สร้างสรรค์นวัตกรรมทางการศึกษา : สะท้อนคิดผ่านการศึกษาฮาร์วาร์ด

บริบทโลกและบริบทประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัตส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคส่วนการศึกษาที่จะต้องพัฒนาองค์ความรู้ให้ก้าวล้ำนำหน้าสนองตอบความต้องการของสังคม ทั้งนี้ด้วยว่าภาคส่วนการศึกษาเป็นภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนากำลังคนและองค์ความรู้ป้อนสู่สังคม หากภาคส่วนดังกล่าวนี้สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพจะส่งผลช่วยให้การพัฒนาประเทศเกิดความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน เช่น ประเทศญี่ปุ่น ประเทศสิงคโปร์ ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศเหล่านี้ล้วนมีระบบการศึกษาที่มีคุณภาพติดอันดับต้นของโลก เช่นเดียวกับการมีมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกสนับสนุนการพัฒนาประเทศ

ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยที่สะท้อนความคิดการพัฒนาการศึกษาอย่างเป็นพลวัตดังกล่าวนี้ เพราะนอกจากการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกแล้วฮาร์วาร์ดยังเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดของประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานเกือบ 400 ปี มีส่วนพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพป้อนสู่สังคมและคิดค้นสร้างสรรค์นวัตกรรมองค์ความรู้ที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศและโลกนี้

ตัวอย่างวิทยาลัยการแพทย์ฮาร์วาร์ด (Harvard Medical School) จากข้อมูลของวิทยาลัยระบุ วิทยาลัยดังกล่าวนี้เป็นวิทยาลัยเก่าแก่ของฮาร์วาร์ดอายุกว่า 235 ปี นับตั้งแต่มีการริเริ่มก่อตั้งอย่างเป็นทางการครั้งแรกใน ปี ค.ศ. 1782 จนกระทั่งปัจจุบัน โดยตลอดระยะเวลายาวนานที่ผ่านมาวิทยาลัยแห่งนี้มีอิทธิพลสร้างผลกระทบต่อการออกแบบการศึกษาของวิทยาลัยการแพทย์ทั่วโลก แม้เวลาจะผ่านมาเนิ่นนานวิทยาลัยแห่งนี้ยังคงมีการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนของตนเองอย่างเป็นพลวัต พร้อมกับการคิดค้นสร้างสรรค์นวัตกรรมการศึกษาให้สามารถสนองตอบความต้องการทางการแพทย์ในโลกยุคศตวรรษที่ 21 ภายใต้สถานการณ์ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บที่ทวีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เช่น การพัฒนาตัวแบบใหม่สำหรับการศึกษาเชิงคลินิก (clinical education) การมีส่วนร่วมของนักศึกษาในประสบการณ์ทางวิชาการเชิงลึก (an in-depth scholarly experience) การร่วมมือกับวิทยาลัยและหน่วยงานหรือองค์กรอื่นของฮาร์วาร์ดพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านสเต็มเซลล์ (Stem Cell) หรือเซลล์ต้นกำเนิด

นอกจากนี้ ฮาร์วาร์ดยังมีสถาบันเซลล์ต้นกำเนิดแห่งฮาร์วาร์ด (Harvard Stem Cell Institute) อันเป็นสถาบันที่มีประวัติศาสตร์การก่อตั้งมาเป็นระยะเวลายาวนานมากกว่า 10 ปี นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 เป็นต้นมา ปัจจุบันสถาบันแห่งนี้มุ่งเน้นทางด้านการนำการรักษาโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดเข้าสู่ผู้ป่วยอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในขณะที่กำลังพัฒนาการรักษาโรคสำหรับผู้สูงอายุ (aging) โรคเลือด (the blood) กระบวนการเผาผลาญอาหาร (metabolism) และความผิดปกติทางระบบประสาท (neurological disorders) ด้วยเช่นเดียวกัน สถาบันเซลล์ต้นกำเนิดแห่งฮาร์วาร์ดเป็นตัวอย่างแนวทางการปรับตัวของฮาร์วาร์ดใน

คิดค้นการบูรณาการพัฒนาองค์ความรู้ให้ก้าวทันและสนองตอบความต้องการทางการแพทย์ภายใต้บริบทยุคสมัยที่โรคภัยไข้เจ็บของมวลมนุษยชาตินับวันจะทวีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

สะท้อนคิดสู่มหาวิทยาลัยและวิทยาลัยของประเทศไทยเรา โดยเฉลี่ยมีอายุอยู่ในช่วงไม่เกิน 100 ปี ด้วยบริบทของโลกยุคอนาคตทำให้มหาวิทยาลัยและวิทยาลัยของประเทศไทยเราดังกล่าวเหล่านี้จำเป็นต้องพัฒนาตนเองและปรับตัวให้ก้าวทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย คิดค้นพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการศึกษาให้ก้าวล้ำนำสังคม ดังที่ผมมักพูดอยู่เสมอว่า มหาวิทยาลัยเป็นผู้ให้กำเนิดประเทศ หากต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในประเทศจึงต้องเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัย เพราะท้ายที่สุดแล้วการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้จะไหลสู่สังคมหรือประเทศชาติในที่สุดเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก เช่น ประเทศเกาหลีใต้ ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงประเทศผ่านการจัดตั้งสถาบันชั้นสูงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกาหลี (Korea Advanced Institute of Science & Technology) และพัฒนามหาวิทยาลัยให้สนองตอบความต้องการทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ

สุดท้ายนี้ ผมอยากจะทิ้งท้ายด้วยข้อคิดของผมที่ว่า “มหาวิทยาลัยเปรียบดัง “แขน” ของสังคมในการสร้างความเชี่ยวชาญด้านองค์ความรู้” อันเป็นบทบาทสำคัญที่ไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดสามารถทำแทนได้ มหาวิทยาลัยจึงต้องทำงานหนัก ต้องสร้างนวัตกรรมทางการศึกษา และพัฒนาองค์ความรู้เป็นผู้ชี้ทิศนำทางสังคมให้แก่สังคมอย่างเป็นพลวัต  

 

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 11 วันศุกร์ 24 – พฤหัสบดี 30 พฤศจิกายน 2560

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published.