กลยุทธ์การเป็นหุ้นส่วนและคู่แข่ง : กรณีผลการศึกษาคณาจารย์ฮาร์วาร์ด

การจัดการศึกษาควรมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับโลกความเป็นจริง มีส่วนชี้ทิศนำทาง และจัดการแก้ปัญหาสังคมอย่างเป็นรูปธรรม บนพื้นฐานภารกิจทางด้านการศึกษา เช่น การสร้างคน การสร้างองค์ความรู้ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกยุคสมัยปัจจุบันและอนาคตที่นับวันจะทวีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น องค์ความรู้ต่าง ๆ มีการพัฒนาเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและเป็นพลวัต การศึกษาในฐานะภาคส่วนแห่งความรู้ควรมีบทบาทสำคัญต่อการนำความแจ่มกระจ่างทางปัญญามาสู่สังคม กำหนดกรอบการคิดพิจารณาในการกำหนดหลักเกณฑ์และหลักการต่าง ๆ สร้างกำลังคนและองค์ความรู้สนับสนุนการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าของประเทศ

ตัวอย่างผลการวิจัยของ อาจารย์มาร์ติน โนแวก (Martin Nowak) อาจารย์ทางด้านคณิตศาสตร์และชีววิทยาของฮาร์วาร์ด ที่ถูกนำเสนอในเว็บไซต์ข่าวของฮาร์วาร์ดช่วงเดือนเมษายน 2018 ที่ผ่านมาเกี่ยวกับกลยุทธ์หุ้นส่วนและคู่แข่ง (partners or rivals strategies) ผลการวิจัยดังกล่าวนี้ถูกตีพิมพ์ในวารสารทางด้านพฤติกรรมมนุษย์ (Nature Human Behavior) เป็นงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากหน่วยงานภายนอก

อาจารย์โนแวกได้ร่วมกับเพื่อนร่วมงานอีก 2 ท่านจากสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในออสเตรีย (Institute of Science and Technology in Austria) ศึกษาเกี่ยวกับกลยุทธ์หุ้นส่วนและคู่แข่งดังกล่าวนี้   เริ่มต้นจากการศึกษากระบวนทัศน์แบบดั้งเดิม (classic paradigm) จากทฤษฎีเกม (game theory) กล่าวคือ สภาวะลำบากของนักโทษ (prisoner’s dilemma)

เกมนี้เป็นการตัดสินใจกรณีต้องตอบสนองสถานการณ์ ผู้เล่นสองคนจะต้องตัดสินใจว่าจะร่วมมือกันหรือไม่ร่วมมือ หากผู้เล่นสองคนร่วมมือกัน ทั้งสองจะได้รางวัล หากมีผู้เล่นคนใดคนหนึ่งไม่ร่วมมือ ในขณะที่อีกคนร่วมมือ ผู้เล่นที่ไม่ร่วมมือจะได้รางวัลที่มากกว่า ขณะที่ผู้เล่นอีกคนจะไม่ได้รับอะไรเลย หากผู้เล่นทั้งสองคนปฏิเสธไม่ร่วมมือ ทั้งสองจะได้รางวัล แต่รางวัลที่ได้จะน้อยกว่ากรณีที่ทั้งสองร่วมมือกัน หากผู้เล่นใช้ตรรกะเหตุผลในการตัดสินใจอย่างแท้จริง กลยุทธที่ดีที่สุดคือการไม่ร่วมมือ เพราะเป็นการตัดสินใจเพื่อประโยชน์ส่วนตนที่จะทำให้ได้รับรางวัลมากที่สุด

อาจารย์โนแวกกล่าวว่า “การสังเกตที่น่าสนใจคือ การคัดเลือกโดยธรรมชาติมักจะเลือกหุ้นส่วนหรือไม่ก็คู่แข่งเสมอ หากเลือกหุ้นส่วนระบบจะเคลื่อนสู่การร่วมมือกันอย่างเป็นธรรมชาติ หากเลือกคู่แข่งระบบจะเคลื่อนสู่การไม่ร่วมมือและถูกทำให้ถึงวาระสุดท้าย…”

นอกจากนี้ อาจารย์โนแวกยังเชื่อว่า การศึกษาดังกล่าวนี้เป็นการเสนอตัวอย่างวิธีการกระตุ้นความร่วมมือในระหว่างกลุ่มปัจเจกบุคคล พร้อมกับทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ดีที่สุดที่ตนเองสามารถทำได้ในโลกนี้คือ การเล่นกลยุทธ์ที่บุคคลอื่นได้รับผลตอบแทนมากที่สุดหากพวกเขาร่วมมือ กลยุทธ์นั้นไม่ได้ป้องกันสถานการณ์ที่บุคคลอื่นเอาเปรียบตน แต่หากพวกเขาพยายามเอาเปรียบ พวกเขาจะได้รับผลตอบแทนน้อยกว่าการที่พวกเขาร่วมมืออย่างเต็มที่[1] การศึกษาดังกล่าวนี้เป็นประโยชน์ต่อการอธิบายและช่วยให้มองเห็นความสัมพันธ์เชิงเหตุและผลของปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้น

กรณีประเทศไทย ผมเคยนำเสนอความคิดมานานแล้วว่า การทำวิจัยในสายตาของผมเป็นการหาความรู้สดที่มิใช่ความรู้กระป๋องคือ ความรู้สำเร็จรูป[2] ทุกประเด็นการวิจัยควรให้เป็นการสร้างความรู้สดหรือองค์ความรู้ใหม่ และมหาวิทยาลัยในฐานะองค์กรแห่งความรู้และองค์กรวิจัยควรเป็นต้นแบบหรือเป็นแบบอย่างในการทำวิจัยลักษณะดังกล่าวนี้ โดยควรให้ความสำคัญกับงานวิจัยที่มุ่งตอบโจทย์ความต้องการของสังคม อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติสังคมส่วนรวมอย่างแท้จริง

[1] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://news.harvard.edu/gazette/story/2018/04/study-examines-how-partners-and-rivals-strategies-can-foster-or-destroy-cooperation/

[2] ผมนำเสนอความคิดใน การประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ราชภัฏวิจัย ครั้งที่ 4 ภายใต้ชื่อ การสร้างสรรค์นวัตกรรมและงานวิจัย มาตรฐานการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา คลังปัญญาในการบริการวิชาการสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืนของชุมชน 4th Rajabhat University National and International Research and Academic Conference theme of “Creative Innovation and Research, Production and Development of Educational Personnel with High Standards, and Brain Bank via Academic Services for Community’s Strength and Sustainability” จัดโดย สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ร่วมกับ เครือข่ายราชภัฏ และ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 เวลา 10.00 – 12.00 น.

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 39 วันศุกร์ 8 – พฤหัสบดี 14 มิถุนายน 2561

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *