คอลัมภ์ : การเมือง : ทัศนะวิจารณ์
เมื่อวันที่ 3 – 4 พ.ย. ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรร่วมกับผู้นำทางการเมืองผู้นำนักธุรกิจและนักวิชาการหลายท่านที่มาจากทั่วโลก 39 ประเทศ ราว 600 คน ในการประชุม The 3rd World Chinese Economic Forum ?Linking East and West in a Globalised World? ที่ประเทศมาเลเซียและสนับสนุนโดยนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย? ซึ่งวัตถุประสงค์ของการประชุมครั้งนี้ คือเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากขึ้นระหว่างผู้นำสำคัญๆ รวมทั้งผู้ประกอบการที่มาจากประเทศต่างๆ ในโลกและเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งหาแนวทางและบทบาทที่เหมาะสมของจีนและเอเชียที่มีต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาภูมิภาคเอเชียและการฟื้นฟูเศรษฐกิจของโลก
ผมได้รับเชิญให้อภิปรายผมจึงได้นำเสนอความคิดในหลายประเด็นต่อที่ประชุมใหญ่แต่ประเด็นหนึ่งที่ผมเสนอแนวคิดใหม่ที่ยังไม่มีใครกล่าวถึงมาก่อนในเวทีใดๆ ในโลกจึงขอนำมาเสนอแนวคิดกับคนไทยด้วยก็ คือ การสร้างขั้วอำนาจที่สามที่แท้จริงของโลกขึ้นมาเพื่อสร้างสมดุลใหม่ให้แก่โลกในยามวิกฤตินี้
เหตุใดโลกต้องมีขั้วอำนาจที่สามที่แท้จริง?
สาเหตุที่โลกจำเป็นต้องมีขั้วอำนาจที่สามที่แท้จริง ประการแรกคือ ขั้วอำนาจของโลกในปัจจุบันกำลังมีปัญหาและอยู่ในสภาวะตกต่ำ เห็นได้จากขั้วอำนาจที่หนึ่ง คือ นาฟตา ซึ่งมีอเมริกาเป็นแกนนำ ยังไม่ฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐยังต่ำต่อเนื่องและอัตราการว่างงานที่สูงเกือบร้อยละ 10 มาเป็นเวลานาน แม้รัฐบาลพยายามดำเนินมาตรการหลายประการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแต่สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นและคงจะอยู่ในสภาพอ่อนกำลังทางเศรษฐกิจอีกนานพอสมควร ขณะที่ขั้วอำนาจที่สอง คือ สหภาพยุโรป ซึ่งมีเยอรมันและฝรั่งเศสเป็นแกนนำ ต้องเผชิญวิกฤติหนี้สาธารณะที่เริ่มต้นจากกรีซและลุกลามอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศรวมทั้งอิตาลีประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับสามในยุโรป แผนการช่วยเหลือประเทศเหล่านี้ยังไม่เห็นผลเท่าใดนักและจะทำให้ขั้วยุโรปทรุดอีกนาน?
ผมเคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่าอารยธรรมโดยทั่วไปจะยืนยาวอยู่ได้ประมาณ 400 ปี ในเวลานี้อารยธรรมตะวันตกที่นำโดยยุโรปเป็นมหาอำนาจมาราวประมาณ 300 ปี และอเมริกาเป็นมหาอำนาจต่อมาเป็นเวลาประมาณ 100 ปี และมีสัญญาณชัดเจนว่าอารยธรรมของโลกที่นำโดยอเมริกาและตะวันตกกำลังจะเสื่อมถอยลง อีกทั้งยังมีสัญญาณถึงแรงโน้มถ่วงทางเศรษฐกิจที่ได้ย้ายออกจากอเมริกาและยุโรปไปยังที่อื่นแล้ว ดังจะเห็นได้จากการที่ จีนที่ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลกเมื่อปีที่ผ่านมา และน่าจะก้าวขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในไม่ช้า นอกจากนี้ยังมีมหาอำนาจภูมิภาคอื่นๆ เกิดขึ้นอีกนอกอเมริกาและโลกตะวันตกอีกหลายแห่ง
ประการที่สอง คือ การที่โลกพึ่งพาโดยเฉพาะทางเศรษฐกิจต่อกลุ่มมหาอำนาจเหล่านี้มากเกินไปจะทำให้โลกก้าวไปสู่จุดถดถอยเมื่อโลกตะวันตกเสื่อมถอยลง ถ้าไม่มีขั้วที่สามที่รวมตัวเกิดขึ้นอย่างแท้จริง โลกจะเกิดปัญหา โดยเริ่มจากปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจจะนำไปสู่ปัญหาสังคมและความขัดแย้งทางการเมืองได้เหมือนในยุโรป การสร้างสมดุลใหม่ ด้วยการสร้างขั้วอำนาจใหม่ที่แท้จริงให้โลก อาจฉุดโลกให้พ้นจากความถดถอยนี้เร็วขึ้นได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับคนทั้งโลกรวมทั้งขั้วอำนาจตะวันตกก็จะรับอานิสงส์ไปด้วย ด้วยเหตุนี้ในยุคนี้ผมจึงคิดว่าโลกจำเป็นต้องมี 3 ขั้ว จึงจะมีสันติภาพและเกิดการพัฒนาได้อย่างเต็มที่
เราจะสร้างขั้วอำนาจที่สามของโลกได้อย่างไร??
ผมเสนอแนวคิดการรวมกลุ่มกันเป็น BRICKSJAM โดย BRICKS ซึ่งภาษาอังกฤษ หมายถึง ก้อนอิฐหลายก้อนเพื่อเป็นแกนหลัก ขณะที่ JAM หรือแยมขนมปังเป็นเหมือนตัวเชื่อมและช่วยสร้างความเป็นอารยธรรมบูรณาการใหม่ให้เกิดขึ้นนอกขั้วตะวันตก (New Integrated Civilization) ให้เกิดขึ้น เนื่องจากอารยธรรมเกิดขึ้นเองไม่ได้แต่ต้องมีหลายองค์ประกอบ สิ่งช่วยสร้างให้มันเกิดขึ้น?
BRICKSJAM เป็นตัวย่อของประเทศและกลุ่มประเทศ ซึ่งถูกเลือกมาอย่างมีเหตุผล แต่ละประเทศใน BRICKSJAM นั้นล้วนมีความสำคัญในการยึดโยงกันของอำนาจทั่วโลก โดย?
B คือ บราซิล (Brazil) ซึ่งเป็นแกนนำของประเทศในทวีปอเมริกาใต้?
R คือ รัสเซีย (Russia) ซึ่งเป็นมหาอำนาจในกลุ่มยุโรปที่อยู่นอกนาโต้และเป็นมหาอำนาจมาโดยตลอด
I คือ อินเดีย (India) ซึ่งเป็นมหาอำนาจที่กำลังพุ่งทะยานขึ้นในเอเชีย
C คือ จีน (China) เป็นมหาอำนาจที่กำลังพุ่งทะยานขึ้นอย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน
K คือ เกาหลีใต้ (Korea) ซึ่งเวลานี้มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก
S คือ แอฟริกาใต้ (South Africa) ซึ่งเป็นประเทศแกนนำในทวีปแอฟริกา
J คือ ญี่ปุ่น (Japan) เป็นมหาอำนาจ ระบบเศรษฐกิจอันดับสามของโลก
A คือ อาเซียน (ASEAN) กลุ่มประเทศที่มีประชากรถึง 600 ล้านคนและเมื่อรวมกันแล้วทำให้เกิดเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่?
M คือ ประเทศในตะวันออกกลาง (Middle East) เป็นกลุ่มเศรษฐกิจสำคัญที่มีทรัพยากรที่โลกต้องการ คือ น้ำมัน กลุ่มประเทศนี้มีทั้งประเทศที่ร่ำรวยและยากจน กลุ่มประเทศที่ร่ำรวย คือ ประเทศในกลุ่ม Gulf States (ซาอุดีอาระเบีย, ยูเออี, กาตาร์, คูเวต, บาห์เรนและโอมาน) ซึ่งเป็นแกนนำของประเทศในตะวันออกกลาง
เมื่อนำประเทศเหล่านี้มารวมกันเป็นกลุ่มก้อน จะเกิดการรวมกันในที่สุดในระยะยาวของอารยธรรมที่อยู่นอกอารยธรรมสหรัฐและตะวันตกที่เริ่มอ่อนกำลังลง การรวมกันเป็น BRICKSJAM นี้จะทำให้เกิดการเสริมกำลังและถ่วงดุลให้กับโลกที่กำลังมีปัญหา แต่อย่างไรก็ตามการเป็นขั้วอำนาจใหม่ของโลกหรืออารยธรรมจะเกิดขึ้นได้ต้องมีองค์ประกอบทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่ประสานกัน (เช่นเดียวกันกับที่อารยธรรมจะล่มลงหากองค์ประกอบเหล่านี้ไม่ประสานกัน) แต่ว่าในช่วงเริ่มต้น BRICKSJAM จำเป็นต้องมีแกนผนึกทุกกลุ่มเข้าหากันทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองซึ่งผมเสนอให้ใช้อาเซียนเป็นหลัก เนื่องจาก
ประการแรก อาเซียนมีโครงสร้างเชิงสถาบันที่รองรับ
อาเซียนเป็นกลุ่มประเทศที่มีประวัติศาสตร์ มีโครงสร้างสถาบันเกิดขึ้นมาแล้วอย่างน้อย 50 ปี ขณะที่ประเทศอื่นยังไม่มี โครงสร้างเชิงสถาบันของอาเซียนที่พัฒนาไประดับหนึ่งแล้วทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม ซึ่งเราเห็นได้จากการที่ประเทศในอาเซียนกำลังจะเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 หรือในอีก 3 ปีข้างหน้า
อาเซียนนั้นมีการขยายจากอาเซียนเป็นอาเซียน+3 หรืออาเซียน+6 ดังนั้นการพัฒนาเป็น BRICKSJAM จึงทำได้ไม่ยาก สามารถใช้โครงสร้างอาเซียนเป็นฐานขยายออกไปในลักษณะเดียวกัน?
ประการที่สอง คือ อาเซียนมีความหลากหลายสามารถเชื่อมโยงได้กับทุกกลุ่ม
อาเซียน 10 ประเทศ สามารถเชื่อมโยงกับประเทศอื่นใน BRICKSJAM ได้ทั้งหมดยกตัวอย่าง เช่น บางประเทศในอาเซียนเป็นประเทศมุสลิม จึงสามารถไปเชื่อมโยงกับประเทศที่เป็นมุสลิมในตะวันออกกลางได้ การที่อาเซียนมีความหลากหลาย มีระดับการพัฒนาต่างกันและมีท่าทีไม่เป็นอันตรายต่อใคร ทำให้อาเซียนเป็นตัวประสานที่ดีสำหรับทุกฝ่าย?
นี่เป็นเพียงกรอบความคิดเบื้องต้นซึ่งผมได้นำเสนอเอาไว้ ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องพิจารณา เช่น จะรวมกันในระดับใด จะมีกลไกและโครงสร้างการใช้อำนาจอย่างไร เป็นต้น ซึ่งผมคิดว่าเราต้องการการอภิปรายและถกเถียงในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เนื่องจากหากเราพิจารณาจากบริบทและสิ่งที่เกิดขึ้นในโลก เราจะพบว่าโลกกำลังถดถอยจริง เวลานี้โลกของเราต้องการกลไกหรือโครงสร้างบางอย่างที่เข้ามาพยุงเอาไว้เพื่อช่วยให้โลกสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายไม่ว่าเราจะเป็นคนชาติใดก็ตาม
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
?