ในบทความที่ผ่านมา ผมได้กล่าวถึง การเปลี่ยนแปลงของการพัฒนาประเทศไทยอันเนื่องจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในหลายมิติ บทความนี้จะนำเสนอการเปลี่ยนแปลงของการพัฒนาประเทศไทยใน 2 ประเด็นสุดท้าย ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงด้านความเสี่ยงและเสถียรภาพ และการเปลี่ยนแปลงความเป็นอิสระของการกำหนดนโยบายภาครัฐ
ประการที่ 8 การเปลี่ยนแปลงด้านความเสี่ยงและเสถียรภาพ
การเปิด AEC จะทำให้ประเทศไทยเผชิญปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากขึ้น เนื่องจากมีความเชื่อมโยงและการพึ่งพิงเศรษฐกิจภายในภูมิภาคและเศรษฐกิจโลกมากขึ้น ทำให้มีการส่งผ่านผลกระทบที่เชื่อมโยงไปทั่วทั้งโลกได้อย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้างมากขึ้น
ความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาเซียนและไทยในอนาคต ได้แก่
(1) ความเสี่ยงจากวิกฤตของระบบการเงินโลก เนื่องจากโลกมีการเปิดเสรีเคลื่อนย้าย
เงินทุนมากขึ้น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จะช่วยทำให้มีการเคลื่อนย้ายของเงินทุนจำนวนมหาศาลเข้าและออกจากประเทศต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว จนอาจเป็นอันตรายต่อประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กและขาดประสิทธิภาพในการบริหารเศรษฐกิจมหภาค
(2) ความเสี่ยงจากวิกฤตเศรษฐกิจของเศรษฐกิจเกิดใหม่ เนื่องจากเศรษฐกิจเกิดใหม่ยังมี
การพัฒนากฎระเบียบ สถาบัน ระบบการกำกับดูแล และระบบการบริหารเศรษฐกิจที่ยังไม่ดีพอ ในอนาคตเศรษฐกิจเกิดใหม่มีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและจะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้น หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง
(3) ความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางพลังงานและอาหาร ถึงแม้ว่าบางประเทศในภูมิภาคนี้มี
แหล่งพลังงานภายในประเทศ แต่อีกหลายประเทศไม่สามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้ ในทำนองเดียวกัน แม้ว่าภูมิภาคนี้เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมและการขยายตัวของเมือง รวมทั้งการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตพลังงานชีวภาพ จะทำให้เกิดการแย่งทรัพยากรและปัจจัยการผลิตที่ใช้ในการผลิตอาหาร โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรกรรมและแหล่งน้ำ รวมทั้งอาจทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร
ประการที่ 9 การเปลี่ยนแปลงความเป็นอิสระของการกำหนดนโยบายภาครัฐ
การรวมกลุ่มกันลึกมากขึ้นเป็นประชาคมอาเซียน จะทำให้ไทยมีอิสระในการดำเนินนโยบายน้อยลง เนื่องจาก การดำเนินนโยบายของประเทศหนึ่ง จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์อาเซียนทั้งหมด ทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ได้รับผลกระทบทางอ้อมไปด้วย ดังนั้น ประเทศสมาชิกอาเซียนจึงต้องเข้ามามีส่วนในการเรียกร้อง กดดัน ให้เปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศอาเซียนทั้งหมด สังเกตได้จากที่ผ่านมาแม้ยังไม่รวมกันเป็น AEC แต่ไทยไม่สามารถดำเนินนโยบายได้อย่างเป็นอิสระ เช่น
