สร้างสรรค์สิ่งใหม่ : ฮาร์วาร์ดส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์

ผมนำเสนอในหนังสือ การคิดเชิงสร้างสรรค์ ว่า ความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) ในภาษาไทยให้ความหมายแตกต่างกันได้ถึง 3 ความหมาย ต่างจากความหมายในภาษาอังกฤษ อันเป็นเหตุให้เกิดความสับสน ประกอบด้วย

  • ความคิดสร้างสรรค์ในความหมายของ การคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ (Creative Thinking)
  • ความคิดสร้างสรรค์ในความหมายของ ความคิดแง่บวก (Positive Thinking)
  • ความคิดสร้างสรรค์ในความหมายของ การกระทำที่สร้างขึ้นไม่ทำลายลงหรือที่ไม่ให้ร้ายใคร (Constructive Thinking) (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2556, น. 2-3)

โดยทั่วไปเรามักเข้าใจความคิดสร้างสรรค์ในความหมายของการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่มากกว่าความคิดแง่บวกหรือการกระทำที่ไม่ให้ร้ายใคร อาทิ ศิลปินคิดสร้างสรรค์พัฒนางานทัศนศิลป์ คนทำงานสร้างสรรค์วิธีการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การมีความคิดสร้างสรรค์ในความหมายของ การคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีความคิดสร้างสรรค์ในความหมายของ ความคิดแง่บวกและการกระทำที่ไม่ให้ร้ายใคร ไม่ทำลายล้าง อันเป็นคุณธรรมการคิดที่สำคัญกำกับหรือเป็นฐานคิดรวมอยู่ด้วย มิเช่นนั้นแล้วอาจนำสู่สถานการณ์ปัญหา ก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี

ปัจจุบันการเตรียมพร้อมก้าวสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 ตามทิศทางการพัฒนาประเทศของรัฐบาลทำให้แต่ละภาคส่วนมุ่งให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์กันมากขึ้น ด้วยว่าความคิดสร้างสรรค์จะเป็นฐานรากสำคัญที่นำสู่การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม อันเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของยุค 4.0 ดังกล่าวนี้

ความคิดสร้างสรรค์เป็นส่วนหนึ่งของความคิดนวัตกรรม แต่อาจไม่นำสู่นวัตกรรมเสมอไป ดังนั้น การมีทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์จึงมีแนวโน้มจะทำให้สามารถคิดนวัตกรรมได้ดี

การคิดเชิงสร้างสรรค์คืออะไรและการศึกษาจะช่วยพัฒนาให้เกิดได้อย่างไร

ผมนิยามการคิดเชิงสร้างสรรค์เอาไว้ในหนังสือ การคิดเชิงสร้างสรรค์ ว่าหมายถึง การขยายขอบเขตความคิดออกไปจากกรอบความคิดเดิมที่มีอยู่ สู่ความคิดใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อค้นหาคำตอบที่ดีที่สุดให้กับปัญหาที่เกิดขึ้น (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2556, น. 14)

ในบริบทของการจัดการศึกษา การออกแบบหลักสูตรและกิจกรรมการเรียนการสอนทุกอย่างควรมีส่วนพัฒนาการคิดเชิงสร้างสรรค์ให้แก่ผู้เรียน เริ่มตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานต่อยอดสู่ระดับอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัย อาทิ การเชื่อมการเรียนรู้สู่การแก้ปัญหาในโลกจริง กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการแสวงหาทางออกเชิงสร้างสรรค์ การใช้กิจกรรมสนับสนุนการเรียนรู้ โดยอาจสอดแทรกเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเรียนการสอนและการพัฒนาการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน การสร้างสรรค์เวทีแสดงผลงานความคิดสร้างสรรค์ทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ กระตุ้นผู้เรียนให้คิดสร้างสรรค์ สร้างคุณค่าให้กับความคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น

กรณีฮาร์วาร์ด

การพัฒนาการคิดเชิงสร้างสรรค์ให้แก่ผู้เรียนดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นผ่านการจัดการศึกษาของ  ฮาร์วาร์ด ยกตัวอย่าง การริเริ่มโครงการความร่วมมือระหว่างฮาร์วาร์ดกับศูนย์วิจัยและสหวิทยาการในเมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่เรียกว่า The Biopolis ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้คิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์ ออกแบบโครงการพัฒนาที่มีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองปารีสร่วมกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ (The Biopolis, n.d.) อันเป็นกิจกรรมที่ช่วยดึงศักยภาพการคิดเชิงสร้างสรรค์ของนักศึกษาออกมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่แท้จริง

เช่นเดียวกับอีกหนึ่งตัวอย่างในช่วงที่ผ่านมา ฮาร์วาร์ดได้เปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนท้องถิ่นจาก Gardner Pilot Academy และครอบครัวจำนวนมากกว่า 36 คนเข้าเยี่ยมชมการแสดงศิลปะ อันเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างทีมครูผู้สอนและบุคลากรจาก Gardner Pilot Academy, Harvard Art Museums และ Harvard Ed Portal สร้างกิจกรรมการเรียนรู้จากประสบการณ์นอกห้องเรียนให้แก่เด็กนักเรียนชั้นประถม 3 ของ Gardner Pilot Academy โดยเด็กนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวมีโอกาสสร้างสรรค์งานศิลปะด้วยตนเอง อาทิ การมีส่วนร่วมกันสร้างสรรค์จิตรกรรมฝาผนังในรูปแบบนามธรรม การเลือกใช้สีเป็นตัวแทนความรู้สึกของพวกเขาเอง (Deborah, 2017) เป็นต้น

กิจกรรมดังกล่าวนี้เป็นภาคปฏิบัติการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของฮาร์วาร์ดในการช่วยบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์การคิดเชิงสร้างสรรค์ให้แก่เด็กนักเรียนท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาจินตนาการอันเป็นส่วนประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งในการคิดเชิงสร้างสรรค์ ช่วยให้สามารถสร้างสรรค์ความคิดใหม่ ๆ ได้อย่างไม่จำกัด (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2556, น. 9) อีกด้วย 

รายการอ้างอิง

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2556). การคิดเชิงสร้างสรรค์. กรุงเทพฯ : ซัคเซส มีเดีย.

Blackwell, Deborah. (2017, June 26). Third-graders get creative. Retrieved from

Third-graders get creative

The Biopolis. (n.d.). About the Program. Retrieved from 

            https://thebiopolis.com/2015/08/13/learn-more-about-the-biopolis/

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 64 ฉบับที่ 48 วันศุกร์ 11 – พฤหัสบดี 17 สิงหาคม 2560

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *