ไอดอลที่ทำงาน : อธิการบดีฮาร์วาร์ด

สอนคนด้วย..ถ้อยคำมากมาย ไม่ยิ่งใหญ่เท่า..ลงมือทำ..เพียงครั้งเดียว”[1]

ข้อความดังกล่าวเป็นข้อคิดคำคมของผมอันกำลังสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการเป็นแบบอย่าง ทำให้ดู ซึ่งผมเคยนำเสนอความคิดดังกล่าวนี้ผ่าน “โมเดลบ้านสามหลัง” ระบุว่า แหล่งหล่อหลอมความเป็นตัวตนที่มีอิทธิพลมากที่สุดของการอยู่ร่วมกันในสังคมคือ บ้านสามหลัง ประกอบด้วย บ้านหลังที่หนึ่ง ครอบครัว มีพ่อและแม่เป็นไอดอล บ้านหลังที่สอง โรงเรียน มีครูเป็นไอดอล และที่ทำงาน มีหัวหน้างานเป็นไอดอล และบ้านหลังที่สาม มีผู้นำอุดมการณ์ทางกายภาพและผู้นำอุดมการณ์ทางจิตภาพเป็นไอดอล[2]

ไอดอลเป็นรูปธรรมของนามธรรม ซึ่งคนให้ความเคารพ ยอมรับ และนับถือบุคคลที่เป็นไอดอลเป็นอย่างมาก ไอดอลเป็นต้นแบบของความดีงามที่มีพลัง สถานที่ทำงานในฐานะเป็นหนึ่งในบ้านสามหลังที่มีไอดอลคือ เจ้านายที่ทำงานเป็นผู้มีอิทธิพลอย่างมากตามความคิดของคน โดยหัวหน้างานที่มีอิทธิพลต่อเพื่อนร่วมงานทั้งทางตรงและทางอ้อมควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการทำงาน เช่น การมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเองอย่างดี การมีความขยันอดทน มุมานะ บากบั่นพากเพียรพยายาม การมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน การมีความกล้าหาญในการตัดสินใจ การเลือกที่จะกระทำสิ่งที่ถูกต้อง เป็นต้น

ฮาร์วาร์ดเป็นบ้านหลังที่สองคือ สถาบันการศึกษาซึ่งเป็นสถานที่ทำงาน อันมีอาจารย์เป็นไอดอล เดือนมิถุนายน ค.ศ. 2018 ที่ผ่านมาฮาร์วาร์ดมีการมอบรางวัลสำคัญอันทรงเกียรติที่เรียกว่า ฮีโร่ฮาร์วาร์ด (Harvard Heroes) ให้แก่บุคลากรมหาวิทยาลัยที่มีผลการปฏิบัติงานโดดเด่นจำนวนทั้งหมด 61 ท่าน โดยมีกิจกรรมพิเศษอย่างเป็นทางการจัดขึ้นที่ Sanders Theatre มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 1,000 คน

สำหรับครั้งนี้มีอธิการบดีมหาวิทยาลัย ดรูว์ เฟาสต์ (Drew Faust) เข้าร่วมรับรางวัลดังกล่าวนี้ด้วยก่อนอำลาตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยสิ้นเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2018 ภายหลังจากดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำฮาร์วาร์ดมาเป็นระยะเวลายาวนานมากกว่า 10 ปี อธิการบดีดรูว์ เฟาสต์ เป็นอธิการบดีหญิงคนแรกของฮาร์วาร์ด เป็นหนึ่งในฮีโร่หญิงที่ทุ่มเทอุทิศตัวทำงานสร้างประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัย มีชีวิตเป็นที่ประทับใจเพื่อนร่วมงาน[3] เป็นบุคคลที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าของฮาร์วาร์ดในช่วงมากกว่า 10 ปีที่ผ่านมา สะท้อนผ่านผลงานที่ปรากฏให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ชัดมาโดยตลอด เช่น การนำพาฮาร์วาร์ดให้ก้าวผ่านวิกฤตทางการเงินในช่วงที่ทั้งโลกเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ การขับเคลื่อนฮาร์วาร์ดสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในมหาวิทยาลัย ตามที่ผมเคยนำเสนอเป็นบทความก่อนหน้านี้ รวมถึงการกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือภายในมหาวิทยาลัยที่เรียกว่า “One Harvard” การมีส่วนสร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัยด้วยการรับรางวัลระดับนานาชาติ John W. Kluge Prize for Achievement in the Study of Humanity จาก Library of Congress คัดเลือกจากรายชื่อนักวิชาการและผู้นำที่ได้รับการเสนอชื่อจากทั่วโลก[4] เป็นต้น

อธิการบดี ดรูว์ เฟาสต์ เป็นตัวอย่างบุคคลคุณภาพที่สะท้อนความคิดโมเดลบ้านหลังที่สองของผม เป็นรูปธรรมของสิ่งนามธรรมความดีงามที่สามารถเป็นต้นแบบสร้างแรงบันดาลใจ เป็นแบบอย่างของการทำให้ดู เป็นที่ยอมรับและนับถือของเพื่อนร่วมงาน เป็นผู้นำที่สามารถส่งผ่านอิทธิพลเชิงบวกและนำความสำเร็จมาสู่องค์กร

สุดท้ายนี้ ผมอยากจะทิ้งท้ายด้วยข้อคิดคำคมอันสะท้อนถึงการเป็นผู้นำที่เป็นไอดอลตามความคิดของผมที่ว่า

ผู้นำที่ดี

            คิด…    ให้ถูก

            เป็น…  ให้จริง

            ทำ…    ให้ดู

            สอน… ให้รู้

            อยู่…    ให้เห็น

การเป็นผู้นำที่ดีช่วยให้ไม่เพียงตนเองเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ แต่ยังสามารถเป็นไอดอลสร้างแรงบันดาลใจให้คนรอบข้าง มหาวิทยาลัย และประเทศชาติสังคมส่วนรวม ก้าวสู่ความสำเร็จด้วยอีกทางหนึ่ง

 

รายการอ้างอิง

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. คนกล้าสร้างได้ : โมเดลบ้านสามหลัง. กรุงเทพฯ : ซัคเซส มีเดีย, 2560.

[1] เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, คนกล้าสร้างได้ : โมเดลบ้านสามหลัง (กรุงเทพฯ : ซัคเซส มีเดีย, 2560), หน้า 92.

[2] ผมนำเสนอความคิดโมเดลบ้านสามหลังอย่างเป็นทางการในการบรรยายหัวข้อ แนวทางการพัฒนาศักยภาพเด็กไทย ยุค 4.0 จัดโดย คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตโคราช วันเสาร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2560 และ เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, คนกล้าสร้างได้ : โมเดลบ้านสามหลัง, หน้า 103.

[3] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://news.harvard.edu/gazette/story/2018/06/harvard-heroes-honored-in-sanders-theatre-ceremony/

[4] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://news.harvard.edu/gazette/story/2018/06/harvard-president-faust-to-receive-kluge-prize-from-library-of-congress/

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 44 วันศุกร์ 13 – พฤหัสบดี 19 มิถุนายน 2561

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published.