‘การสร้างชาติ’…การกระทำร่วมกันของประชาชนทั้งประเทศ

มีใครได้ตอบคำถามท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา บ้างหรือยังครับ?

เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ท่านนายกฯ ได้ถามคำถาม 4 ข้อกับประชาชนเกี่ยวกับเลือกตั้งว่า

1. ท่านคิดว่าเลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่?

2. หากไม่ได้จะทำอย่างไร ?

3. การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงอนาคตประเทศ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปนั้น ถูกต้องหรือไม่?

4. ท่านคิดว่ากลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ควรมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร?

ในมุมมองของผม คำถาม 4 ข้อ สะท้อนความกังวลต่ออนาคตประเทศที่ต้องฝากไว้ในมือนักการเมือง

ในฐานะประชาชนเจ้าของประเทศ ทุกคนย่อมปรารถนาจะเห็นประเทศเดินหน้าไปได้ ไร้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และรัฐบาลสามารถทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้าได้อย่างราบรื่น

แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลแทบทุกยุค ทุกสมัย มักจะไม่สามารถทำให้ประเทศพัฒนาได้อย่างมีวิสัยทัศน์ จะมีแต่เพียง “นโยบาย” ระยะสั้นที่ระบุว่าจะทำอะไรบ้างในช่วงอยู่ในวาระ 4 ปี ของการเป็นรัฐบาล

หากพิจารณานโยบายการบริหารประเทศของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เราจะพบนโยบายเหล่านี้

นโยบายเร่งด่วน – เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

นโยบายรายกระทรวง – ตามบทบาทหน้าที่

นโยบายประชานิยมรักษา+ขยายฐานเสียง

นโยบายเมกะโปรเจกต์ถูกกล่าวหาว่าเงินก้อนใหญ่

นโยบายรายวันแก้ปัญหาฉุกเฉิน (เช่น การแก้ปัญหาน้ำท่วม)

ทั้งนี้เป็นเพราะรัฐบาลต้องพยายามสร้างผลงานรูปธรรมให้ได้มากที่สุด จึงสนใจเพียงนโยบายระยะสั้น

คำถามของท่านนายก จึงสะท้อนสิ่งหนึ่งที่อยู่ในใจผมลึก ๆ มาโดยตลอด นั่นคือ เราไม่ควรเพียงฝากประเทศไว้กับนักการเมือง แต่ควรมีส่วนช่วยนักการเมืองในการสร้างชาติ

ผมกล่าวเสมอว่า

“ ‘การสร้างชาติ’ จะต้องเกิดมาจากการกระทำร่วมกันของประชาชนทั้งประเทศ

และต้องมีเป้าหมายที่ไปไกลถึงการนำประเทศให้ก้าวไปสู่ความเป็นอารยะหรืออารยประเทศในระยะยาว

กล่าวคือ ม่ได้มุ่งแก้เพียงอาการของปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่ต้องแก้ไปถึงรากของปัญหาที่อยู่เบื้องลึก”

 

ประเทศไทยต้องการ “คนสร้างชาติ” คนที่ต้องการให้ประเทศนี้ มีอนาคตที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ คือ มี หัวใจ “รักชาติ” มี หัวใจ “รักคนในชาติ” และมี หัวใจ “รักที่จะสร้างชาติในทางที่สร้างสรรค์” เพราะประเทศเป็นของเราทุกคน ถ้าเราอยากเห็นอนาคตแบบใด เราต้องช่วยกันสร้างให้เป็นแบบนั้น

เราย่อมไม่อยากให้นักการเมืองประเภทพาประเทศตกต่ำ จะด้วยความจงใจเพราะเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตน / พวกพ้อง หรือไม่จงใจ แต่เพราะไร้ความสามารถ ตัดสินใจผิดพลาด ขาดความรู้ ขาดความรอบคอบ แทนที่จะพาประเทศเจริญก้าวหน้า กลับไปในทิศตรงข้าม คือ พาประเทศไปสู่ความตกต่ำเลวร้ายลง

เราคงไม่อยากเห็นประเทศไทย เป็นเหมือน เวเนซุเอล่า ที่ประชาชนฝากประเทศไว้ในมือผู้นำการเมือง แลกกับนโยบายประชานิยม  พอใจกับผลประโยชน์และสวัสดิการฟุ่มเฟือยที่ได้รับ ในขณะที่ภาคส่วนอื่น ๆ อ่อนแอ ทั้งภาคเอกชน  และภาคประชาชน  ไม่มีส่วนร่วมในการสร้างความเข้มแข็งของประเทศ  ถูกภาคการเมืองครอบงำหมด เมื่อเกิดวิกฤตจึงนำไปสู่ความล่มสลายทั้งระบบ

ความล้มเหลวของเวเนซุเอล่า

ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศเวเนซุเอล่าตกอยู่ในสภาพของการเป็น “รัฐล้มเหลว” (Failed State) ด้วยการบริหารประเทศแบบสังคมนิยมมา 18 ปี และยึดนโยบายประชานิยมเป็นหลัก ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของเวเนซุเอลา ในปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 181  ทว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินว่า เงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 475 หรือเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 720 ในช่วงวิกฤตปี 2559 ประชาชนจำนวนมหาศาลมารวมตัวกัน ต่อคิวรอคอยยาวเหยียด เพียงเพื่อจะซื้อกระดาษชำระ ยา และอาหารประจำวัน

การบริหารผิดพลาดของผู้นำประเทศ ที่เน้นนโยบาย “ประชานิยม” อย่างสุดโต่ง โดยไม่ได้คิดถึงผลกระทบด้านอื่น ๆ ส่งผลกระทบตามมา เช่น

1) บิดเบือนกลไกตลาด อุดหนุนราคาน้ำมันต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ทำให้ประชาชนบริโภคน้ำมันฟุ่มเฟือย ขณะที่รายได้ร้อยละ 95 ของประเทศมาจากการขายน้ำมัน และพึ่งพาเงินจากน้ำมัน เหมือนซาอุดิอาระเบีย เมื่อเกิดวิกฤตราคาน้ำมันโลกทรุดตัวลง จึงส่งผลกระทบรุนแรงต่อประชาชน

2) อุดหนุนสินค้าหลายประเภท ถูกเกินกว่าราคาที่แท้จริง จากนโยบายของ ฮูโก ชาเวซ และ มาดูโร พยายามเอาใจประชาชน เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง จึงอุดหนุนราคาสินค้าหลายประเภท ให้ถูกเกินกว่าราคาที่แท้จริง ผลที่ตามมา คือ ทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถอยู่ได้ เนื่องจากราคาสินค้าที่รัฐบาลกำหนดนั้นต่ำกว่าต้นทุน ทั้งยังส่งผลต่อเนื่องทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคขาดแคลนและตลาดมืดขยายตัว

3) การกำหนดให้มีอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นทางการ 4 อัตรา กล่าวคือ

1 อัตรา สำหรับคนเวเนซุเอล่าทั่วไป (คนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ซื้อเงินสกุลดอลลาร์ในอัตราพิเศษ) หรือ ประมาณ 172 โบลิวาร์ / ดอลลาร์

2 อัตรา สำหรับผู้ส่งออก คือ ประมาณ 6.3 โบลิวาร์ / ดอลลาร์ สำหรับนำเข้า อาหาร และ ยา และประมาณ 12 โบลิวาร์ / ดอลลาร์ สำหรับนำเข้าสินค้าอื่นๆ

1 อัตรา ในตลาดมืด ประมาณ 190 โบลิวาร์ / ดอลลาร์

การมีอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรานำไปสู่ปัญหา เก็งกำไร ค้าขายดอลลาร์แบบผิดกฎหมาย คอร์รัปชั่น มีผลทำให้เงินเฟ้อ ค่าเงินโบลิวาร์อ่อนค่า (เพราะในตลาดมืด มีการซื้อขายในอัตราสูงกว่าที่ทางการกำหนด)

การควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่มากเกินไป ทำให้บริษัทเอกชนขาดแรงจูงใจในการลงทุน และไม่เกิดการแข่งขันผลิตสินค้า ส่งผลให้มีผลผลิตน้อย ขณะที่มีความต้องการมาก ผลผลิตบางส่วนมีการซื้อขายกันในตลาดมืด ในราคาที่สูงกว่าราคาที่ควบคุมตามร้านค้าทั่วไปหลายเท่า

สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ขาดแคลนสินค้าที่วางขายตามร้านค้าทั่วไป ต้องนำเข้าสินค้าต่างๆ มากมายเข้ามาทดแทน ทำให้สูญเสียเงินตราไปต่างประเทศจำนวนมาก เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง และส่งผลกระทบต่อค่าเงินในประเทศ เกิดปรากฎการณ์ “ข้าวยาก หมากแพง “ จนรัฐบาลเวเนซุเอลา ต้องกู้เงินมาใช้จ่ายในนโยบายเหล่านี้

ถามว่า โอกาสที่ประเทศไทยจะมีอนาคตแบบเวเนซุเอล่า มีความเป็นไปได้ไหม?  ผมคิดว่า คงไม่ถึงขนาดเป็นรัฐล้มเหลวแบบเวเนซุเอล่า แต่ใช่ว่าจะประมาท และยังคงดำเนินนโยบายแบบเดิมต่อไป ทว่าควรมองประเทศเวเนซุเอล่าเป็นบทเรียนและตัวอย่างเพื่อที่จะเรียนรู้ ระมัดระวังไม่ให้เกิดขึ้นกับประเทศไทย

ประเทศและสังคมที่พัฒนาแล้วไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง หรือเกิดขึ้นมาอย่างอัตโนมัติ แต่เกิดจากการที่ทุกคน ทุกภาคส่วนต้องร่วมแรงร่วมใจและลงมือทำด้วยกัน ร่วมกันออกแบบ สร้างสรรค์ พัฒนาและขับเคลื่อนประเทศ ใครที่มีหัวใจเช่นนี้ มาร่วมอุดมการณ์กับผมและพวกเราชุมชนคนสร้างชาติที่สถาบันการสร้างชาติ (Nation-Building Institute) www.nbi.in.th ได้ครับ

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published.