(1) กรณีความขัดแย้งไทย – กัมพูชา ที่เคยเกิดเหตุปะทะกันรุนแรงตามแนวชายแดน ในเวลานั้น อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียน ขอให้ไทยและกัมพูชาหยุดยิงปะทะกัน เนื่องจากปัญหาขัดแย้งไทย – กัมพูชา ส่งผลด้านลบต่อความน่าเชื่อถือของอาเซียนในฐานะองค์กรระดับภูมิภาค ไทยจึงไม่อาจตอบโต้กัมพูชาได้อย่างอิสระ เนื่องจากถูกกดดันในบางระดับจากประเทศสมาชิกอาเซียน
(2) กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม 14 นักศึกษา – นักกิจกรรม กลุ่ม "ขบวนการประชาธิปไตย"
เนื่องจากนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ทำให้กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights: APHR) ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติข้อกล่าวหาและปล่อยตัวนักศึกษาที่ถูกจับโดยทันที พร้อมระบุด้วยว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคจะต้องก้าวออกมายืนเคียงข้างผู้ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม เพราะอาเซียนยึดหลักไม่แทรกแซงกิจการภายในระหว่างกัน ทำให้อาเซียนไม่สามารถแทรกแซงกิจการในประเทศไทยได้ หากไทยไม่ยินยอม แต่เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ไทยถูกกดดันในบางระดับจากอาเซียน ทำให้ไม่สามารถดำเนินนโยบายภายในได้อย่างอิสระเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
ในอนาคตหากการรวมกลุ่มลึกซึ้งขึ้น ไทยและประเทศสมาชิกจะถูกเรียกร้องให้สละอำนาจอธิปไตยในการกำหนดนโยบายบางส่วนให้กับองค์กรกลางอาเซียน เช่น
(1) ธนาคารกลางอาเซียน ที่คล้ายกับธนาคารกลางของยุโรป ซึ่งทำหน้าที่กำหนดนโยบายการเงิน กำหนดอัตราดอกเบี้ยของอาเซียน ส่งผลให้ประเทศแต่ละประเทศไม่สามารถใช้นโยบายการเงินได้อย่างอิสระเหมือนในอดีต
(2) รัฐสภาอาเซียน กล่าวคือ หากอาเซียนสามารถผนึกกันได้แน่นขึ้น รัฐสภาอาเซียนจะเกิดขึ้นในที่สุด โดยจะมีตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ มาเป็นสมาชิก เพื่อออกกฎหมายร่วมกัน
(3) กองกำลังร่วม ในอนาคตที่ค่อนข้างไกล อาเซียนอาจจะมีผู้บัญชากองทัพบก กองทัพอากาศ กองทัพเรืออาเซียน เพื่อผนึกกำลังสร้างความมั่นคงในอาเซียน เป็นต้น
การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเป็นขั้นแรกของการเข้าสู่โลกาภิวัตน์ที่เต็มรูปแบบมากขึ้น แม้การรวมตัวเป็น AEC จะมีความเสี่ยงในหลายเรื่อง แต่ประเทศไทยจำเป็นต้องเข้าร่วม และต้องเล่นในบทบาทที่ถูกต้องเหมาะสม กล่าวคือ ต้องพยายามทำตัวเองให้เป็นดุมล้อในการขับเคลื่อนอาเซียนให้ก้าวไปสู่เวทีโลก เพราะเป็นเส้นทางเดียวที่ทำให้เราได้เปรียบ
นอกจากนี้ เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การเข้าร่วม AEC ไม่มีผลเสีย หรือไม่มีความเสี่ยง แต่ถือว่าคุ้มค่าอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ เพราะหากประเทศไทยก้าวช้ากว่านี้ จะเกิดความเสียเปรียบ ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงต้องเร่งปรับตัวและเปลี่ยนแปลงแนวทางการพัฒนาตามที่ผมได้วิเคราะห์ไปเพื่อให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ทั้งในระดับอาเซียนและในระดับโลก
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://1.bp.blogspot.com/-2kIcOjSbdqw/T9djptX6mvI/AAAAAAAAAlc/KoIjts5oJUA/s1600/asean1.jpg
แหล่งที่มาของภาพ : http://1.bp.blogspot.com/-2kIcOjSbdqw/T9djptX6mvI/AAAAAAAAAlc/KoIjts5oJUA/s1600/asean1.jpg