เดลินิวส์
ในช่วงที่ผ่านมาปีกว่ามาแล้ว ผมได้ไปสอนในหลักสูตรการบริหารงานยุติธรรมระดับสูง รุ่นที่ 2 (ยธส.2) ซึ่งจัดโดยกระทรวงยุติธรรม เพื่อสร้างบุคลากรและข้าราชการให้สามารถปฏิบัติงานด้านการยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลและเพื่อสร้างความเป็นธรรมและสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคม
นอกจากนี้ผมยังมีโอกาสปฏิสัมพันธ์ทางความคิดกับนักวิชาการ ข้าราชการที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมและผู้พิพากษาจำนวนมากตลอดมา ทำให้ผมได้เห็นปัญหาหลายประการในกระบวนการ
ยุติธรรมไทย ปัญหาหนึ่งที่มีการพูดถึงอย่างกว้างขวาง คือ ความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมของไทย ซึ่งนำไปสู่วาทกรรม เช่น ?สองมาตรฐาน? ที่เป็นต้นเหตุหนึ่งของความไม่สมานฉันท์ในสังคมไทยในช่วงที่ผ่านมา
ประเทศไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมมากน้อยเพียงใด มีปัญหาจริงอย่างที่ได้ยินได้ฟังจากสื่อหรือจากที่มีคนพูดกันหรือไม่ คำถามนี้ไม่อาจจะตอบได้อย่างมีเหตุผลและเป็นวิทยาศาสตร์ได้มากนัก เนื่องจากยังไม่เคยมีการวัดออกมาให้เห็นชัดเจน ส่วนใหญ่จะใช้ข้อมูลเพียงบางกรณีหรือใช้อารมณ์ความรู้สึกตัดสินกันมากกว่า ผมจึงคิดว่าหากประเทศไทยมีการวัดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมออกมาให้เห็นชัดเจน จะทำให้ปัญหานี้ได้ถูกแก้ไขได้ง่ายขึ้นและช่วยลดความขัดแย้งในสังคมลงไปได้มาก เนื่องจาก
การวัดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมทำให้ปัญหาได้รับความสนใจ ถูกแก้ไขและบริหารจัดการอย่างจริงจัง
นักบริหารระดับโลกอย่างปีเตอร์ ดรัคเกอร์เคยพูดไว้ว่า ?What get measured get managed? สิ่งใดที่ถูกวัด สิ่งนั้นจะถูกบริหารจัดการ เราจะเห็นว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจนั้นมีการวัดและรายงานผลต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขการกระจุกตัวของรายได้ โดยพิจารณาสัดส่วนของรายได้ที่ถือครองระหว่างคนร้อยละ 20 ส่วนบนเปรียบเทียบกับร้อยละ 20 ส่วนล่าง หรือ ค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini coefficient) การวัดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจหรือการกระจายรายได้นี้มีการวัดทั้งในระดับประเทศ รายภาค รายจังหวัด แบ่งแยกเขตเมือง เชตชนบท ทำให้เห็นภาพความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและปัญหาการกระจายรายได้อย่างชัดเจน ทำให้ภาครัฐทราบว่าสถานการณ์บริเวณใดดีหรือไม่ดี รู้ว่าสถานการณ์แต่ละพื้นที่นั้นดีขึ้นหรือแย่ลง ซึ่งนำไปสู่การกำหนดนโยบายเพื่อการแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม สังคมเกิดความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน
อย่างไรก็ตามเมื่อเราพิจารณาความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมนั้นไม่มีการวัดออกมาให้เห็นชัดเจน ที่ผ่านมาปัญหานี้จึงไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรและทำให้ปัญหาค้างคาไม่ถูกแก้ไข
การวัดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมจะช่วยลดความรู้สึกอันเกิดจากวาทกรรม ที่สร้างอารมณ์ความไม่พอใจในสังคม รวมทั้งความเข้าใจผิด ซึ่งอาจนำไปสู่ความรุนแรงในสังคม
เมื่อปราศจากการวัดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมในภาพรวมอาจทำให้คำต่างๆ ที่แสดงความไม่ยุติธรรมในสังคม เช่นคำว่า ?สองมาตรฐาน? หรือคำอื่นๆ ถูกใช้เป็นวาทกรรมเฉพาะจุดหรือเฉพาะเหตุการณ์ เพื่อการปลุกเร้าและสร้างอารมณ์ให้แก่มวลชนในการชุมนุม ซึ่งอาจนำไปสู่การปะทะกันได้โดยง่ายสำหรับคนที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ทั้งที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยหลักฐานที่ชัดเจนว่า ?สองมาตรฐาน? นั้นเป็นจริงหรือไม่
การมีตัวชี้วัดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมจะช่วยทำให้สังคมเกิดความเข้าใจและลดการใช้อารมณ์ความรู้สึกในการตัดสินสถานการณ์ต่างๆ ตลอดจนไม่หลงเชื่อเหตุผลจอมปลอมที่ถูกยกขึ้นเพื่อปลุกเร้าอารมณ์ของคนในสังคม ผู้ที่สร้างวาทกรรมที่ไม่สอดคล้องหลักฐานเชิงประจักษ์จะไม่ได้รับความเชื่อถือและถูกทำให้ยอมจำนนด้วยหลักฐาน ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้งในเชิงความคิดและทำให้ไม่เกิดความรุนแรงในสังคม
คำถามต่อมาหากเราต้องการวัดความเหลื่อมล้ำในกระบวนยุติธรรม คือ เราจะวัดได้อย่างไร?
ในโลกนี้อาจจะมีดัชนีชี้วัดเรื่องนี้ความเป็นธรรม (หรือไม่เป็นธรรม) ในกระบวนการยุติธรรมอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น Amy Bach ศึกษาและวิจัยเป็นเวลา 8 ปี โดยเก็บข้อมูลจากศาลชั้นต้น (Trial court) ทั่วสหรัฐ เพื่อนำมาสร้างเป็นดัชนีชื่อ ?Justice Index? เพื่อประเมินความสามารถของศาลทั่วสหรัฐและทำให้เกิดการพัฒนาการให้บริการด้านกฎหมายที่เป็นธรรมมากขึ้น Justice Index นี้วัดใน 3 ประเด็นหลัก คือ Public safety (ความสามารถในการรักษาปลอดภัยให้แก่ประชาชน) Fairness and accuracy (ความยุติธรรม ถูกต้อง ไม่ดำเนินคดีผิดคน) Fiscal responsibility (การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ ไม่ทำให้เกิดต้นทุนกับศาล ภาครัฐ และประชาชนที่เกี่ยวข้องมากเกินไป) (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากหนังสือ ?Ordinary injustice: How America holds court?)
นอกจากนี้ยังมีองค์กรหนึ่งในสหรัฐ ชื่อว่า ?The World Justice Project? ซึ่งมีความตั้งใจว่าจะผลักดันและเสริมสร้างหลักนิติธรรม (Rule of law) เพื่อการพัฒนา การสร้างโอกาสและความเท่าเทียมกันให้ชุมชนและสังคม โดยได้จัดทำรายงานและดัชนีที่เรียกว่า ?Rule of Law Index? ซึ่งประกอบด้วยปัจจัย 9 ประการ ได้แก่ 1) รัฐใช้อำนาจถูกต้อง อยู่ในขอบเขต 2) ไม่มีการคอร์รัปชั่นในระบบ 3) การมีระเบียบและความมั่นคงปลอดภัย 4) ประชาชนทุกคนถูกปฏิบัติและมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเท่าเทียมกัน 5) กฎหมายมีเสถียรภาพ เข้าถึงได้ เปิดเผย โปร่งใส 6) กระบวนการบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ 7) ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ ไม่มีการกีดกัน ไม่ล่าช้า 8) มีการสืบสวนที่มีประสิทธิภาพ ทันเวลา และ 9) กระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นทางการทำงานได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ โดยแต่ละปัจจัยมีองค์ประกอบอีกหลายประการ
Rule of Law Index นั้นมีการสำรวจและเปรียบเทียบประเทศต่างๆ ซึ่งประเทศไทยเองถูกสำรวจและจัดอันดับด้วยเช่นเดียวกัน โดยทำการสำรวจตัวแทนในเขตพื้นที่ กรุงเทพ นนทบุรีและปากเกร็ด (ผลการสำรวจสามารถดูได้ที่ http://worldjusticeproject.org/rule-of-law-index/)
ภาครัฐควรพัฒนาดัชนีขึ้นมาเพื่อวัดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม โดยพัฒนาเพิ่มเติมจาก ?Justice Index? และ ?Rule of Law Index? หรือดัชนีที่ใกล้เคียงกันอื่นๆ นำมาพัฒนามาเป็นดัชนีที่เหมาะสมกับกรณีของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศชาติ เนื่องจากผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนากระบวนการยุติธรรมจะนำไปสู่ความสมานฉันท์และความปรองดองในสังคม รวมทั้งเสริมสร้างบรรยากาศการค้าการลงทุนในอีกทางหนึ่งด้วย
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com
?