นต้น
.
3) มนตรีอาชีพ: ผู้แต่งอาชีพ ให้คำแนะนำในการทำงาน พันธกิจต่าง ๆ ในองค์กรสิ่งที่จะเป็นอาชีพหลัก อาชีพรอง คืออะไร ส่งเสริมเป้าหมายองค์กรระยะยาวไม่คิดเพียงทำมาหากินเท่านั้น
.
4) มนตรีระเบียบระบอบ: ผู้แต่งระเบียบระบอบ การสร้างผู้ร่วมสืบทอดงานเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีระบอบชุมชน ผู้นำต้องช่วยทายาทของตัวเองให้อยู่ในระบอบ เช่น ช่วยสร้างความเข้าใจในบทบาทหน้าที่การเป็นผู้นำและผู้ตาม ความเข้าใจเรื่องการอยู่กับระบอบชุมชนที่ตนเองสังกัด เป็นต้น
.
5) มนตรีความรู้: ผู้แต่งความรู้ ผู้นำต้องถ่ายทอดทั้งวิธีการเรียนรู้และเนื้อหาที่เรียนรู้ ถ่ายทอดศาสตร์และศิลป์ เติมความรู้ให้ ใส่ความรู้ที่ขาด ช่วยดูว่าขาดความรู้สิ่งใด เพิ่มเติมสิ่งนั้นให้
.
6) มนตรีทักษะ: ผู้แต่งทักษะ ผู้นำต้องช่วยเสริมสร้างทักษะที่ขาดให้ทายาท หาทางเติมให้เต็ม เกิดเป็นผลลัพธ์ที่พึงประสงค์หรือปรารถนาในตัวคน เช่น ทักษะการบริหาร ทักษะการสื่อสาร ทักษะการนำ ทักษะการใช้เทคโนโลยี ทักษะการคิด เป็นต้น
.
7) มนตรีความคิด: ผู้แต่งความคิด ชีวิตเป็นผลลัพธ์ของความคิด ฐานลึกสุด คือ วิธีคิด เอาผลลัพธ์ชุดความคิดเป็นสารตั้งต้น แต่งวิธีคิด แต่งความคิด แต่งชุดผลลัพธ์ความคิด แต่งกระบวนคิด แต่งการคิด 4 ทิศ แก้ความคิด ก่อนมอบให้เป็นผู้ร่วมสืบทอดงาน เช่น ถกความคิดทุกจุด การดูว่าความคิดหลงทางหลงผิดหรือไม่ เป็นต้น
.
มนตรีชีวิต: ผู้แต่งชีวิต ผู้นำต้องเป็นผู้ฝึกสอนชีวิต ใช้เวลาถ่ายทอดจุดแข็งลงไป ต้องมีปฏิสัมพันธ์ชีวิตกันที่เข้มข้น ใกล้ชิด เพื่อจะส่งอิทธิพลชีวิต ผ่านการเรียน การทำงานด้วยกัน เป็นต้น
.
ผมเชื่อว่าทายาทต้องเกิดจากการสร้าง ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เองโดยธรรมชาติ ถึงเวลาที่องค์กรต้องเตรียมวางรากฐานในการสร้างทายาท เพราะ การสร้างทายาทต้องใช้เวลา โดยเริ่มต้นจากคัดเลือกทายาท จากคนที่เป็นร่วมอุดมการณ์ ผู้นำต้องพัฒนาตนเป็นปฏิมัตต์และทำหน้าที่มนตรีทั้ง 8 ประการ ในการสร้างและส่งต่อพันธุ์ที่เข้มแข็งเรื่อยไปตลอด จนเกิดผลลัพธ์ทวีคูณไม่สิ้นสุดครับ
.
ที่มา นิตยสาร Mix