คอลัมภ์ : การเมือง : ทัศนะวิจารณ์
ภาษีถือเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลแต่ละประเทศในการดำเนินนโยบาย โดยแต่ละประเทศมีรูปแบบ และโครงสร้างภาษีที่แตกต่างกัน มีแนวคิดการจัดเก็บภาษีลักษณะหนึ่ง ที่ผมเห็นว่ามีความน่าสนใจ นั่นคือ การจัดเก็บภาษีเงินได้ติดลบ (Negative Tax) ซึ่งนอกเหนือจากผู้มีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องจ่ายภาษีให้รัฐตามอัตราที่กำหนดแล้ว ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์จะได้รับเงินได้ชดเชยจากรัฐเป็นเงินจำนวนหนึ่ง (ตามระบบภาษีแบบเดิมนั้น คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับอะไร)
แนวคิดนี้มีการเสนอมานานแล้วในต่างประเทศ แต่ในประเทศไทยนั้น ยังไม่ค่อยมีการพูดถึงมากนัก ผมเป็นคนแรกๆ ที่เขียน
เสนอแนะให้ประเทศไทย มีการจัดเก็บภาษีเงินได้แบบติดลบนี้ ซึ่งผมได้วิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของภาษีเงินได้ติดลบนี้ไว้ในบทความเรื่อง “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ : ลดภาษี ประชานิยม หรือ Negative tax” (โพสต์ทูเดย์, 20 มี.ค. 2551)?
ที่ผมหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเขียนอีกครั้ง เนื่องจากในช่วงนี้หลายฝ่ายกล่าวถึงเรื่องการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ผมเห็นว่าหากรัฐบาลนี้จริงจังในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำแล้วการจัดเก็บภาษีเงินได้แบบติดลบนี้ เป็นอีกมาตรการหนึ่งที่น่าสนใจ?
นอกจากนี้ เมื่อประมาณปลายเดือนมิถุนายน 2553 ที่ผ่านมา ธนาคารกลางแห่งประเทศอิสราเอลได้เสนอให้มีการจัดเก็บภาษีเงินได้ติดลบทั่วประเทศอิสราเอล ภายหลังที่ได้จัดทำโครงการนำร่องไปแล้วในเดือนกันยายน ปี 2551 ในพื้นที่ 4 เมือง ซึ่งมีอัตราการว่างงานและความยากจนสูง อันได้แก่ เมืองแอชเคลอน เมืองฮาเดรา เมืองเยรูซาเล็ม และเมืองนาซาเร็ธ โดยผู้ที่จะได้รับเงินชดเชยต้องมีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ของโครงการนี้ ซึ่งส่วนมากเป็นผู้ที่มีอายุขั้นต่ำ 55 ปี หรือผู้ที่เป็นผู้ปกครองอายุตั้งแต่ 23 ปีขึ้นไป ซึ่งมีรายได้ขั้นต่ำอยู่ที่ 1,810 เชเคลต่อเดือน หรือประมาณ 15,204 บาท (ณ วันที่ 11 สิงหาคม 2553 ค่าเงิน 1 เชเคล เท่ากับ 8.4 บาท) แต่ไม่เกิน 5,970 เชเคลต่อเดือน หรือประมาณ 50,148 บาท คนเหล่านี้อยู่ในกลุ่ม 1 ใน 10 ของแรงงานที่ทำงานเต็มเวลา แต่ยังมีรายได้ต่ำ โดยเฉพาะครอบครัวที่มีผู้ปกครองทำงานคนเดียว?
จากการศึกษาวิจัยของธนาคารกลางอิสราเอล พบว่าการใช้ระบบภาษีเงินได้ติดลบในโครงการนำร่องได้ผลเป็นอย่างดี คือ ไม่เพียงแต่ช่วยทำให้ผู้ที่ได้รับเงินได้ชดเชยจากรัฐ จำนวนร้อยละ 4.5 จาก 28,800 คน พ้นจากเส้นความยากจนแล้ว การจัดเก็บภาษีลักษณะนี้ ยังช่วยลดช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยได้อีกด้วย ทำให้คนยากจนที่ถูกตัดไฟฟ้า และการให้บริการโทรศัพท์มีจำนวนน้อยลง รวมทั้งคนยากจนที่ไม่ต้องทนเจ็บไข้โดยไม่ไปรับบริการทางการแพทย์มีจำนวนน้อยลงเช่นกัน
ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าหากอิสราเอลนำระบบภาษีเงินได้แบบติดลบนี้มาใช้ทั้งประเทศ จะมีคนอีก 3 แสนคนที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับเงินภาษีเงินได้ชดเชยจากรัฐ ซึ่งจะช่วยให้ 2,300 ครอบครัวหลุดพ้นจากความยากจนได้ และทำให้แรงงาน 1 ใน 10 สามารถหายใจได้ทั่วท้องมากขึ้น โดยต้นทุนทั้งหมดที่รัฐต้องใช้ในการจ่ายเงินชดเชย คือ 393 ล้านเชเคลต่อปี (ประมาณ 3,301.2 ล้านบาท)
ระบบภาษีเงินได้ติดลบนี้จะช่วยจูงใจให้คนทำงานมากขึ้น ซึ่งไม่เหมือนกับสวัสดิการแบบอื่นที่อาจทำให้คนไม่อยากทำงาน อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอแนะว่าหากจะนำมาปฏิบัติทั่วอิสราเอล ควรจะมีการปรับปรุงจากโครงการนำร่อง โดยเฉพาะเรื่องที่หนึ่ง คือ มีแรงงานเพียงร้อยละ 45 จาก 64,000 คนที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่เข้าโครงการนำร่องสามารถขอรับเงินชดเชยจากรัฐได้ ภายหลังจากการกรอกเอกสารที่จำเป็นเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ รัฐยังจำเป็นต้องประชาสัมพันธ์มากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งมีคนอาหรับอาศัยอยู่หนาแน่น และอีกปัญหา คือ เงินที่รัฐจ่ายเพื่อชดเชยให้ประชาชนนั้นยังถือว่าน้อยและไม่เพียงพอ เงินชดเชยสูงสุดที่รัฐจัดให้อยู่ที่ 420 เชเคลต่อเดือน (ประมาณ 3,528 บาท) เท่านั้น ซึ่งหากเปรียบเทียบอิสราเอลกับสหรัฐ เมื่อปรับเรื่องความแตกต่างของค่าครองชีพให้อยู่ในระดับเดียวกัน คนรายได้น้อยในอิสราเอลได้รับเงินได้ชดเชยเพียงครึ่งหนึ่งที่คนรายได้น้อยในสหรัฐได้รับเท่านั้น ทั้งนี้ หากยิ่งปรับเงินชดเชยให้สูงขึ้นก็จะยิ่งจูงใจคนให้ทำงานมากขึ้นด้วย?
อิสราเอลเป็นตัวอย่างที่ดีของความสำเร็จในการนำระบบภาษีแบบติดลบมาใช้ ดังนั้น ผมอยากเสนอให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังพิจารณา และศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดเก็บระบบภาษีเงินได้แบบติดลบในประเทศไทยอย่างจริงจัง เพื่อประเทศไทยจะมีเครื่องมือประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และช่วยให้รัฐสามารถประสบความสำเร็จในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อย่างแท้จริง
?
?
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com