?กฎ 99-1 กับความเหลื่อมล้ำ?

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2559 ผมได้มีโอกาสบรรยายพิเศษในการประชุมสภาปัญญาสมาพันธ์เรื่อง “กฎ 99-1 กับความเหลื่อมล้ำ” ซึ่งมีการถ่ายทอดผ่านทาง Live Facebook ด้วย เนื่องด้วยผมเห็นว่าประเด็นความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาที่มีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้น และปัญหานี้จะส่งผลต่อการพัฒนาและนำมาซึ่งปัญหาในมิติอื่นๆ ทั้งเชิงสังคม เศรษฐกิจ การเมือง

กฎ 99-1 (99 -1 Rule) คือ แนวโน้มความเหลื่อมล้ำแบบรุนแรง โดยคนส่วนน้อย ซึ่งแสดงด้วยตัวเลขสัญลักษณ์ คือ ร้อยละ 1 ครอบครองหรือมีอำนาจควบคุมส่วนแบ่งความมั่งคั่งเกือบทั้งหมด ซึ่งแสดงด้วยตัวเลขสัญลักษณ์ คือ ร้อยละ 99 กฎนี้สามารถเกิดขึ้นในหลายระดับ ทั้งในระดับโลก ประเทศ สังคม อุตสาหกรรม ตลาด ทั้งนี้ภายใต้กลุ่มย่อยหรือหน่วยย่อย ร้อยละ 1 บนสุด ยังมีร้อยละ 1 ย่อยที่มีส่วนแบ่งร้อยละ 99 ซ้อนเป็นชั้นๆ เป็นรูปแบบเดียวกันนี้ด้วย

ในสถานการณ์ที่ปราศจากการแทรกแซงใดๆ สังคมมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะความเหลื่อมล้ำแบบรุนแรงตามกฎ 99-1 ในที่สุด อย่างไรก็ดี ภาวะดังกล่าวมักไม่เกิดขึ้น เนื่องจากเกิดสถานการณ์หรือกติกาที่ทำให้เกิดการเกลี่ยความมั่งคั่งของสังคม เช่น การปฏิวัติโดยคนส่วนใหญ่ หรือสงคราม การแทรกแซงโดยรัฐ เช่น การเก็บภาษี กฎหมายแข่งขันทางการค้า หรือวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำ เมื่อพิจารณาในแง่ความมั่งคั่ง (Wealth) พบว่า กลุ่มคนรวยที่สุดร้อยละ 1 มีส่วนแบ่งของความมั่งคั่งมากกว่าประชากรที่เหลือในโลก โดยในปี 2559 คนรวยที่สุดร้อยละ 1 มีส่วนแบ่งความมั่งคั่งร้อยละ 50.8 ของความมั่งคั่งทั้งหมดของโลก และมีแนวโน้มที่ความเหลื่อมล้ำจะเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้คนรวยที่สุดร้อยละ 1 ในประเทศไทย มีความมั่งคั่งคิดเป็นร้อยละ 58 นับว่าสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก

เมื่อพิจารณาในแง่รายได้ พบว่า ส่วนแบ่งของรายได้ของกลุ่มคนรวยที่สุดร้อยละ 1 ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นทศวรรษ 1940 ถึงปลายทศวรรษ 1970 (Great Compression) แต่นับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา ส่วนแบ่งของรายได้ของกลุ่มคนรวยที่สุดร้อยละ 1 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งศาสตราจารย์พอล ครุกแมนเรียกช่วงที่ความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้นนี้ว่า “Great Divergence”

หากพิจารณาเฉพาะส่วนแบ่งรายได้ก่อนหักภาษีและเงินโอนที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกา การศึกษาหลายชิ้นพบว่า รายได้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ตกเป็นของคนรวยที่สุดร้อยละ 1 เช่น Chapman and Ciment (2014) ระบุว่า ช่วงปี 2523-2548 รายได้ที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดของคนอเมริกัน มากกว่าร้อยละ 80 ตกเป็นของคนร้อยละ 1 ที่รวยที่สุด Piketty and Saez (2015) พบว่า ช่วงปี 2536-2557 รายได้ที่เพิ่มขึ้นของคนอเมริกันร้อยละ 55 เป็นของคนร้อยละ 1 ที่รวยที่สุด หรือ Emmanuel Saez (2015) พบว่า ในช่วงปี 2552-2555 คนรวยที่สุดร้อยละ 1 ได้รับรายได้ก่อนหักภาษีและเงินโอนถึงร้อยละ 91 เป็นต้น

สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจที่คนส่วนน้อยครอบครองความมั่งคั่งมากเกินไป เช่น กลุ่มอ็อคคูพาย (Occupy Movement) เคลื่อนไหวโดยใช้สโลแกน “We are the 99%” โดย “1%” หมายถึง กลุ่มคนรวยที่สุดร้อยละ 1 ที่ถือครองส่วนแบ่งของทุน อิทธิพลทางเศรษฐกิจ และปัจจัยการผลิต มากจนเกินไป ขณะที่ พอล ครุกแมน ระบุว่าต้องเป็น “We are the 99.9%”

ระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันได้รับการวิพากษ์ว่าเป็นไปเพื่อคนรวยร้อยละ 1 เช่น ศาสตราจารย์โจเซฟ สติกลิตซ์ (Joseph Stiglitz) เขียนบทความ “Of the 1%, by the 1%, for the 1%” ตีพิมพ์ใน Vanity Fair เดือนพฤษภาคม ปี 2011 เช่นเดียวกับองค์กรอ็อกซ์แฟม (Oxfam) เรียกระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันว่า “An Economy for the 1%”

จากการวิเคราะห์ พบว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ที่ทำให้ผลตอบแทนของแรงงานมีส่วนแบ่งลดลง การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงานที่ไม่สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงาน และปัจจัยที่มีผลในการเพิ่มความเหลื่อมล้ำอย่างมีนัยสำคัญ คือ การลดอัตราภาษีสำหรับกลุ่มคนร้อยละ 1 ที่รวยที่สุด

อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีคนรวยในอัตราที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลรุนแรงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน รวมทั้งรายได้จากการเก็บภาษีอาจไม่เพิ่มขึ้นมากนัก เพราะคนรวยมีหลายช่องทางในการหลบเลี่ยงภาษี โดยเฉพาะการโยกย้ายความมั่งคั่งออกไปนอกประเทศ ดังนั้น ผมจึงมีข้อเสนอเกี่ยวกับประเด็นที่ประเทศไทยควรพิจารณาในการลดความเหลื่อมล้ำดังต่อไปนี้

ไม่ควรจัดเก็บภาษีในอัตราสูงเกินไป เพราะประเทศไทยต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศ อัตราภาษีสูงจะทำลายแรงจูงใจของคนรวยในการลงทุนในประเทศ หากเพิ่มภาษีจะทำให้มีการหลบเลี่ยงภาษีมากขึ้น แต่ประเทศไทยควรเก็บภาษีในอัตราสูงจากรายได้ที่ไม่ได้เกิดจากผลิตภาพหรือความสามารถ เช่น ภาษี capital gain ในที่ดินที่มีมูลค่าสูงขึ้นเมื่อมีถนนตัดผ่าน ทรัพย์สินที่มูลค่าสูงขึ้นจากนโยบายของรัฐ เป็นต้น

จัดระบบสวัสดิการเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย และให้ประชาชนร่วมจ่าย เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในขณะที่รายได้ต่อหัวประชากรยังไม่สูงนัก หรือ “แก่ก่อนรวย” แต่ฐานผู้เสียภาษีค่อนข้างแคบ ส่งผลทำให้งบประมาณไม่เพียงพอสำหรับการใช้ระบบรัฐสวัสดิการ หรือจัดระบบสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ดังนั้นรัฐบาลจึงควรเน้นจัดสวัสดิการเจาะจงกลุ่มเป้าหมายที่ยากจน รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนร่วมจ่ายและออมเงินเพื่อวัยเกษียณอายุ

สร้างกลไกการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสอดคล้องตามผลิตภาพแรงงาน โดยกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายอำเภอ และรายอุตสาหกรรม และใช้ผลการวิจัยเกี่ยวกับผลิตภาพแรงงานเป็นเกณฑ์ในการปรับอัตราค่าจ้างแรงงาน

สร้างกลไกการกำหนดนโยบายที่เป็นอิสระและเป็นมืออาชีพ โดยการพัฒนาหน่วยงานที่เป็นอิสระจากการเมืองและเป็นมืออาชีพ เพื่อกลั่นกรองนโยบาย มิให้เกิดนโยบายที่ถูกชี้นำโดยชนชั้นนำ หรือการกำหนดนโยบายที่เน้นประชานิยม

พัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลด้านรายได้และความมั่งคั่งของประชากร เพราะประเทศไทยยังไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลด้านรายได้และความมั่งคั่งของประชาชน และไทยควรร่วมมือกับต่างประเทศในการตรวจสอบและเปิดเผยข้อมูลการเคลื่อนย้ายเงินและสินทรัพย์ระหว่างประเทศ

พัฒนากลไกสถาบันในการกำกับดูแลการผูกขาดทางธุรกิจ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพจากการแข่งขัน แต่ไม่บั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจขนาดใหญ่ และป้องกันการเอาเปรียบคู่แข่งและผู้บริโภคสำหรับธุรกิจที่มีการผูกขาด

สนับสนุนเงินทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาสินค้าที่จำเป็น เช่น ร่วมกับรัฐบาลประเทศต่างๆ เพื่อวิจัยยาที่จำเป็น เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาราคาถูก

สร้างกลไกที่จูงใจให้คนรวยเกลี่ยความมั่งคั่ง เช่น ส่งเสริมกิจกรรมความรับผิดชอบทางสังคมของคนรวยและบริษัทขนาดใหญ่

ผมปรารถนาเห็นประเทศเริ่มต้นปีใหม่ด้วยการพัฒนาสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้น ไม่ใช่การใช้วิธีเดิมๆ ในการแก้ปัญหา ซึ่งในอดีตจัดการไม่ได้อย่างไร ปัจจุบันยังคงไม่สามารถจัดการได้เช่นนั้น

ผมไม่ปรารถนาให้ประเทศเป็นดังที่มีการแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์อย่างแพร่หลายว่า “ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศกำลังพัฒนา แต่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วคือ พัฒนาแล้ว…ได้แค่นี้” ผมหวังว่าประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วจริงๆ ด้วยการเป็นประเทศที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพื่อให้การพัฒนาแล้วมาได้อย่างไม่สายเกินรอ

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน


ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : 
http://4.bp.blogspot.com/_9pttx6_6Q0Y/TOeMc14zeXI/AAAAAAAAADU/Xcb0qe3I2aY/s1600/94yrlelp.jpg
http://static.asiawebdirect.com/m/bangkok/portals/bangkok-com/homepage/information/pagePropertiesImage/riverside-in-bangkok.jpg
http://oknation.nationtv.tv/blog/home/blog_data/514/31514/images/225396-27.jpg

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *